กางโรดแมป ดึง 9 แสนล. ฟื้นเศรษฐกิจ


สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยยังฟื้นตัวล่าช้าเนื่องจากการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญชะลอตัวอย่างหนัก ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐก็ยังไม่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก    มิหนำซ้ำรายได้ของรัฐหลายตัวก็จัดเก็บไม่ได้ตามเป้า
          
แต่จากนี้อีกไม่นานจะมีเม็ดเงินมหาศาลเข้ามาช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ นั่นคือการประมูลคลื่นความถี่
          
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยถึงแผนประมูลคลื่นความถี่ หรือโรดแมปของ กสทช. ปี 2558-2559 ที่คาดว่าจะช่วยรัฐบาลปลุกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
          
"ฐากร" แจกแจงว่า กสทช.เตรียมแผนประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมในช่วงระยะ 2 ปีข้างหน้านี้ คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 9 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2.11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) รวม 3 ปี จากการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมด 4 ย่านภายใต้โรดแมป จะช่วยทำให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียนสร้างมูลค่าเพิ่มในทางอ้อมอย่างมาก
          
ทั้งนี้ "กสทช." วางโรดแมปว่า ปลายปี 2558 จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (Megahertz: MHz) จำนวน 25 MHz แบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 12.5 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวน 20 MHz แบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz รวม 4 ใบอนุญาต
          
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักงาน "กสทช." ได้แก่ ดร.ชุติพงศ์ กี่สุขพันธ์ และ ดร.ประถมพงศ์ ศรีนวล ร่วมกันวิเคราะห์ประเมินผลของการประมูลเบื้องต้น หลังมีการเปิดบริการเทคโนโลยี 4G อย่างเต็มรูปแบบแล้วว่า ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 648,668 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.49% ของจีดีพี รวม 3 ปี (ปี 2559-2561)
          
แบ่งเป็นมูลค่าเพิ่มทางตรงจากรายได้การประมูล 4G ราว 65,258 ล้านบาท การลงทุนโครงข่าย อุปกรณ์ และระบบที่เกี่ยวข้อง 150,000 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มทางอ้อมจากการใช้งานบริการต่างๆ บนเทคโนโลยี 4G อีกราว 433,410 ล้านบาท
          
"ฐากร" บอกว่า นอกจากนี้ยังมีคลื่นย่านความถี่ 2600 MHz ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ขณะนี้ กสทช.เจรจาตกลงกันในเบื้องต้นแล้ว ทั้ง 2 หน่วยงานยินดีคืนความถี่ในย่านดังกล่าวให้ กสทช. จำนวน 40 MHz เพื่อให้ กสทช.นำไปเปิดประมูลโดยแบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 20 MHz
          
รวมถึงคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งอยู่ในความดูแลของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 40 MHz ที่มั่นใจว่าทีโอทียินดีจะคืนให้ กสทช.เช่นกัน เพื่อนำคลื่นไปเปิดประมูลโดยจะแบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 20 MHz
          
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรมประชาสัมพันธ์- อสมท-ทีโอทียินดีคืนคลื่นให้ กสทช. แต่ต้องมีมาตรการเยียวยาให้กับทั้ง 3 หน่วยงาน โดย กสทช.ยกร่างกฎหมายใหม่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกมาบังคับใช้
          
หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะทำให้ "กสทช." มีอำนาจในการเยียวยาทั้ง 3 หน่วยงานได้
          
"ฐากร" บอกว่า สำหรับโรดแมปคลื่นความถี่ 2600 MHz และ 2300 MHz ที่จะนำมาเปิดประมูลได้ทั้งหมด 4 ใบอนุญาต หากเป็นไปในทิศทางข้างต้นนั้น คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมปี 2559
          
ด้าน ดร.ชุติพงศ์ กี่สุขพันธ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักงาน "กสทช." วิเคราะห์ประเมินผลถึงการจัดประมูลคลื่นที่ได้รับคืนจากกรมประชาสัมพันธ์-อสมท-ทีโอทีว่า จะส่งผลบวกต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2559-2561 เป็นเม็ดเงิน 272,284.64 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.62% ของจีดีพี
          
แบ่งเป็นมูลค่าเพิ่มจากการประมูล 9,750.14 ล้านบาท การลงทุนโครงข่าย อุปกรณ์ และระบบที่เกี่ยวข้อง 67,500 ล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางอ้อมจากการใช้งานบริการต่างๆ 195,034.50 ล้านบาท
          
"หากรวมผลประเมินทางเศรษฐกิจในการประมูลคลื่น 900 MHz, 1800 MHz, 2300 MHz และ 2600 MHz จำนวน 8 ใบอนุญาต จะเกิดรายได้ให้กับประเทศถึง 920,952.64 ล้านบาท"ดร.ชุติพงศ์ระบุ
          
สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 25 MHz และ 900 MHz จำนวน 20 MHz ซึ่งหมดสัญญาสัมปทานไปแล้ว "ฐากร" บอกว่าคลื่นความถี่ดังกล่าว "กสทช." จะจัดสรรคลื่นโดยวิธีการประมูลภายในพฤศจิกายน-ธันวาคม ปี 2558 นี้ สามารถนำไปให้บริการ 4G ได้
          
หากวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบแล้ว คลื่น 1800 MHz มีคุณสมบัติในการรับ-ส่งข้อมูลดีกว่า ขณะที่คลื่น 900 MHz มีสัญญาณครอบคลุมพื้นที่มากกว่า
          
ดังนั้นการจัดสรรคลื่นทั้งสองย่านความถี่ดังกล่าวในเวลาเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะคลื่นความถี่ทั้งสองย่านนี้ช่วยเสริมกัน เป็นส่วนเพิ่มของประสิทธิภาพการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ที่ "กสทช." จัดสรรให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 3G เมื่อปี 2555 ทำให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายไร้สายหรือโมบายบรอดแบนด์ด้วยเทคโนโลยี 4G มีความเสถียร
          
"ฐากร" อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับคลื่นย่านความถี่ 2600 MHz อาจนำคลื่นไปเพิ่มแบนด์วิดธ์ (Bandwidth) ของบริการ 4G เพื่อเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพ รองรับความต้องการการใช้งานด้านข้อมูล โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในเมืองหรือพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น เพราะคลื่นย่านนี้มีคุณสมบัติในการทะลุทะลวงสูงและรองรับการรับ-ส่งข้อมูลได้มากกว่าคลื่นความถี่ย่านที่ต่ำกว่า 1000 MHz
          
ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz สามารถให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงในลักษณะไวไฟ (Wi-Fi) หรือนำไปใช้เชื่อมโยงสัญญาณในโครงข่ายในลักษณะจุดต่อจุด (Point-to-Point) เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติสากล ประกอบกับลักษณะคลื่นที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลจำนวนมากได้ คลื่นสัญญาณทะลุทะลวงสูง และสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ในช่องสัญญาณเดียวกัน
          
"เลขาฯกสทช." บอกว่าผลการจัดสรรคลื่นความถี่ของ "กสทช." ตามโรดแมปนี้จะช่วยส่ง-รับสัญญาณคลื่นโทรศัพท์มีความเสถียรขึ้น ชัดเจนขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรับ-ส่งข้อมูลให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เท่ากับเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการบริการภาครัฐและประชาชน เช่น
          
บริการการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) ในด้านการให้บริการเฉพาะทางผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้จากพื้นที่ห่างไกล หรือผ่านทางบริการการศึกษาออนไลน์ (E-Learning) เปิดโอกาสการเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตในลักษณะ เรียลไทม์ ผู้เรียนและครูติดต่อเข้าถึงได้ตลอดเวลาและในทันที
          
บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Com merce)
บริการภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ (e-Governemnt)
บริการอินเตอร์เน็ตทีวี ทำให้ประชาชนดูทีวีผ่านอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่ภาพและเสียงคมชัด
          
บริการต่างๆ ดังกล่าวที่เอ่ยมานี้ แม้ปัจจุบันมีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากคลื่นความถี่ที่มีอยู่โดยเฉพาะคลื่น 3G มีผู้ใช้บริการแน่นขนัด ทำให้เกิดปัญหาการรับ-ส่งข้อมูลช้าอืด การติดต่อสื่อสารสะดุด เปรียบเสมือนถนนที่มีการจราจรคับคั่งรถติดขัด ต้องขยายเลนเป็นซุปเปอร์ไฮเวย์
          
"ดังนั้นการจัดสรรตามแผนของ กสทช.ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากจะมีเม็ดเงินจำนวนมากเข้ารัฐจากการประมูลแล้ว ยังทำให้การใช้งานของคลื่นความถี่ในด้านบริการออนไลน์ต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ไม่จำกัดสถานที่และเวลา
          
ที่สำคัญคือช่วยนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลแบบก้าวกระโดด ทำให้เกิดผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจอย่างมาก และก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจแบบทวีคูณ (Multiplier Effect)" ฐากรสรุปขณะที่ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ "เอไอเอส" ยืนยันว่าเอไอเอสมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะประมูล 4จี รวมทั้งร่างแผนงานธุรกิจในการให้บริการ 4จี แก่ลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ส่วนจำนวนเงินที่จะใช้ในการประมูลนั้น ต้องรอ กสทช.กำหนดราคาตั้งต้นการประมูล 4จี ให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนคลื่นความถี่ที่ "เอไอเอส" สนใจเข้าประมูล คือทั้งความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์
          
ด้าน ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป ย้ำว่า "ดีแทค" ซึ่งเป็นบริษัทในเครือพร้อมแล้วที่จะเข้าประมูล สำหรับภาคเอกชนเชื่อมั่นว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์ในด้านบริการเท่านั้น แต่ยังจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาสู่นวัตกรรม
          
"ดีแทค"  จะประมูลทั้งคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเทเลนอร์กรุ๊ป มีประสบการณ์ จากการประมูลคลื่นความถี่ในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมจะให้การสนับสนุน "ดีแทค" อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องจำนวนเงินที่ใช้ในการประมูล ยืนยันไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
          
การประมูล "4จี" ที่จะเริ่มปลายปีนี้ คงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น

ขอขอบคุณแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่