แท้จริงมันไม่มีตัวเรา

ขันธ์ ๕ คือส่วน ๕ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิตของมนุษย์ทุกคน

โดยส่วนทั้ง ๕ นั้นก็ได้แก่ ร่างกาย (รูป), วิญญาณ (การรับรู้), การจำสิ่งที่รับรู้ได้ (สัญญา), ความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้ (เวทนา), การคิดนึกปรุงแต่ง (สังขาร) ซึ่งสรุปเรียกว่า ร่างกายกับจิตใจ นั่นเอง

ส่วนทั้ง ๕ นี้ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันเพื่อเกิดขึ้นมา (ตามหลักของสิ่งปรุงแต่ง) ไม่มีส่วนใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่อาศัยส่วนอื่น  คือร่างกายก็ต้องอาศัยธาตุ ๔ (คือดิน น้ำ ไฟ ลม) มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งร่างกายที่ยังดีอยู่นี้ก็มีระบบประสาท ๖ จุด (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ที่เอาไว้รับรู้สิ่งต่างๆภายนอก (คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย สิ่งสัมผัสใจ) เมื่อมีการรับรู้สิ่งต่างๆภายนอกเมื่อใด ก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ เมื่อจำได้แล้วก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที เมื่อเกิดความรู้สึกแล้วก็จะเกิดการคิดนึกปรุงแต่งต่อไปทันที

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นระบบการทำงานร่วมกันจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา ซึ่งนี่ก็แสดงว่าความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้มันเป็น อนัตตา คือ ความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้มันไม่ใช่ตัวเราจริง  หรือจะหาสิ่งที่จะเป็นตัวตนของเราเองจริงๆในขันธ์ ๕ นั้นไม่มี (สุญญตา) ถ้าส่วนหรือสิ่งใดขาดหายไป ส่วนอื่นก็ย่อมที่จะดับหายตามไปด้วยทันที อย่างเช่น ถ้าวิญญาณดับหายไป สัญญา เวทนา และสังขาร ก็จะดับหายตามไปด้วยทันที หรือถ้าร่างกายตาย ระบบประสาทของร่างกายก็จะเสียหาย แล้ววิญญาณก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ เป็นต้น สรุปง่ายๆก็คือ ถ้าไม่มีร่างกาย ก็จะไม่มีจิตใจ นั่นเอง

ความเข้าใจในเรื่อง มันไม่มีตัวเราอยู่จริงในขันธ์ ๕ นี้ ก็คือหัวใจของปัญญาในอริยมรรคของอริยสัจ ๔ นั้นเอง เมื่อมีปัญญาและสมาธิรวมทั้งศีลพร้อมเมื่อใด ความทุกข์ใจที่กำลังเกิดอยู่ ก็จะดับหายไป หรือที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น (แม้เพียงชั่วคราว) และถ้าได้มีการปฏิบัติอริยมรรคได้อย่างต่อเนื่องนานๆ ก็จะทำให้ความเคยชินที่จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้อีก (ที่เรียกว่าสังโยชน์) ถูกทำลายไปอย่างถาวร ความทุกข์ก็จะไม่กับมาเกิดขึ้นแก่จิตนี้ได้อีกอย่างถาวรหรือตลอดชีวิต  

แต่ถ้าเป็นความเชื่อว่ามีตัวเราอยู่ในขันธ์ ๕ นี้ และเมื่อขันธ์ ๕ นี้ได้แตกดับไป มันก็จะยังเกิดมีตัวเราขึ้นมาได้ใหม่อีกเรื่อยไป ก็แสดงว่ายังมีความเห็นที่ผิดจากความจริงของธรรมชาติ (มิจฉาทิฏฐิ) ซึ่งความเห็นผิดนี้ก็ไม่ใช่ปัญญาที่จะนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้จริง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่