พุทธานุสสติและอนิจจสัญญา

การเจริญพุทธานุสสติ ควบวิปัสสนา ในพระสูตรและอรรถกถา
จิตนึกถึงพระพุทธเจ้า แม้ท่านจะมีคุณอันใหญ่หลวงหาประมาณมิได้เพียงใด
แต่เนื่องด้วยร่างกายและขันธ์ ๕ ของท่าน ก็ต้องเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา
น้อมจิตตรงนี้มาเพื่อปลงขันธ์ ๕
จะเห็นได้ว่า การเริ่มกรรมฐานแบบนี้ เป็นปกติของพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล
คือ พิจารณาความไม่เที่ยงของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วโน้มลงมาปลงขันธ์ ๕
ไม่ว่าจะเป็นไฟ ผ้าขาว น้ำไหล ซากศพ หรือสังขารธรรมอื่นๆ
ถ้าเทียบกับมหาสติปัฏฐานสูตรในท้ายบรรพทุกบรรพ
ก็จะมีการปลงใจแบบนี้เหมือนกัน เช่น
พิจารณากาย ทั้งภายในและภายนอก
พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมของกาย
มีสติตั้งมั่น สักแต่ว่ารู้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นทุกๆอย่างในโลก

วันก่อนตั้งกระทู้เรื่องจาคานุสสติตัวเดียวก็ไปนิพพานได้ ก็เหมือนกันนะครับ
อนุสสติทั้ง ๖ นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นกรรมฐานก็จบกิจได้เหมือนกัน
จริงๆ จาคานุสสติก็เป็นกรรมฐานที่เห็นได้ชัดมาก เพราะเป็นกรรมฐาน พิจารณาการละสิ่งต่างๆในโลก
สุดท้ายคือ ละขันธ์ ๕ และสังขารธรรมทั้งปวง

๙. สันธิตเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญอนิจจสัญญา


[๓๐๖]     เราเป็นผู้มีสติ ได้อนิจจสัญญาอันสหรคตด้วยพุทธานุสติ
อยู่ที่โคนอัสสัตถพฤกษ์อันสว่างไสวไปด้วยแสงแห่งไฟและแก้วมณี
และผ้ามีสีเขียวงาม ความสิ้นอาสวะเราได้บรรลุแล้วเร็วพลัน
เพราะสัญญาที่เราได้แล้วในครั้งนั้นในกัปที่ ๓๑ แต่ภัททกัปนี้ไป.


อรรถกถาสันธิตเถรคาถา               
คาถาของท่านพระสันธิตเถระ เริ่มต้นว่า อสฺสตฺเถ หริโตภาเส.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทั้งหลาย เข้าไปสั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ
ได้เกิดเป็นนายโคบาลผู้หนึ่ง ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี.
เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว เขาเข้าไปหาพระเถระรูปหนึ่ง
ฟังธรรมอันปฎิสังยุตด้วยพระพุทธคุณในสำนักของพระเถระ มีใจเลื่อมใส ถามว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน ฟังความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว กลับได้อนิจจสัญญาว่า
แม้ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพมากอย่างนี้ยังต้องดำเนินไปสู่อำนาจแห่งความเป็นของไม่เที่ยง
โอ! สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนหนอ.

พระเถระให้เขาเกิดอุตสาหะในการบูชาโพธิพฤกษ์. เขาไปสู่ที่ใกล้โพธิพฤกษ์ตามกาลอันเหมาะสม เจริญวิปัสสนา
ระลึกถึงพระพุทธคุณ กราบไหว้ต้นโพธิ์.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง ในแคว้นโกศล ในพุทธุปบาทกาลนี้
ได้นามว่าสันธิตะ เจริญวัยแล้ว ฟังธรรมกถาอันปฏิสังยุตด้วยอนิจจตา
เกิดความสลดใจบวชแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนา ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก เพราะญาณถึงความแก่กล้าแล้ว.

ท่านเมื่อระลึกถึงบุพเพนิวาสญาณของตน ระลึกถึงการกราบไหว้โพธิพฤกษ์ และการได้เฉพาะซึ่งอนิจจสัญญา
มีพุทธานุสติเป็นอารมณ์.
เมื่อจะประกาศการบรรลุคุณพิเศษของตนด้วยการเข้าไปอาศัยเหตุ ๒ ประการนั้น ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า

เราเป็นผู้มีสติ ได้อนิจสัญญาอันสหรคต ด้วยพุทธานุสติหนึ่ง
อยู่ที่โคนอัสสัตถพฤกษ์อันสว่างไสวไปด้วยแสงแห่งไฟ แก้วมณีและผ้ามีสีเขียวงาม
ความสิ้นอาสวะเราได้บรรลุแล้วเร็วพลัน เพราะสัญญาที่เราได้แล้วในครั้งนั้น ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ ดังนี้.

บางส่วนจาก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=6036&Z=6053
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=306

ปล. นึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ให้กราบไหว้บูชาพระทุกวัน... เป็นความฉลาดของท่านจริงๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่