มิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ มีหลายนัยยะ ต้องคุยกันกันเป็นประเด็นประเด็นไป

ความคิดเห็นที่ 4 http://ppantip.com/topic/34677381
มิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ มีหลายนัยยะ ต้องคุยกันกันเป็นประเด็นประเด็นไป
โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง
ตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ
วิญญาณเที่ยง วิญญาณเกิดดับ
สัตว์ยึดขันธ์ห้า วิญญาณยึดขันธ์ห้า
เดรฉานวิชาได้ผล เดรฉานวิชาไม่มีผล
ทางสู่นิพพานแบบพุทธะ ทางสู่นิพพานแบบหลวงพ่อสด
คำสอนของตถาคตล้วนมีการบันทึกไว้จริง คำสอนของตถาคตล้วนไม่มีจริงกวีแต่งใหม่
ฯลฯ
ท่านจะเอาประเด็นใหนก็ว่ามาให้แจ้งเทอด

Terasin

****************************
เอาหัวใจเลยดีกว่า คือ "เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่า" ซึ่งจัดเป็นสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่ามีอัตตา (ตัวตนอมตะหรือถาวร) อยู่ในชีวิตของเรานี้

คือถ้ามีความเห็น (เข้าใจ) ว่า "ถ้ายังมีกิเลสอยู่แล้วตายไป ก็จะยังมีการเกิดขึ้นมาใหม่มาเพื่อรับผลกรรมเก่าเรื่อยไป" ก็จัดเป็นความเห็นผิดพวกสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีการเกิดใหม่มาสืบต่อไว้เรื่อยไป ไม่ว่าจะเป็นการเกิดแบบตรงๆคือจิตหรือวิญญาณออกไปเกิด หรือการเกิดแบบอ้อม คือมีอวิชชาหรือกิเลส หรือวิบากกกรมไปเกิดใหม่แทนก็ตาม ก็จัดเป็นความเห็นผิดว่ามีสิ่งที่เป็นอัตตาทั้งสิ้น) ทันที ซึ่งความเห็นผิดตัวนี้เป็นความเห็นผิดตัวแม่ ที่ทำให้เกิดความเห็นผิดตัวลูกตามมาอีกมากมาย เช่น เห็นว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งวิเศษ ผู้วิเศษ และนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผี เทวดา นางฟ้า รวมทั้งเรื่องกรรมเก่าจากชาติก่อน เป็นต้น

แต่ถึงแม้จะมีความเห็น (เข้าใจ) ว่า "เมื่อตายแล้วตัวตนที่มีอยู่ก็ดับสูญไปเลย ไม่มีการเกิดขึ้นมาใหมได้อีก ผลกรรมในชาตินี้ก็ไม่ต้องรับ" ก็ยังจัดเป็นความผิดพวกอุจเฉทิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญไม่มีอะไรเลย) ซึ่งความเห็นนี้จะทำให้ไม่ชอบทำความดี แต่ชอบทำความชั่ว เพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผล

ความเห็นทั้งสองนี้จัดเป็นความเห็นผิด ที่ขวางกั้นไม่ให้เกิดปัญญาสำหรับนำมาดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า  ส่วนความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ที่เป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั้นก็คือความเห็นว่า ในชีวิตของเรา (คือร่างกายกับจิตใจ) นี้มันไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นอัตตาหรือตัวตน (อย่างที่มีความเห็นผิดกันอยู่) จริงๆเลย เพราะทั้งร่างกายและจิตใจล้วนเป็น "สิ่งปรุงแต่ง" ขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยทั้งสิ้น

คือเมื่อเหตุและปัจจัยเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยยังตั้งอยู่ มันก็ตั้งอยู่ แต่เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันดับหายไป มันก็จะดับหายตามไปด้วยทันที (ตามกฎอิทัปปัจจยตา) ซึ่งสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนี้จะมีความจริงสูงสุดซ่อนอยู่ ๔ ประการ คือ ไม่เที่ยง คือมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตก-ดับอยู่ตลอดเวลา (อนิจจัง), มีสภาวะที่ต้องทนประคับประคองสภาวะการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก (ทุกขัง), และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา), รวมทั้งจะหาสิ่งที่เป็นตัวตนของมันเองจริงๆไม่มี (สุญญตา)  

ซึ่งสิ่งปรุงแต่งนี้ (คือร่างกายกับจิตใจ) เมื่อทำความดี ก็จะเกิดผลเป็นความสุขใจ อิ่มเอมใจ  แต่เมื่อทำความชั่วมันก็จะเกิดผลเป็นความร้อนใจหรือไม่สบายใจ ถ้ามันยึดถือว่ามีตัวตนของมันเองจริงๆและยึดถือว่ามีสิ่งที่เป็นของมันเองด้วย มันก็จะเกิดความทุกข์ใจ แต่ถ้าไม่ยึดถือ มันก็ไม่มีทุกข์ใจ

ซึ่งนี่คือความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ที่จัดเป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติคู่กับสมาธิ โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดถือว่ามีตัวตน-ของตน (หรือตัวเรา-ของเรา) ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

ปล. ส่วนความเชื่อเรื่องโลกนี้ โลกหน้ามี เทวดามี นางฟ้ามี กรรมเก่าจากชาติที่แล้วมี เป็นต้นนั้น จัดเป็นสัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้าน ที่ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิของอริยมรรค เพราะยังเป็นความเห็นผิดว่ามีตัวตน (อัตตา) มาเวียนว่ายตายเกิดอยู่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่