█ ▇ ▆ ▅ ▄ ▃ ▂ เตรียมไทม์ไลน์ประมูลคลื่นล่วงหน้า ให้ไลเซนส์ก่อนจบสัมปทานลุ้น Spectrum Cap ใหม่ ▂ ▃ ▄ ▅ ▆ ▇ █

"กสทช." คลอดไทม์ไลน์ประมูลคลื่น 1800 MHz ล่วงหน้า-รอลุ้น Spectrum Cap และจำนวนไลเซนส์อีกรอบ คาด ต.ค.นี้ได้บอร์ดชุดใหม่เคาะ เล็งดึงคลื่น 2600 MHz ในมือ อสมท ประมูลด้วยหลังดีเดย์ พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ ทั้งระบุเงื่อนไขไลเซนส์ใหม่ต้องคุมค่าบริการโมบายอินเทอร์เน็ต

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำนักงาน กสทช.เตรียมวางแผนประมูลคลื่นภายใต้สัมปทาน บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2561 ไว้แล้ว โดยจะจัดประมูลล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัมปทานเพื่อให้มีผู้ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่นได้ต่อเนื่อง และไม่ต้องมีการนำประกาศช่วงเวลาเยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทานมาใช้ เหมือนกรณีการสิ้นสุดสัมปทานระหว่างแคทกับทรูมูฟ และดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) รวมถึงสัมปทานทีโอที และเอไอเอส ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การนำส่งรายได้ จึงควรจัดประมูล และออกใบอนุญาตก่อน 30 ก.ย. 2561

สำหรับคลื่นใต้สัมปทานดีแทคที่จะนำออกจัดประมูล มี 2 ย่านความถี่ ได้แก่ 1800 MHz จำนวน 45.5 MHz จะประมูลได้ 3 ใบอนุญาต และย่าน 850 MHz 10 MHz สำหรับ 1 ใบอนุญาต


ลุ้นประมูล 1800 MHz 3 ไลเซนส์

แต่ต้องให้บอร์ด กสทช.พิจารณาว่า ใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz จะประมูลพร้อมกัน 3 ใบ หรือเก็บไว้ก่อน 1 ใบหรือไม่

"เรามีประสบการณ์ในการจัดประมูลคลื่น 2100 MHz ที่ประมูล 3 ไลเซนส์ เท่าจำนวนผู้ประกอบการ ทำให้ราคาขยับขึ้นไม่มากจึงต้องมาประเมินว่าครั้งนี้ควรที่จะนำออกประมูลกี่ใบอนุญาต ต้องให้แข่งราคามาก ๆ อีกหรือไม่ เพราะราคาตั้งต้นประมูลครั้งนี้กำหนดเกณฑ์ไว้แล้วว่า จะเท่าราคาสิ้นสุดประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อสิ้นปี 2558 รวม 2 ใบอนุญาต อยู่ที่ 80,778 ล้านบาท คูณด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ธปท.ประกาศ แล้วหาร 30 เฉลี่ยเป็น MHz เท่ากับแต่ละไลเซนส์จะมีราคาเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้าน ถือว่าสูงมากอยู่แล้ว"

เดินหน้าประชาพิจารณ์ ม.ค. 61

กระบวนการประมูลที่สำนักงาน กสทช.เตรียมไว้จะเริ่มตั้งแต่ ม.ค. 2561 ด้วยการนำร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลออกรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อให้ประกาศหลักเกณฑ์การประมูลได้ใน มี.ค. 2561 และเปิดให้เอกชนยื่นซองเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลใน พ.ค. 2561 ก่อนประมูลจริงในเดือน มิ.ย. 2561 จากนั้นจะให้เวลาผู้ชนะ 90 วัน นำเงินงวดแรกมาชำระ ก่อนมอบใบอนุญาตให้ใช้คลื่นใน 30 ก.ย. 2561

ส่วนคลื่น 850 MHz 1 ใบ ได้กำหนดตารางเวลาจัดประมูลโดยให้เหลื่อมกันกับการประมูล 1800 MHz 1 เดือน คล้ายกับที่สำนักงาน กสทช.จัดประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ปลายปี 2558 ขณะที่ราคาเริ่มต้นจะคำนวณจากราคาสิ้นสุดประมูลคลื่น 900 MHz รวม 20 MHz อยู่ที่ 151,952 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คูณด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ ธปท.ประกาศ แล้วหารเฉลี่ยเป็น MHz ทำให้ราคาเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 76,000 ล้านบาท

