จับเข่าคุย"ฐากร ตัณฑสิทธิ์"กับบทบาท"เลขาธิการ กสทช."

กระทู้สนทนา
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1442218448

updated: 15 ก.ย. 2558 เวลา 21:15:17 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


งวดเข้ามาทุกทีกับการจัดประมูล 4G ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดขึ้นปลายปีนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" พาคุยกับ "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช. แม่งานหลักคนสำคัญในการเตรียมการ


- ยืนยันเดินหน้าประมูล

เดินหน้าต่อแน่นอน ตามแผนว่า 11 พ.ย.จะประมูลคลื่น 1800 MHz 15 ธ.ค. ประมูลคลื่น 900 MHz ไม่เกินนี้ คือถ้าไม่มีคำสั่งศาลให้ชะลอการประมูล หรือคำสั่ง คสช.ที่ถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์มาระงับ กสทช.ต้องเดินหน้าต่อ ไม่อย่างนั้นจะทำให้รัฐเสียหาย อย่าง 1800 MHz ล่าช้าไปกว่า 1 ปี 7 เดือนแล้ว

แล้วถ้าระงับประมูล ก็ต้องเข้าสู่มาตรการเยียวยาไม่ให้ซิมดับ ซึ่งลูกค้าก็เหลือน้อย โอเปอเรเตอร์ก็จะมาเรียกร้องเงินจากเรา เพราะต้องให้บริการแล้วขาดทุน ซึ่งเราคงไม่ยอม


- ยังเสี่ยงที่จะไม่ได้ประมูล

ปรึกษากับหลายฝ่ายแล้วเชื่อว่าความเสี่ยงหมดไปแล้ว ส่วนเรื่องจะขอมาตรา 44 จัดสรรคลื่นให้รัฐวิสาหกิจ ก็ไม่เกี่ยวกับคลื่นที่จะประมูลปลายปีนี้ แต่เป็นส่วนของคลื่นใต้สัมปทานดีแทค คือส่วน 1800 MHz จำนวน 20 MHz กับคลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz ไม่ใช่ในส่วนของทีโอที ก็นัดหารือกับท่านรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) และรัฐมนตรีไอซีทีแล้ว

และที่ต้องทำความเข้าใจคือ กสทช.ให้ไป 2 ใบอนุญาต ซึ่งในส่วนของทีโอทีกับแคท คือใบอนุญาตประกอบกิจการ จะสิ้นสุดปี 2568 กับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น ซึ่งสิ้นสุดพร้อมสัมปทาน ถ้าใบอนุญาตประกอบกิจการยังไม่หมดแต่ไม่มีคลื่นก็ต้องไปหาคลื่นมาเอง ถ้าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นสิ้นสุดแล้ว คลื่นก็ต้องกลับมาเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ให้ กสทช.นำไปจัดสรรใหม่ ฉะนั้นอย่าสับสน


- การรีวิวนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีจะกระทบ กสทช.

ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ หลัก ๆ ที่ทาง ครม.เข้ามาแก้ไข คือรวม 2 บอร์ด เป็นหนึ่งเดียว แต่ยังให้ กสทช.ชุดเดิมทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ ตรงนี้ได้ข้อยุติแล้ว แต่ที่ตีกลับให้กฤษฎีกา คือ เงินกองทุนดิจิทัลอีโคโนมีของรัฐบาล ที่จะต้องหักเงิน 20% ที่ได้จากการประมูลทั้งฝั่งบรอดแคสต์ และโทรคมนาคม สมทบเข้ากองทุนไปเรื่อย ๆ ซึ่งทาง สตง. และกระทรวงคลังติงมาว่า กองทุนก็จะโตไปเรื่อย ๆ ควรจะมีลิมิต

โดยส่วนตัว ผมว่าโอเคนะ ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี หากยังแยกเป็น 2 บอร์ดก็จะมีปัญหา ยิ่งมี 4G จะมีบริการที่คาบเกี่ยวทั้งบรอดแคสต์กับโทรคมนาคม แล้วจะออกใบอนุญาตอย่างไร ก็ตีกันอีกว่าของฝั่งโน้นฝั่งนี้ รวมกันไปเลยก็จบ


- งานอื่นนอกจากการจัดประมูล

จะให้ความสำคัญกับการดูแลผู้บริโภคมากขึ้น อย่างในเงื่อนไขประมูล 4G หนนี้กสทช.บังคับให้กำหนดค่าบริการให้ถูกกว่าบริการ 3G ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 84 สตางค์/นาที แล้วยังต้องมีแพ็กเกจค่าบริการสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้พิการ ที่ราคาถูกลงมาอีก ทางโอเปอเรเตอร์จะต้องดีไซน์แพ็กเกจ และต้องมีแผน CSR ดูแลสังคม อย่างการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ยื่นในวันยื่นซองประมูลด้วย รวมถึงการกำกับคุณภาพบริการให้ดีด้วย ซึ่งจากที่เดินทางไปในหลายประเทศยืนยันว่า คุณภาพบริการในไทยดีกว่าหลาย ๆ ประเทศ ในยุโรปเองบริการที่ดีก็จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น

