JJNY : เทียบระบบเลือกตั้ง 3 ยุค สูตรใหม่ "มีชัย" ได้คะแนนแฟร์ทุกพรรค !!

กระทู้คำถาม
เพียงแค่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ของมีชัย ฤชุพันธุ์ โยนสูตรใหม่ คือสูตรเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" เปิดโอกาสให้นำคะแนนผู้ที่แพ้เลือกตั้งมาคำนวณเป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เพียงเท่านี้ กรธ.ก็กลายเป็นตำบลกระสุนตก ถูกวิจารณ์จากนักการเมืองทุกขั้วทุกพรรค

ชัดเจนว่า ระบบเลือกตั้งกลายเป็นเผือกร้อนของผู้ร่างรัฐธรรมนูญทุกยุค ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถูกคลอดออกมา พร้อมกับระบบเลือกตั้งแบบพวงใหญ่เรียงเบอร์ ถูกครหาว่าต้องการทำลายความเข้มแข็งของพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่สืบทอดจากพรรคไทยรักไทย



ทว่าการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนก็เอาชนะ “คู่แข่งขันทางการเมือง” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ชนิดถล่มทลาย ด้วยจำนวน ส.ส. 233 ที่นั่ง ต่อ 164 ที่นั่ง ระบบเลือกตั้งย้อนกลับมาเป็นเขตเดียว เบอร์เดียวอีกครั้ง ก่อนการเลือกตั้งในปี 2554

หลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ถึงแม้ว่าจะใช้ระบบเลือกตั้งสัดส่วนคล้ายกับเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งให้ “ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร” ก้าวขึ้นเบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้าได้ หลังใช้เวลาเพียง 42 วัน นำพรรคเพื่อไทยที่แปลงร่างจากพรรคพลังประชาชน กำชัยในสนามเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 265 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 205 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 60 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส.ทั้งหมด 159 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 114 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 45 ที่นั่ง จาก จำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 375 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน

เป็นจุดเริ่มต้น-จุดจบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อพรรคเพื่อไทยผลักดัน “วาระทางการเมือง” ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย-เหมาเข่ง จนถูกประทับตราว่าเผด็จการรัฐสภา

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คำครหาเรื่องเผด็จการรัฐสภา ก็ถูกนำมาตั้งเป็นโจทย์สำหรับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไปคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดวิกฤตการเมืองได้อีก

แล้วหวยมาลงล็อกด้วยระบบการเลือกตั้งสูตร “เยอรมันโมเดล” หรือ ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed-Member Proportional : MMP) เมื่อนำจำนวน ส.ส.จากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ในระบบการเลือกตั้ง “แบบสัดส่วน” มาเป็นตุ๊กตาคิดคำนวณ-เปรียบเทียบว่าใครได้-ใครเสีย จากระบบการเลือกตั้ง "แบบสัดส่วนผสม" ฉบับนายบวรศักดิ์

ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้ ส.ส.จำนวนลดลงเหลือ 242 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 205 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 37 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์กลับมีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 159 ที่นั่ง เป็น 176 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 114 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 62 ที่นั่ง


โดยเหตุผลของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนจากเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาใช้ระบบสัดส่วนผสมเพราะว่า ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่สะท้อนความเป็นจริงของคะแนน โดยเฉพาะคะแนนพรรคเพื่อไทยที่สูงกว่าคะแนนจริงที่ประชาชนเลือก

อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งฉบับบวรศักดิ์ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน หลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญไปเสียก่อน

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์ถูกคว่ำและมีอันตกไป ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งกำลัง “โยนหินถามทาง” ผู้เล่นในสนามการเมืองอยู่ในขณะนี้จึงคิดสูตร "เลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม"

ตั้งกรอบแนวคิดไว้ 5 ข้อ ได้แก่ 1.ส.ส.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 2.ระบบการเลือกตั้งไม่ควรซับซ้อน ประชาชนเข้าใจง่าย 3.คะแนนเลือกตั้งที่ประชาชนลงให้ทุกคะแนนมีความหมาย 4.ส่งเสริมให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 5.เข้ากับบริบทหรือวิถีชีวิตของไทยโดยสอดคล้องกับหลักสากล

"ประพันธ์ นัยโกวิท" ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างนิติบัญญัติ และในฐานะที่เคยเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ด้านบริหารงานเลือกตั้งอธิบายความต่างระหว่างสูตรสัดส่วนผสม กับ สูตรจัดสรรปันส่วนว่า สูตรสัดส่วนผสมของอาจารย์บวรศักดิ์มีส่วนดีตรงที่คนลงคะแนนเท่าไหร่คิดจำนวนเปอร์เซ็นต์ ส.ส.เท่านั้น พรรคหนึ่งได้คะแนน 40 เปอร์เซ็นต์ คำนวณ ส.ส.ได้ 200 คน แต่ถ้าพรรคนั้นส่ง ส.ส.เขต และชนะไปแล้ว 100 คน ก็เอาคะแนน ส.ส.เขต 100 คน มาลบกับ ส.ส.สัดส่วนที่พรรคจะได้ ดังนั้น พรรคจะได้ ส.ส.สัดส่วนอีก 100 คน

ดังนั้น จำนวน ส.ส.มันก็จะสะท้อนตรงกับจำนวนคนที่มาลงคะแนน ซึ่งความจริงเป็นระบบที่เป็นธรรม เพราะคิดตามคะแนนประชาชนที่มาลงคะแนนจริง ๆ แต่จุดอ่อนคือ จำนวน ส.ส.มันจะผันแปร ไม่ได้กำหนดตายตัว ในร่างรัฐธรรมนูญของอาจารย์บวรศักดิ์จึงกำหนดไว้ว่า ให้มี ส.ส. 450 คน แต่ไม่เกิน 470 คน เขาเผื่อไว้อีก 20 คน กรณีได้คะแนน hang over อธิบายเรื่องจำนวน ส.ส.กับประชาชนไม่ได้"