"มั่นใจว่า กสทช.จะนำคลื่นใต้สัมปทานดีแทคมาจัดประมูลล่วงหน้าได้ก่อนสิ้นสุดสัมปทานแน่ แม้ 2 สัมปทานก่อนนี้จะไม่สามารถทำได้ เพราะทีโอทีและแคทเชื่อว่าตนมีสิทธิ์ในคลื่น แต่ทั้งจากแนวทางของศาลปกครอง และที่ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจไปร้องเรียนกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็ชัดเจนว่า เมื่อสัมปทานสิ้นสุดต้องนำคลื่นมาจัดสรรใหม่ด้วยการประมูล จึงไม่น่ามีอุปสรรคอีก หากแคทยื้อคลื่นไว้ กสทช. หรือรัฐบาลก็ไม่มีอำนาจดำเนินการให้ได้ ต้องไปเรียกร้องกับ คสช. ให้ใช้มาตรา 44"

ต.ค.เคาะ Spectrum Cap

นายฐากรกล่าวต่อว่า แม้ บอร์ด กสทช.ปัจจุบัน จะหมดวาระ 7 ต.ค. 2560 แต่ไม่กระทบการเตรียมการจัดประมูลคลื่น แต่มีส่วนสำคัญที่ยังต้องรอให้บอร์ด กสทช.ตัดสินใจ คือ ประกาศกำหนดเพดานขั้นสูงที่จะให้ผู้ประกอบการแต่ละรายถือครองคลื่นรวมทุกย่านมากสุดเท่าใด (Spectrum Cap) คาดว่าจะได้ข้อสรุปให้บอร์ดพิจารณาใน ต.ค. ไล่เลี่ยกับการสรุปจำนวนไลเซนส์คลื่น 1800 MHz

"เคยมีการศึกษาและมีแนวคิดจะกำหนด Spectrum Cap ไม่เกิน 60 MHz แต่สถานการณ์ปัจจุบันไอเดียนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะผู้บริโภคมีการใช้งานบนโครงข่ายโดยเฉพาะดาต้ามหาศาล ขนาดเพิ่งประมูลไลเซนส์ใหม่ไปหลายใบแค่ปีเดียว ยังใช้กันเกือบเต็ม จึงต้องทบทวนใหม่ แต่ไม่กำหนดไว้เลยคงไม่ได้ โดยจะเร่งให้ได้ข้อสรุปใน ต.ค.นี้ ก่อนจัดประมูลครั้งใหม่"

ไลเซนส์ใหม่เล็งคุมค่าเน็ต

และในการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการเตรียมออกแบบแนวทางกำกับดูแลค่าบริการโมบายอินเทอร์เน็ตโดยให้เป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่จะเปิดประมูลใหม่เนื่องจากผู้บริโภคมีการใช้อินเทอร์เน็ตมหาศาลแต่ใช้งานเสียงน้อยลงมากทำให้เงื่อนไขให้ลดค่าบริการเสียงแนบท้ายไลเซนส์ไม่มีประโยชน์แล้ว

สำหรับการจัดประมูลคลื่นย่านอื่นเลขาธิการกสทช.ระบุว่าต้องรอให้พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกาศใช้ก่อน เพราะจะเปิดช่องให้ กสทช.จ่ายเงินชดเชยให้หน่วยงานที่ส่งคืนคลื่นก่อนกำหนดเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้

ก่อนหน้านี้ บมจ.อสมท ได้ทำหนังสือแสดงความจำนงจะคืนคลื่น 2600 MHz 80 MHz ซึ่งมีความเหมาะสมจะใช้งานด้านโทรคมนาคมและบรอดแบนด์ ให้ กสทช.นำไปจัดสรรใหม่ได้ 3-4 ใบอนุญาต แลกกับการได้รับเงินค่าชดเชยการคืนคลื่นก่อน

"เราเตรียมประมูลคลื่น 2600 MHz ไว้แล้ว คาดว่าเมื่อกฎหมายใหม่ผ่านก็จะเริ่มดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ได้ทันที"

Link : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1484209133

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่