บอสใหญ่ทรูยืนยัน นอนยัน หัวเด็ด ดีนขาด "4G ที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ 4G แท้ๆ เป็น 4G หลอกๆ"

กระทู้สนทนา




3 ค่ายมือถือประสานเสียงพร้อมร่วมประมูล

กสทช.เผยเตรียมส่งให้ไอทียูทบทวนราคาเริ่มต้นประมูล 4 จี ขณะที่ 3 ค่ายมือถือชื่นใจ รัฐบาลคืนความสุข ดีแทคชัดเจนเอาแค่คลื่น 1800 และ 900 ส่วนทรู อ้าแขนรับนำคลื่น 2600 ออกประมูล ย้ำให้บริการ 4 จี คลื่นยิ่งเยอะยิ่งดี ฟากเอไอเอส สุดพร้อม เทหน้าตักประมูล ลุ้นเปิดบริการปี 59

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กสทช.ยังรอมติการเดินหน้าเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมในระบบ 4 จี อย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หลังจากนั้นจึงจะนำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมบอร์ด กสทช. และส่งเรื่องให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ศึกษาทบทวนมูลค่าคลื่นความถี่ ราคาเริ่มต้นการประมูลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“กสทช.ยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าราคาเริ่มต้นประมูลจะเป็นเท่าใด เพราะต้องรอผลการศึกษาจากไอทียูก่อน และขึ้นอยู่กับคลื่นจะประมูลคลื่น 900 คลื่น 1800 และคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) แต่มั่นใจว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือน ส.ค.58 นี้อย่างแน่นอน”

สำหรับผลการศึกษาของไอทียูที่ผ่านมานั้น ได้กำหนดราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 12.5 MHz ราคาเริ่มต้นใบละ 11,600 ล้านบาท รวม 23,200 ล้านบาท คลื่น 900 MHz แบ่งเป็น 2 ใบ ใบแรก 10 MHz ราคาเริ่มต้น 11,260 ล้านบาท ส่วนใบที่ 2 จำนวน 7.5 MHz ราคา 8,455 ล้านบาท รวม 19,705 ล้านบาท หากประมูลภายในปีนี้ทั้งคลื่น 900 และ 1800 จะทำให้รัฐมีรายได้จากการประมูลมากกว่า 42,905 ล้านบาท ส่วนคลื่น 2600 นั้น กสทช.ยังไม่ได้กำหนดราคา

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า หากการเปิดประมูล 4 จี ดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอล คือภายในเดือน ส.ค. และ กสทช.สามารถแจกใบอนุญาตได้ 4 จีภายในเดือน ก.ย. - ต.ค.ที่จะถึง เอไอเอสจะสามารถเปิดให้บริการ 4 จีแก่ลูกค้าได้ภายในต้นปีหน้าแน่นอน ส่วนกรณีที่จะมีการดึงคลื่นอื่นๆ เช่นคลื่น 2600 MHz ออกมาประมูล นอกเหนือจากคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งสัมปทานสิ้นสุดแล้วและคลื่น 900 MHz ซึ่งสัมปทานจะสิ้นสุดเดือน ก.ย.2558 ออกมาประมูลนั้น ในหลักการถือว่าดี แต่การเลือกใช้คลื่นจะมีผลต่อเครื่องมือถือโดยตรง เพราะมือถือส่วนใหญ่จะรองรับคลื่นที่ได้รับความนิยมใช้ทั่วโลก โดยปัจจุบันคลื่น 1800 เป็นคลื่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการให้บริการ 4 จี ขณะที่คลื่น 2600 MHz เป็นคลื่นมาตรฐาน 4 จีแรกๆที่เริ่มใช้กันในยุโรป และคลื่น 900 MHz เป็นคลื่นที่มาที่หลัง แต่เริ่มถูกใช้แพร่หลายมากขึ้น

ส่วนวงเงินลงทุนสำหรับ 4 จีนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณา เพราะต้องรอการเคาะราคาที่ชัดเจนก่อนนำเสนอแผนทั้งหมดสู่การพิจารณาของบอร์ดเอไอเอสต่อไป โดยเอไอเอสถือว่ามีความพร้อมในทุกเรื่อง และต้องการให้เกิดการประมูล 4 จีโดยเร็ว เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าระบุชัดเจนว่า พร้อมแล้วที่จะก้าวสู่บริการที่เร็วขึ้น

นายซิคเว่ เบรกเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การประมูลจะเริ่มขึ้น เพราะจากข้อมูลที่มีเห็นว่าลูกค้าคนไทยพร้อมแล้วที่จะก้าวสู่การใช้บริการที่เร็วกว่าของ 4 จี และดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการ ก็พร้อมที่จะลงทุนเต็มที่เพื่อติดตั้งโครงข่าย 4 จีหลังการประมูลเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของคลื่นความถี่นั้น เห็นว่าคลื่น 1800 MHz เป็นคลื่นที่ดีที่สุดสำหรับการให้บริการ 4 จี เนื่องจากคลื่น 2600 MHz มีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือถือที่รองรับ ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะ

“ดีแทคเห็นว่าคลื่น 1800 MHz เป็นคลื่นที่มีความสำคัญที่สุดต่อการให้บริการ 4 จีในปัจจุบัน นั่นเป็นเหตุให้ดีแทค ซึ่งถือครองคลื่น 1800 MHz อยู่จำนวนหนึ่ง แสดงความพร้อมที่จะคืนคลื่น เพื่อให้ กสทช.นำออกประมูล อันจะเป็นผลดีต่อประโยชน์และการบริการประชาชนชาวไทย โดยในส่วนของดีแทคนั้น ชัดเจนว่า สนใจประมูลในคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz เป็นหลัก”

ส่วนนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรูมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประมูลและนำคลื่นกลับมาให้บริการ 2 จี และ 4 จีให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม เห็นว่าคลื่น 1800 MHz ที่จะนำออกประมูลรวม 25 MHz และคลื่น 900 MHz ที่กำลังจะหมดสัมปทานอีก 17.5 MHz นั้น เชื่อว่าจะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคลื่น 900 MHz ซึ่งเข้าใจว่าจะถูกนำไปใช้บริการลูกค้า 2 จีที่ยังเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก จึงเห็นว่าควรนำคลื่นมาตรฐาน 4 จี คือ 2600 MHz ออกมาใช้ด้วย เพราะการให้บริการ 4 จีได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนประเทศอื่นๆ ต้องใช้คลื่นขนาดไม่ต่ำกว่า 20 MHz ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่าเราทำ 4 จีกันหลอกๆ ไม่มีผลจริงกับการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล เพราะคลื่นน้อยไป.

แหล่งข่าว : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 20 มีนาคม 2558
http://www.thairath.co.th/content/487963

ภาพประกอบข่าว : @ แมกนีโต ‏@Saran2530

https://twitter.com/Saran2530/status/578739350000656384
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่