ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง เรื่องการเริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนา

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) การศึกษาพุทธศาสนาจะต้องเริ่มต้นที่การศึกษาเรื่องกรรม และเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลของกรรมจากชาติปางก่อน แล้วจึงค่อยมาศึกษาเรื่องการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ทีหลัง

แต่ในความเป็นจริงนั้น การศึกษาพุทธศาสนาระดับสูง (ปรมัตถธรรม) เรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันนี้ จะต้องเริ่มต้นที่ต้องทำลายสักกายทิฏฐิ (ความเห็นผิดว่าจิตใจนี้คือตัวเรา) ให้ได้ก่อน เพราะสักกายทิฏฐินี้เป็นสังโยชน์ (เครื่องผูกจิตไว้ในความทุกข์) ตัวแรกที่ต้องทำลายให้ได้ก่อน จึงจะเกิดความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ขึ้นมาได้อย่างแท้จริง และเมื่อเกิดความเห็นที่ถูกต้องขึ้นมาแล้ว จึงจะมีความเข้าใจและเห็นแจ้งในเรื่องการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง (มีดวงตาเห็นธรรม) แต่ถ้ายังไม่เกิดความเห็นที่ถูกต้องขึ้นมาแล้ว แม้จะศึกษาเรื่องการดับทุกข์อย่างไรก็จะไม่มีทางถูกต้อง เพราะจะเกิดความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ขึ้นมาแทน ซึ่งปกติเราทุกคนก็ย่อมที่จะมีความเห็นผิดครอบงำจิตกันอยู่แล้วตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว แต่ก็กลับเข้าใจผิดว่าตัวเองมีความเห็นถูก ซึ่งสักกายทิฏฐินี่เองที่เป็นความเห็นผิดที่สำคัญที่สุด ที่เราจะต้องทำลายให้ได้ เมื่อทำลายสักกายทิฏฐิได้แล้ว ความเห็นผิดก็จะหายไปและเกิดความเห็นถูกขึ้นมาแทนทันที

สักกายทิฏฐิ คือความเห็น (หรือความเข้าใจ) ผิด ว่าจิตใจ (ที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา) นี้เป็นอัตตา คือคำว่า อัตตา หมายถึง สิ่งหรือสภาพที่เป็นตัวตนของมันเอง โดยที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาเป็นเหตุสำหรับปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบหรือทำ) ให้ตัวตนของมันเกิด (หรือมี) ขึ้นมา โดยสิ่งที่เป็นอัตตานี้จะมีลักษณะ

(๑) เที่ยง (นิจจัง) คือจะตั้งอยู่ในลักษณะหรือสภาพเดิมตลอดเวลาโดยจะไม่มีการแตก (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับจิต) หายไปเลยชั่วนิรันดร (ที่เรียกว่าเป็นอมตะที่หมายถึงความไม่ตายอย่างถาวร) รวมทั้งก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

(๒) มีสภาวะที่ไม่ต้องทน (สุขัง) คืออัตตาหรือตัวตนนี้จะทนอยู่อย่างเป็นสุขหรือสบาย เพราะไม่ต้องทนต่อความไม่เที่ยง (ความเปลี่ยนแปลง) ภายในตัวของมันเอง

สักกายทิฏฐิ ก็หมายถึง ความเห็นหรือความเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริงของธรรมชาติว่า จิตหรือใจของเรานี้มีลักษณะหรือสภาวะเป็นอัตตา (คือเป็นตัวตนอมตะที่เที่ยงแท้ถาวรและมีสภาวะที่ไม่ต้องทน) โดยจิตใจที่เป็นอัตตานี้จะสิงอยู่ในร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อร่างกายตาย จิตใจที่เป็นอัตตานี้ก็จะสามารถออกไปจากร่างกายได้ (เพราะมันไม่จำเป็นต้องอาศัยร่างกายเพื่อเกิดขึ้น) แล้วไปเกิดหรือสิงอยู่ในร่างกายใหม่ได้เรื่อยไป (คือเรียกง่ายๆว่ามันจะไม่สูญหายไป แต่จะเกิดขึ้นมาได้ใหม่เรื่อยไปโดยที่ไม่ต้องมีเหตุอะไรมาปรุงแต่งหรือสร้างให้มันเกิดขึ้นมา)

