การกำหนดดวงนิมิตในสมาธิเป็นเช่นไร มีความสำคัญอย่างไร ตอนสอง

การกำหนดดวงนิมิตในสมาธิเป็นเช่นไร  มีความสำคัญอย่างไร  ตอนสอง

                  ในตอนที่แล้วเราได้ทราบถึงองค์ฌาน  ตลอดจนประเภทของพระกรรมฐานไปแล้ว  และได้เล่าถึงการเกิดขององค์ฌานปฐมมาได้สามประการก็ค้างไว้  ในตอนนี้จะได้เล่าถึงองค์ฌานที่เหลืออีกสององค์คือสุข  กับเอกัคตา  สำหรับการเริ่มและวิธีฝึกฝนทั้งหมดจะได้กล่าวไว้ในส่วนคำอธิบายของเอกัคตาตลอดจนการกำหนดดวงนิมิตว่าทำอย่างไรต่อไป

          ข้าพเจ้าเคยได้ยินมาว่ามีคนกล่าวว่าคนที่ฝึกสำเร็จจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าสำเร็จหรือไม่  ผู้อื่นไม่สามารถล่วงรู้ได้   คำกล่าวนี้เป็นจริงได้อยู่สองลักษณะ หนึ่งเป็นจริง  กับสองเป็นลวงเพื่อหวังผลทางอามิสที่จะได้รับเพราะผู้ที่ปฏิบัติตนจนสำเร็จฌานได้นี้จะได้รับความเคารพนับถือจากบุคคลโดยทั่วไป  เราท่านเมื่อทราบการเกิดขององค์ฌานแล้วคงพอจะพิจารณาได้ว่าท่านที่สนทนาอยู่กับท่านนี้นะสำเร็จในขั้นใด  ถ้าตอบไม่ได้คราวนี้ก็ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน

            เล่ามาถึงตอนนี้แล้วจะขอกล่าวถึงคำว่าปัญญาไว้สักเล็กน้อย ปัญญาในทางพุทธศาสนานี้ไม่ใช่ปัญญาที่เรา ๆ ท่าน ๆ  เข้าใจกันว่าเลขหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง  หรือสองบวกสองเป็นสี่เช่นนี้ไม่ใช่ปัญญาทางพระพุทธศาสนา แต่เป็นการใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหาในทางโลก  ปัญญาในพุทธศาสนาเกิดจากการฝึกสมาธิและใช้ความสามารถนี้ในการทำลายกิเลศได้เรียกว่าปัญญา  สำหรับปัญญาในพระสมถกรรมฐานนี้จะทำลายกิเลศได้เช่นกันแต่เป็นการชั่วคราว  ในเวลาที่อยู่ในฌานเท่านั้นดังนั้นจะเห็นได้ว่าท่านเหล่านี้มักเข้าฌานอยู่ครั้งละนาน ๆ อาจจะเป็นหลายวันหรือเป็นเดือนเลยก็มี   เพราะฌานกับกิเลศไม่อาจเกิดพร้อมกันได้  มีฌานได้ต้องไม่มีกิเลศ  มีกิเลศฌานก็ไม่เกิด  และเราไม่ต้องใช้ความคิดของปุถุชนมาตัดกิเลศ  การเข้าฌานเป็นการตัดกิเลศอยู่แล้วในตัวเองขอให้พิจารณาดูเถิด  เมื่อออกจากฌานแล้วก็จะเป็นเช่นคนธรรมดาทั่วไป  มีโลภ  โกรธ  หลง  กามราคะได้เช่นปุถุชนธรรมดา  แต่เกิดได้ยากกว่าเนื่องจากมีจิตรที่ข่มไว้  แต่หากเกิดขึ้นเมื่อใด  ฌานที่ฝึกได้ก็จะเสื่อมไป  ดังนั้นผู้ที่ฝึกฌานได้จะต้องพยายามรักษาไว้ ประดุจนางแก้วรักษาครรภ์อันจะเกิดโอรสผู้เป็นพระมหาจักรพรรดิต่อไป  ฌานที่เสื่อมยากที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญไว้คือฌานที่ฝึกจากอสุภทั้งสิบวิธี  แต่สำหรับฌานวิปัสสนากรรมฐานนั้นจะยกตนผู้ฝึกเข้าสู่พระอริยบุคคลซึ่งมีด้วยกันสี่คู่รวมแปดบุรุษ  นับแต่พระโสดาบัน  จนถึงพระอรหันต์เป็นที่สุด   และการยกตนเป็นพระอริยบุคคลนี้จะเป็นการถาวร กล่าวคือจิตรจะตัดกิเลสสิ้นเชิง  ส่วนจะตัดได้แค่ไหนเพียงไรขึ้นอยู่กับว่าสำเร็จได้ถึงขั้นไหนในแปดบุรุษนี้  มีเพียงบุรุษเดียวที่ยังกลับคืนสู่บุคคลธรรมดาได้คือพระโสดาบันเท่านั้น  แต่พระอริยะท่านอื่น ๆ นั้น  กล่าวได้ว่าสำเร็จธรรมขั้นสูงสุดที่มนุษย์จะฝึกได้แล้ว  จะไม่กลับไปสู่จิตรของปุถุชนอีก  ยกตัวอย่างเช่นสมมุติว่าเราเรียนจบปริญญาเอกแล้วในสาขาวิชานิติศาสตร์บัณฑิต  แสดงว่าเราจบปริญญาตรี และปริญญาโทในสาขาวิชานั้นแล้วด้วย  จะขอกลับมาเรียนปริญญาตรีในสาขาวิชานิติศาสตร์อีกก็คงจะไม่ได้  หรือมิเช่นนั้นบุคคลผู้สำเร็จพระอรหันต์จะขอเกิดอีกในชาติต่อไปก็เป็นไปไม่ได้  ฉันใดก็ฉันนั้น  สำหรับฌานวิปัสสนานี้นั้น อธิบายให้ง่ายก็คืออรูปฌานชนิดหนึ่งที่เกิดจากพลังสมาธิบันดาลให้เป็นไปซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้คันพบ   มีทั้งหมดห้าฌานด้วยกัน  บุคคลที่จะยกตนให้พ้นจากวัฏสงสารจะต้องฝึกจนสำเร็จทั้งห้าฌานนี้ประกอบกันจึงจะเป็นไปตามประสงค์   ต่างจากฌานสมถที่เมื่อฝึกแล้วในลำดับที่สูงขึ้นก็จะใช้ฌานที่สูงกว่ายิ่ง ๆ  ขึ้นไปเพียงฌานเดียว  แต่ฌานในวิปัสสนานั้นจะต้องฝึกทุกฌานและกำหนดพร้อมกันทุกฌานจึงจะยกตนพ้นจากวัฏสงสารได้   ในส่วนของรายละเอียดข้าพเจ้าจะได้กล่าวในโอกาสต่อ ๆ ไป