ขณะเดียวกัน กสทช.เชื่อว่า ยิ่งเปิดให้มีการแข่งขัน กลไกตลาดจะทำให้ราคาถูกลงและคุณภาพดีขึ้น เราจึงจะปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน โดยจะไม่เข้าไปกำหนดราคาว่าจะต้องเป็นเท่านั้นเท่านี้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ที่สำคัญคือพอมี 4G แล้วค่าบริการ 3G ก็จะต้องลดลงโดยอัตโนมัติ ไม่อย่างนั้นคนก็จะไม่ใช้

และยังต้องเข้มงวดเรื่องลงทะเบียนซิมเพื่อดูแลความมั่นคงปลอดภัยของสังคมตอนนี้ซิมเปิดบริการใหม่ทั้งหมดต้องมีการลงทะเบียนยืนยันตัวบุคคลผู้ใช้งานก่อนจะรณรงค์ให้ซิมเก่าในระบบที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนมาดำเนินการก่อนที่ซิมจะถูกยกเลิกบริการทั้งหมด30 ก.ย.นี้


- มีแค่ 3 ค่ายมือถือรายใหญ่ กลไกตลาดจะทำงานเต็มที่

คิดว่าเต็มที่ คือเราก็อยากได้รายใหม่ แต่เมื่อยังไงก็ไม่เกิดโอเปอเรเตอร์รายใหม่ ก็ต้องกำกับในแนวทางอื่นแทน ก็คือสร้างกลไกไม่ให้มีการฮั้วกัน


- ตลาดโทรคมนาคมจะเปลี่ยนไปหลังประมูล

เชื่อว่าในภาพใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลง ยิ่งหลังจากเปิดให้บริการราว ก.พ. จะมีบริการใหม่ ๆ เข้ามาในตลาด ที่สำคัญคือจะมีผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบใบอนุญาตมากขึ้น ผู้ที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานก็จะลดลง

ฉะนั้นโครงสร้างด้านโทรคมนาคมของไทยจะยืนตรงมากขึ้น จากเดิมที่ยังบิด ๆ เบี้ยว ๆ อยู่ ขณะที่ทั่วโลกเขาตรงกันหมดแล้ว อยู่ในระบบใบอนุญาตกันหมด เมื่ออยู่ในระบบใบอนุญาต สัมปทานหมดไป การแข่งขันในตลาดก็จะเพิ่มมากขึ้น

หน้าที่ของ กสทช.คือ เปิดเสรีโทรคมนาคม โดยมองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ต้องได้ใช้บริการที่ดี และราคาที่ถูก และ 2 คือ ผลประโยชน์ของรัฐ ดังนั้นในส่วนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ กสทช.จึงไม่ได้ละเลย ก็ต้องช่วยกันดูแลในส่วนของผลประโยชน์ของรัฐ


- ปีหน้าจะจัดประมูลคลื่นอื่น

น่าจะเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จาก บมจ.อสมท มาจัดประมูลได้จำนวน 60 MHzเคยหารือกับ อสมทแล้วเขายินดีจะคืน ถ้าจะมีมาตรการเยียวยาให้เขา ซึ่งคงต้องรอให้ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ บังคับใช้ก่อน เพราะตอนนี้ กสทช.มีอำนาจเรียกคืนคลื่นได้อย่างเดียวแล้ว จึงเป็นปัญหาเพราะทุกรายก็ไปยื่นฟ้องศาลปกครอง ทำให้คลื่นถูกดึงไว้ 8- 9 ปี ใช้อะไรไม่ได้ ฉะนั้นเยียวยาแลกกับได้คลื่นมาจัดสรรใหม่ใช้ประโยชน์ได้น่าจะดีกว่า


- ทีโอทีก็ขอเยียวยาโดยคืนคลื่น 2300 MHz แลกกับ 900 MHz

ต้องตีความว่า การเยียวยาคืออะไร แต่ผมเข้าใจว่าคงไม่ใช่การแลกคลื่น เป็นการให้เงินชดเชยในการขอคลื่นคืนก่อน อย่างคลื่น 2300 MHz ของทีโอที มีมากกว่า 60 MHz ถ้าเราขอคืนมาสัก 40 MHz เพื่อจัดประมูล เมื่อได้เงินมา ก็จะให้เงินกับทีโอทีไปตามสัดส่วน เช่น ประมูลได้มาหมื่นล้าน หารใบอนุญาต 15 ปี แล้วคูณด้วยสิทธิในคลื่นที่ทีโอทียังเหลืออยู่ ทางทีโอทีก็ได้เงินส่วนนี้ไป ตรงนี้เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา ดีกว่ายึดคืนแล้วมาฟ้องร้องกัน


- สรุปจะลาออกจากตำแหน่ง หรือจะอยู่จนครบวาระ

ยัง ๆ ต้องจัดประมูลให้เสร็จก่อนซิ แล้วค่อยว่ากันอีกที (หัวเราะ)


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่