คำสอนว่าจิตเป็นอัตตานี้ เป็นคำสอนของศาสนาฮินดู (หรือพราหมณ์) ที่เขาเชื่อว่า จิตใจหรือวิญญาณของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี้เป็นอัตตา ที่จะไม่มีวันดับหายไปอย่างเด็ดขาด คือถึงแม้ร่างกายจะตาย แต่จิตใจนี้ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปได้ด้วยตัวของมันเอง ซึ่งความเชื่อเรื่องจิตเป็นอัตตานี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า ผี เปรต สัตว์นรก พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล และเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้นขึ้นมา ซึ่งความเชื่อเรื่องจิตใจเป็นอัตตานี้ต่อมาก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน โดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว และสืบทอดคำสอนเรื่องจิตเป็นอัตตาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ เกิดความเข้าใจผิดไปว่าพุทธศาสนาก็สอนเหมือนศาสนาฮินดู หรือพุทธศาสนาเป็นแค่เพียงสาขาหรือนิกายหนึ่งของศาสนาอินดูเท่านั้น

ความเชื่อเรื่องจิตเป็นอัตตาเวียนว่ายตายเกิดนี้ เป็นความเห็นที่ตรงข้ามกับคำสอนเรื่องจิตเป็นอนัตตาของพระพุทธเจ้า คือหลักคำสอนเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน (หลักอริยสัจ ๔) ของพระพุทธเจ้านั้น จะต้องใช้ปัญญา ศีล และสมาธิ มาทำงานร่วมกันในการดับทุกข์ (หรือทำให้พ้นทุกข์) โดยปัญญาก็คือ ความเข้าใจและเห็นแจ้งทุกสิ่งตามที่เป็นอยู่จริง ซึ่งก็คือการมีสัมมาทิฏฐิหรือการมีความเห็นที่ถูกต้องนั่นเอง โดยความเห็นที่ถูกต้องที่สำคัญที่สุดอันดับแรกก็คือ ความเห็นว่าจิตใจของเรานี้ไม่ใช่อัตตาอย่างที่ศาสนาฮินดูสอน

คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา หรือไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่หมายถึงเป็นการปฏิเสธเรื่องความเป็นอัตตาของจิตใจอย่างที่ศาสนาฮินดูสอน ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า ผี เปรต สัตว์นรก พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล และเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้น อย่างที่ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูสอน

มนุษย์เรานั้นโดยปกติแล้ว จะมีความเห็นผิดว่าจิตใจของตนเองเป็นอัตตา (เป็นตัวเรา) ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูกันอยู่แล้วเกือบทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเท่ากับว่าเรากำลังมีความเห็นผิดที่ตรงข้ามกับความเห็นถูกตามหลักพุทธศาสนาอยู่แล้วเป็นปกติ ซึ่งความเห็นผิดว่าจิตเป็นอัตตาหรือตัวเรานี้เอง ที่เป็นเหตุให้จิตของเราเกิดความยึดถือว่าจิตนี้คือตัวเรา และยึดถือร่างกายรวมทั้งทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง สามีหรือภรรยา ลูก ทรัพย์สมบัติ เชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น ว่าเป็นของเรา (อย่างที่เรียกว่า ตัวเรา-ของเรา หรือถ้าพูดอย่างหยาบๆก็พูดว่า ตัวกู-ของกู) ซึ่งความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้เอง ที่เป็นเหตุให้จิตเกิดความทุกข์ (เช่น ความเศร้าโศก หรือความเสียใจ ความแห้งเหี่ยวใจ ความเร่าร้อนทรมานใจ ความเครียด หรือความหนัก-เหนื่อยใจ หรือความไม่สบายใจ เป็นต้น) ขึ้นมา แต่ถ้าเรามีปัญญาหรือมีความเห็นที่ถูกต้องว่า ร่างกายและจิตใจรวมทั้งทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรานี้ไม่ได้เป็นอัตตาจริงตามที่ศาสนาพราหมณ์เชื่อ ก็จะทำให้สักกายทิฏฐิที่เป็นความเห็นผิดที่สำคัญตัวแรกนี้ถูกทำลายไปทันที