         สำหรับองค์ฌานที่สี่ของปฐมฌาน จะบังเกิดขึ้นภายหลังจากองค์ฌานทั้งสามปรากฏในลำดับถัดจากองค์ชาญที่สาม  จะบังเกิดขึ้นแบบนี้   เมื่อจิตรสงบนิ่งแล้วจะมีความรู้สึกสัมผัสได้จากการรับรู้ของจิตว่ามีความสบายอกสบายใจจิตรโล่ง อาการปวดเมื่อยหรือเจ็บปวดตามข้อตามเข่าตามตัวไม่มีเลยโล่งหมด  จิตรสงบแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน  เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบมีพลังชุ่มชื่นมาก  ขณะนั้นจะมีแต่จิตร  กับสมาธิที่มั่นคงอยู่เท่านั้น  ไม่เห็นว่ามีร่างกายอยู่ตรงไหนลองหาดูว่าจะขยับนิ้วอย่างไร  แต่พอเรารู้สึกและรับรู้อารมแบบนี้จิตรก็จะกลับออกจากสมาธินั้นทันที  ข้าพเจ้าเป็นคนพอจะมีความรู้อยู่บ้างจึงลองทดสอบดูเป็นหลายครั้ง  ปรากฏว่าให้ผลเหมือนเดิม  จึงคิดหาเหตุผลอยู่นานว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้  เพราะอย่างไรก็ถามใครไม่ได้อยู่แล้ว