ส่วนระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ กรธ.ออกแบบนั้น ได้มาวางหลักคิดว่า การให้คะแนประชาชนทุกคนมีความหมาย พยายามให้คะแนนที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิสะท้อนความต้องการของประชาชน ไม่ใช่คนที่หนึ่งชนะคะแนนเลือกตั้ง แล้วคะแนนของคนที่ได้ลำดับสองไม่มีความหมาย”

"ซึ่งระบบที่ กรธ.เสนอ ทุกคะแนนมีความหมายเพราะเลือกคนที่หนึ่งได้เป็น ส.ส.เขตไปแล้ว ก็คุณได้แล้ว คะแนนคนที่สอง ที่สามซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้ง ก็เอาคะแนนไปรวมกับคะแนนพรรค เพื่อมาหารสัดส่วนของคนที่ลงคะแนนแล้วมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้น ๆ"

"สมมติว่าในรัฐธรรมนูญ 2550 มี ส.ส.เขต 375 เขต ใครได้ ส.ส.ใน 375 เขตก็ได้ ส.ส.ของคุณไป ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ก็จะเอาคะแนนของคนที่ไม่ได้รับเลือกไปรวมกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน แล้วหารออกมาเป็นจำนวน ส.ส.เพิ่มเข้าไป ไม่ทิ้งคะแนนของประชาชน คนบอกว่ามาเลือก นาย ก.แม้นาย ก.ไม่ได้รับเลือก แต่คะแนนก็เอาไปรวมกับคะแนนพรรคได้ อย่างน้อยพรรคของนาย ก.ก็ได้คะแนน"

ประพันธ์กล่าวว่า "เราไม่ได้สนใจว่าพรรคไหนจะได้ ส.ส.มาก ส.ส.น้อย เรามองว่าหลักคิดตรงนี้ทุกคนว่าใช้ได้ไหม มันเป็นธรรม ไหม เสมอภาคไหม มันไม่มีพรรคไหนได้เปรียบเลย ทุกคนก็มาระบบนี้หมด เพราะมันไม่มีพรรคไหนที่ส่งลง ส.ส.เขตแล้วชนะหมดทุกเขต ถ้าเขตไหนตัวเองไม่ชนะก็เอาคะแนนตัวเองไปรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อทุกคนเหมือนกันหมด"

ถาม "ประพันธ์" ว่า ตอนปีเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 คะแนนเลือกตั้งไม่สะท้อนความเป็นจริง ส่วนสูตรเลือกตั้งของอาจารย์บวรศักดิ์ทำให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนลดลง แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเพิ่มขึ้น แล้วสูตรของมีชัยพรรคไหนจะเพิ่มกันทั้งคู่ไหม หรือพรรคไหนคะแนนจะลด

ประพันธ์ตอบว่า "เราไม่ได้ไปสนใจว่าพรรคไหนจะได้มากได้น้อย เราดูตัวระบบการเลือกตั้งว่าแบบนี้มันโอเคหรือไม่ คนที่ได้คะแนนลำดับที่หนึ่งคุณก็ได้ไปเลย แฟร์ไหม ส่วนคนที่ได้คะแนนลำดับสอง สาม จะเอาของเขาไปทิ้งที่ไหน คะแนนประชาชนเหมือนกัน เพียงแต่ของเขาไม่ได้รับเลือกตั้ง ก็เอาคะแนนตรงนี้ไปรวมกับบัญชีพรรค"

แปลว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าทุกพรรคจะได้คะแนนบัญชีรายชื่อเพิ่มกันหมดใช่หรือไม่ประพันธ์กล่าวว่าก็แล้วแต่ว่าได้ส.ส.เขตเท่าไหร่แล้วคะแนนที่ตัวเองไม่ได้มาคำนวณแล้วได้ ส.ส.สัดส่วนเท่าไหร่ มันเสมอภาคทุกพรรค เพียงแต่ระบบเลือกตั้งที่เสนอ มันไม่ได้ปิดตาย ตอนนี้ก็รับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองอยู่

เมื่อถามว่า พรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมาก ย่อมไม่พอใจที่จะให้พรรคอันดับสอง อันดับสาม มาแชร์ส่วนแบ่งที่นั่งในสภา จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ประพันธ์กล่าวว่า เราไม่ได้มองพรรคการเมืองจะได้มากขึ้นหรือน้อยลง เรามองในแง่เหตุผล เพราะระบบการเลือกตั้งทุกระบบไม่มีระบบใดที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์และมีข้อด้อยร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกระบบจะมีดีมีด้อยทั้งคู่ ถ้าเราดูว่าระบบไหนที่มีเหตุมีผลและอธิบายได้เราก็จะลองพิจารณาดู แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนตัดสินในชั้นสุดท้าย"

ประพันธ์ปิดท้ายถึงเสียงวิจารณ์ระบบเลือกตั้งใหม่ในขณะนี้ว่า "ถ้าเห็นว่าหลักคิดทุกคนมีความหมายไม่ถูกก็ไม่รู้ว่าอย่างไรประชาชนเลือกคุณมาแบบนี้แค่นี้แล้วมีเหตุผลอะไรส.ส.จะได้มากกว่าจำนวนที่ประชาชนมาเลือก ก็ประชาชนมาเลือกพรรคคุณ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรจะได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ทำไมพรรคคุณจะต้องได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน ส.ส."
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่