"แจสโมบาย-ทรูมูฟ" คว้า 4จี เคาะสู้เดือด! ต่อเนื่อง 4วัน ยอดประมูลสูง 1.5 แสนล.

กระทู้ข่าว

"แจสโมบาย-ทรูมูฟ" คว้า 4จี เคาะสู้เดือด! ต่อเนื่อง 4วัน ยอดประมูลสูง 1.5 แสนล.
เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

          ประมูล 4จี มาราธอน ลากยาว 4 วัน ทุกค่ายแข่งขันดุเดือด เสนอราคาทุบสถิติโลกลงอย่างราบคาบ กสทช. แจงประเทศไทยขาด แคลนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ส่งผลให้ราคาคลื่นมีมูลค่าสูงขึ้นมหาศาล เคาะรอบสุดท้าย 00.20 น. วันที่ 19 ธ.ค. ใบอนุญาตใบที่ 1 ราคา 7.5 หมื่นล้าน ใบที่ 2 ราคา 7.6 หมื่นล้าน รวมสองใบ 1.51 แสนล้านบาท โดยผู้คว้าใบอนุญาตใบที่ 1 คือ "แจส โมบาย" ขณะที่ "ทรูมูฟ" ได้ใบที่ 2

          เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประมูลใบอนุญาต 4 จี คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ รวม 2 ใบอนุญาต ใบละ 10 เมกะเฮิรตซ์ อายุใบอนุญาต 15 ปี

          วันเดียวกัน เวลา 06.15 น. สำนักงาน กสทช. นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 4 ราย ใส่บาตรเนื่องในวันพระ และตั้งจิตอธิษฐานถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ โดยมีเจ้าหน้าที่นำสิ่งของอธิษฐานใส่บาตร ที่บริเวณหน้าอาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช.

          จากนั้นช่วงสาย นายวิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการ เอไอเอส และนายวิลเลียม แฮร์ริส ผู้ช่วยบริหารงานกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ทรู แสดงความจำนงขอออกจากห้องประมูล เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ และเมื่อออกจากห้องไปแล้วจะไม่สามารถกลับเข้ามายังห้องประมูลได้อีกจนกว่าจะจบการประมูล

          ต่อมาเวลา 15.30 น. นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เดินทางมาให้กำลังใจเยี่ยมเยือนสื่อมวลชน และชมบรรยากาศโดยรอบในการประมูล 4 จี พร้อมรายงานการประมูลไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ แสดงความขอบคุณมายัง กสทช. ในฐานะผู้จัดประมูล เพื่อเงินนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการพัฒนาภาคเกษตรในวงกว้าง

          จนถึงเวลา 18.00 น. ยังพบว่ามีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด 2. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เคาะราคา 189 ครั้ง ใบอนุญาตลอต 1 เสนอราคา 72,756 ล้านบาท ส่วนใบอนุญาตลอต 2 เสนอราคา ที่ 74,688 ล้านบาท รวมมูลค่า 147,444 ล้านบาท และทำลายสถิติของฮ่องกงจากการเปิดประมูลในปี 2011 มีมูลค่า 68,099 ล้านบาท ทั้งนี้ การประมูลยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าจะได้ผู้ชนะการประมูล

          ทั้งนี้ การประมูลเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 15 ธ.ค. จนถึงเวลา 18.00 น. วันที่ 18 ธ.ค. รวมเป็นระยะเวลา 4 วัน ใช้ระยะเวลาเคาะประมูล รวม 63 ชั่วโมง และเมื่อรวมระยะเวลาผู้เข้าร่วมประมูลอยู่ในสำนักงาน กสทช.รวมทั้งหมด  83 ชั่วโมง

          ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า จากข้อมูลเปรียบเทียบราคาต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อประชากร โดยไอทียูนั้นราคาค่าเฉลี่ยทั่วโลกของคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์อยู่ที่ประมาณ 17,659 ล้านบาท ต่อใบอนุญาตของขนาด 10 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีราคาต่ำสุดอยู่ที่ 779 ล้านบาท ต่อใบอนุญาตขนาด 10 เมกะเฮิรตซ์ และสูงสุดอยู่ที่ 67,082 ล้านบาท ต่อใบอนุญาตขนาด 10 เมกะเฮิรตซ์

          พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า หากเทียบเฉพาะประเทศในย่านเอเชียแปซิฟิก ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 21,885 ล้านบาท ต่อใบอนุญาตขนาด 10 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีราคาต่ำสุดเท่ากับราคาต่ำสุดของโลกที่ 779 ล้านบาท ต่อใบอนุญาตขนาด 10 เมกะเฮิรตซ์ และราคาสูงสุดเท่ากับราคาสูงสุดของโลก ที่ 67,082 ล้านบาท ต่อใบอนุญาตขนาด 10 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น การประมูล 4 จี คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ในประเทศไทยครั้งนี้ จึงถือว่าเกินราคาเฉลี่ยใน 10 เมกะเฮิรตซ์แล้ว

          ทางด้าน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา  กสทช. กล่าวว่า มูลค่าคลื่นที่แพงสะท้อนความต้องการอยากได้คลื่น สำหรับประเทศไทยปัจจัยสำคัญคือการขาดแคลนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เพราะมีจำนวนแค่ 20 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อประมูลครั้งนี้หมดแล้วจะหมดเลย ส่วนประเทศอินเดีย มีคลื่น 35 เมกะเฮิรตซ์ ประเทศเยอรมนีมี 55 เมกะเฮิรตซ์ การขาดแคลนคลื่นเป็นเหตุให้ราคาพุ่งสูงกว่าประเทศอื่น เมื่อความต้องการมากกว่าคลื่น จึงส่งผลให้การประมูลมีราคาที่สูงขึ้น

          จนกระทั่งเวลา 19.00 น. การประมูลใบอนุญาต 4จี คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เคาะเสนอราคาไปแล้ว 192 ครั้ง โดยใบอนุญาตลอต 1 เสนอราคา 73,722 ล้านบาท ส่วนใบอนุญาตลอต 2 เสนอราคา 74,688 ล้านบาท รวมมูลค่า 148,410 ล้านบาท.

          ขณะที่ นายฐากร กล่าวอีกว่า จากข้อมูลเปรียบเทียบราคาการประมูลตามสูตรออฟคอม (Ofcom) โดยวิเคราะห์ราคามูลค่าคลื่นความถี่ต่อจำนวนประชากรต่อเมกะเฮิรตซ์ พบว่าประเทศฮ่องกง อันดับ 1 ประมูลคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ในปี ค.ศ. 2011 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 61.3 บาท 2. ประเทศไทย (คำนวณจากมูลค่ารวมการเคาะครั้งที่ 190 ราคารวม 147,766 ล้านบาท) อยู่ 55.1 บาท  3.ฮังการี 36.7 บาท 4.กรีซ ราคา 12.5 บาท 5. สเปน ราคาเฉลี่ยที่ 10.5 บาท 6.โรมาเนีย 9.9 บาท 7.โปรตุเกส ราคาเฉลี่ยที่ 9.5 บาท 8.ประเทศเยอรมนี ราคาเฉลี่ยที่ 9.4 บาท นอกจากนี้พบว่ายังไม่ผู้ประมูลขาดทุน เพียงแต่ขาดทุนกำไรเท่านั้น

          ต่อมาเวลา 00.20 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลใบอนุญาต 4จี คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 15 ธ.ค. จนถึงเวลา 00.20 น. วันที่ 19 ธ.ค. รวมระยะเวลานานกว่า 4 วัน ปรากฏว่า ในการเคาะประมูลครั้งที่ 198 ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาต 4จี คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ในชุดที่ 1  คลื่น 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz (10 MHz) มีมูลค่าการประมูล 75,654 ล้านบาท คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด และผู้ชนะใน การประมูลในชุดที่ 2 คลื่น 905-915 MHz คู่กับคลื่น 950-960 MHz (10 MHz) มูลค่าการประมูล 76,298 ล้านบาท คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด รวมมูลค่าการประมูล 151,952 ล้านบาท.

ขอขอบคุณแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558 หน้า 1, 8)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่