                  จนในที่สุดก็ได้คำตอบว่า จิตรมนุษย์นี้รับรู้ได้คราวละอารมเดียวเท่านั้น  เมื่อเรายอมรับอารมหนึ่งแล้วอีกอารมก็ต้องหายไปเป็นธรรมดา  เมื่อเรายอมรับความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบนี้แล้ว หรือใช้จิตรไปรับรู้อารมของการขยับร่างกาย   อารมที่เราภาวนาอยู่ก็ต้องหมดไปจิตรจึงเลือกที่จะกลับสู่จิตรของปุถุชนธรรมเช่นนี้    คือคำตอบ   การฝึกสมาธิก็คือการทำให้จิตรตั้งมั่นอยู่ในอารมเดียวอย่างมั่นคง  บางคนอาจจะถามว่าการยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นสิ่งไม่เที่ยง  ก็ถูกต้อง  แต่อย่าลืมว่าตอนนี้เรายังอยู่ในการฝึกเริ่มต้นของปฐมฌานเท่านั้น  ยังมีองค์ฌานที่ยังเป็นของหยาบที่ต้องขจัดทิ้งอีกมากแม้แต่ตัวฌานเองก็เป็นของหยาบในชั้นสูงก็ต้องขจัดทิ้งเข้าสู่อรูปฌาน  ดังนั้นตอนนี้เรายังไม่สำเร็จก็ต้องเริ่มจากพื้นฐานไปก่อน  ไม่ใช่จะสร้างบ้านมาถึงก็จะทำหลังคาเลย ไม่สร้างเสาบ้านและคานก่อนเพราะเห็นว่ามีคานและเสาแล้วไม่สวย  ถ้าเช่นนั้นบ้านนี้คงไม่มีวันเสร็จเป็นเที่ยงแท้แน่นอน   ข้าพเจ้าเคยได้ยินมาว่ามีผู้ฝึกสมถบางท่านติดในความสุข  ก็ขอให้พิจารณาดูว่าจะนำข้อเขียนของข้าพเจ้าไปปรับใช้กับท่านอย่างไร  ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า   สุขที่ท่านว่านี้เป็นความคิดที่ท่านคิดเอาเอง   หรือเกิดจากพลังสมาธิบันดาลให้เป็นไปกันแน่   เพราะสุขจากสมาธิอยากให้เกิดก็ไม่เกิด  แต่จะเกิดเองเมื่อเราฝึกถูกต้อง  และเกิดเป็นลำดับดังกล่าวแล้วข้างต้น   หากมีผลดีประการใดข้าพเจ้าก็ขอโมทนาสาธุกับท่านครับ

          คราวนี้มาถึงองค์ฌานที่ห้าของปฐมฌาน  คือ  เอกัคตา  พูดง่าย ๆ ก็คือสมาธิ  สมาธิก็คือการที่จิตมีอารมเดียวอย่างมั่นคง  เป็นส่วนที่ยากที่สุดของการฝึก  ยังมีการฝึกที่จะให้สำเร็จเป็นสามขั้นตอนในดวงนิมิต  ดังนี้   เริ่มแรกเราจะต้องเลือกเอาว่าเราจะฝึกวิธีไหนจากพระกรรมฐานสี่สิบเมื่อเลือกแล้วก็เริ่มต้นฝึกกัน  แต่ในที่นี้ข้าพเจ้าได้เลือกฝึกในกษิณธาตุน้ำ  หรืออาโปกษิณเป็นหลัก   และเรื่องที่เขียนมานี้ทั้งเรื่องก็มาจากประสบการณ์จริงที่ข้าพเจ้าฝึกมาเห็นอย่างไรรู้อย่างไรก็บอกไปตามที่เห็นไม่มีการแต่งเติมเสริมต่อแต่อย่างใด  วัตถุประสงค์เพื่อเป็นธรรมทานเท่านั้น  ที่จริงแล้วก็ว่าจะไม่เล่าให้ใครฟังแล้วแต่เห็นว่าข้าพเจ้าเริ่มจะแก่แล้วความรู้นี้หากไม่แพร่ออกไปคงต้องศูนย์ไปพร้อมกับสังขารของข้าพเจ้า  ประกอบกับข้าพเจ้ามีโรคประจำตัวรุมเร้าหลายโรคคงจะอยู่อีกไม่นานแล้ว  จึงได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา  ท่านที่อ่านมาถึงตอนนี้คงพอจะนึกออกว่าไม่เคยเห็นใครที่อธิบายการฝึกกรรมฐานจากการฝึกฝนของตัวเองได้ละเอียดเช่นนี้มาก่อน  คำพูดมาจากประสบการณ์จริงทุกคำ  จะมีคำบาลีอยู่บ้างก็มาจากคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค  ของพระพุทธโฆษาจารย์  ซึ่งเปรียบเหมือนพระอาจารย์ของข้าพเจ้า  และมีพระอาจารย์อีกท่านหนึ่งของข้าพเจ้าที่สอนวิธีการเดินจงกลมให้ข้าพเจ้า

          เมื่อแรกฝึกนั้นให้อาราธนาพระคาถาดังนี้   อิมาหัง  ภควา  อัตตภาวัง  ตุมหากัง  ปริจจชามิ  แปลว่า  ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคข้าพระองค์เสียสละ  คือว่ามอบเวนซึ่งอาตมาภาพนี้แก่สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์

         หากเป็นพระอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งให้อาราธนาดังนี้  อิมาหัง  อันเต  อัตตภาวังตุมหากัง  ปริจจชามิ  แปลว่า  ข้าแต่อาจารย์ผู้เจริญ  ข้าพเจ้าเสียสละ  คือว่ามอบกาย  ซึ่งอาตมาภาพนี้แก่ท่าน