ส่วนวิธีการทำลายสักกายทิฏฐินั้น พระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ว่า ให้เรานำเอาขันธ์ ๕ (สรุปก็คือร่างกายกับจิตใจ) ที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้ มาเพ่ง (คือด้วยสมาธิ) พิจารณาดู (คือดูจากร่างกายและจิตใจของเราเองจริงๆไม่ใช้การคาดเดา) ว่ามันเที่ยง (นิจจัง) หรือไม่เที่ยง? (อนิจจัง) และมันมีสภาวะที่ไม่ต้องทน (สุขัง)  หรือ มีสภาวะที่ต้องทน? (ทุกขัง)

โดยร่างกายนั้นเราก็เห็นอยู่ว่ามันเกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งของดิน น้ำ ความร้อน และก๊าซ และกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งก็ต้องแตกสลายหรือตายไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว อีกทั้งเมื่อเกิดร่างกายขึ้นมาแล้วมันก็ยังมีความรู้สึกทนได้ยาก (คือหนัก เหนื่อย เจ็บ ปวด ทรมาน ไม่สบาย) อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่าร่างกายของเรานี้มันไม่เที่ยง และมีสภาวะที่ต้องทน

เมื่อเรามาเพ่งพิจารณาดูจากจิตใจของเราเองจริงๆแล้วก็จะพบความจริงว่า จิตใจของเรานี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน คือเมื่อเราตื่นจิตก็เกิด แต่เมื่อเราหลับสนิทและไม่ฝัน จิตก็ไม่มีหรือดับ รวมทั้งทั้งความรู้สึก (เวทนา) ความจำ (สัญญา) และการคิดนึกปรุงแต่งของจิต (สังขาร)  ก็ไม่อยู่นิ่ง คือจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาที่จิตตื่นอยู่อีกด้วย ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ของจิตใจ อีกทั้งขณะที่จิตใจเกิดขึ้นมาแล้วและเกิดความยึดถือร่างกายและจิตใจว่าเป็นตัวเรา-ของเรา มันก็จะเกิดความรู้สึกที่ทนได้ยาก (หรือมีความทุกข์) ขึ้นมาด้วย ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของสภาวะที่ต้องทนของจิต (ทุกขัง)

เมื่อเราพบความจริงแล้วว่า ร่างกายและจิตใจของเรานี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง และมีสภาวะที่ต้องทน อันเป็นลักษณะหรือสภาวะ ที่ตรงข้ามกับความเชื่อเรื่องร่างกายและจิตใจเป็นอัตตา ตามความเชื่อของศาสนาอินดู ก็ทำให้เราเข้าใจและเห็นแจ้งได้ทันทีว่า ร่างกายและจิตใจของเรานี้เป็นอนัตตา คือไม่ใช่อัตตา (หรือไม่ใช่ตัวเรา-ของเราจริง) อย่างที่ศาสนาอินดูหรือคนทั่วไปเชื่อกันอยู่ และเมื่อเข้าใจและเห็นแจ้งแล้วว่าจิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเราจริงแล้ว (คือเป็นอนัตตา) ก็จะทำให้เกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาอีกว่า แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่ในจิตใจนี้ หรือในจิตใจนี้ไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง (ที่เรียกว่าสุญญตา) และเมื่อจิตมีความเห็นแจ้งเช่นนี้เกิดขึ้น ก็จะทำให้ความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจ รวมทั้งทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง ดับหายไปทันที (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อไม่มีความยึดถือ จิตก็ไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็น หรือที่เราสมมติเรียกกันว่านิพพาน และเมื่อนิพพานปรากฏ ก็แสดงว่าเกิดการเห็นธรรม (คือเห็นว่าอริยสัจ ๔ ดับทุกข์ได้จริง) หรือมีดวงตาเห็นธรรม หรือมีความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ขึ้นมาแล้วอย่างแท้จริง เพราะสามารถทำลายสักกายทิฏฐิ อันเป็นความเห็นผิดว่าจิตใจนี้คือตัวตนอมตะที่จะไปเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่า ได้แล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ศาสนาพุทธ ปฏิบัติธรรม
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่