          แล้วให้จัดทำดวงนิมิตขึ้นโดยใช้ขันล้างหน้าที่เป็นโลหะ  ใส่น้ำให้เต็มขันเมื่อแรกไม่ชำนาญนั้นให้นั่งบนตั่งมีขาสูงหนึ่งศอกกับสี่นิ้วของผู้ฝึก  ตั้งดวงนิมิตให้ห่างจากตั่ง สามศอกกับหนึ่งคืบของผู้ฝึก  น้ำให้ใช้น้ำที่ใสสะอาดจริง ๆ ไม่มีสีใด ๆ เจือปนเพราะหากมีสีเจือปนเวลาเห็นดวงนิมิตจะมีกษิณโทษในนิมิตด้วยและทำลายยาก  คำว่ากษิณโทษก็คือสีที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดในดวงนิมิตนั่นเอง  ดวงนิมิตนี้ห้ามเล็กกว่าขันล้างหน้าแต่ไม่ใหญ่กว่าถาด  เหตุเพราะถ้าเล็กไปเวลามองนิมิตก็จะไม่เห็นต้องเพ่งตามากก็จะไม่เป็นสมาธิ  ใหญ่เกินไปก็มองกำหนดนิมิตไม่ทั่ว  จิตรก็จะฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิ  สำหรับความสูงของตั่งก็เพื่อให้มองเห็นได้ถนัด  ระยะห่างก็เพื่อไม่ให้เห็นกษิณโทษ  แลถ้าใกล้ไปก็จะต้องก้มคอมากนั่งนาน ๆ ก็จะเข็ดคอ  เมื่อได้ดวงนิมิตแล้ว  อาราธนาแล้วให้ปลงจิตรให้เห็นความตายจนเยือกเย็น  ว่าเราจะต้องตายอย่างแน่แท้จะต้องตายอย่างแน่นอน   กามคุณนี้เป็นของต่ำเป็นของปุถุชนไม่อาจจะยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านได้  เราจะรอดพ้นจากชราและมรณาได้ก็ด้วยวิธีนี้  พระอริยบุคคล  พระอรหันตาขีณาสวทั้งปวงเจ้าก็ล้วนฝึกเช่นเดียวกันนี้   แล้วให้นั่งภาวนาไปว่า   อาโป  ร้อยครั้งพันครั้ง  เวลามองดวงนิมิต  ให้หรี่ตามองดวงนิมิต แล้วหลับตาหรี่ตาไปเช่นนี้จนกว่าจะเห็นดวงนิมิตโดยไม่ต้องมองอีก  ทำได้เช่นนี้เรียกว่าดวงอุคหนิมิต  เมื่อชำนาญในอุคหนิมิตแล้วให้หัดทำเป็นปฏิภาคนิมิต  กล่าวคือ ให้หัดย่อและขยายดวงอุคหนิมิต และเคลื่อนดวงนิมิตไปให้ห่างแล้วกำหนดให้กลับเข้ามาใกล้ หัดทำจนชำนาญ ดวงปฏิภาคก็จะหายไปเกิดดวงฌานใสเหมือนพัดใบตาลแก้วลอยอยู่ในอากาศนี้คือดวงปฐมฌาน   สำหรับดวงอุคหนิมิตนี้อาจมีกษิณโทษเจือปนบ้าง  เช่นข้าพเจ้า กำหนดน้ำในน้ำตกที่คิดว่าใสสะอาดแล้วแต่ในนิมิตมีสีเทาดำของตะไคล่น้ำอยู่เป็นจุด ๆ  ต้องฝึกไปกว่าจะใส  และดวงนิมิตนี้เมื่อแรกเกิดจะใหวกระเพื่อมอยู่เหมือนน้ำไหล จะไม่อยู่นิ่ง ๆ ประคองนิมิตจนใสและนิ่งจริง ๆ  ก่อนค่อยทำปฏิภาค  ดวงนิมิตก็คือดวงฌาน  ดวงฌานก็คือดวงนิมิตไม่อาจจะแยกจากกันได้  สำหรับข้าพเจ้าขณะนี้ฝึกได้ในชั้นอุคหนิมิต แล้ว  หาก แม้นข้อเขียนนี้จะมีกุศลบังเกิดข้าพเจ้าขอถวาย เป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธโฆษาจารย์  และพระอาจารย์ที่สอนวิธีเดินจงกลมให้แก่ข้าพเจ้า  ท่านจะอยู่ ณ ที่ใด ขอให้รู้ว่าข้าพเจ้าสำนึกในพระคุณของท่านไม่เคยลืม ขอท่านจงมีแต่ความสุขความเจริญเถิด   และขอผลบุญนี้จงส่งให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จฌานสมาบัติดังตั้งใจเถิด  สำหรับการเดินจงกลม  และวิธีฝึกข้าพเจ้าจะเล่าให้ฟังในคราวต่อไป  จากนี้จะมาลงกระทู้อาทิตย์ละครั้งในทุกวันอาทิตย์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่