การกำหนดดวงนิมิตในสมาธิเป็นเช่นไร มีความสำคัญอย่างไร

การกำหนดดวงนิมิตในสมาธิเป็นเช่นไร  มีความสำคัญอย่างไร
           สืบเนื่องจากตอนที่แล้วเรื่องเผชิญหน้าผีตายโหง  มีผู้อ่านสนใจเรื่องการกำหนดดวงนิมิต   ข้าพเจ้ารู้สึกเกรงใจเพราะติดค้างที่จะเล่าเรื่องอีกหลายเรื่องที่ท่านอยากรู้  ครั้นจะตอบในกระทู้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ  น่าจะที่สุดของการฝึกสมาธิเลยก็ว่าได้  ตัดสินใจกล่าวถึงเรื่องนี้ก่อนนะครับ  
          จริง ๆ แล้วตั้งใจไว้แต่แรกว่า  จะเล่าเรื่องการฝึกสมาธิในพระกรรมฐานสี่สิบทุกวิธี  แต่ได้ทราบจากลูกชายว่ามีผู้อื่นเขียนแล้ว  เห็นว่าจะซ้ำกันและการเขียนของข้าพเจ้าก็มาจากประสบการณ์จริง   จึงจะขอกล่าวแต่เฉพาะที่ข้าพเจ้าฝึกฝนมา  จะกล่าวถึงพระกรรมฐานสี่สิบแต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อความเข้าใจ  พระกรรมฐานสี่สิบนั้นมีดังนี้  กสิณสิบ  อสุภสิบ  อนุสสติสิบ  อาหารปฏิกูลสัญญาหนึ่ง  จตุธาตุวัตถานหนึ่ง  พรหมวิหารสี่  อรูปสี่  รวมเป็นสี่สิบทั้งสี่สิบวิธีนี้เป็นสมถกรรมฐาน
          ในการฝึกทุกอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน  การเรียนหนังสือ  หรือทำกิจการอื่น ๆ ก็ดี  เราจะต้องมีหลักเกณฑ์ในการฝึก  ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้น  แล้วจึงฝึกหัดทำในสิ่งที่ตั้งใจนั้น  การฝึกสมาธิก็เช่นเดียวกัน ต่างแต่ว่าหาผู้สอนได้ยาก  ดังที่เคยกล่าวแล้วในตอนแรก   เมื่อประสบปัญหาในการฝึกถามใครก็ไม่มีใครตอบได้  จำเป็นต้องหาหนทางด้วยตนเอง  
          เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าสมาธิจิตรมีการฝึกกันมาก่อนพระพุทธเจ้าของเรา  แต่ผู้ที่ฝึกนั้นไม่พบวิธีที่จะทำให้หลุดพ้นจากวัฏสงสารได้  พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นบุคคลแรกที่ค้นพบวิธีที่จะพ้นจากความทุกข์ได้  เป็นวิธีใหม่อีกต่างหาก  สมาธิจึงแยกออกเป็นสองประเภทคือ  สมถกรรมฐาน  กับวิปัสสนากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ  จะเล่าให้ฟังในสมถกรรมฐานก่อนแล้วจะเล่าในวิปัสสนากรรมฐานต่อไป  
          สมถกรรมฐานแบ่งเป็นชั้นของฌานที่สำเร็จได้แปดชั้น  แท้จริงแล้วจะแบ่งละเอียดเป็นสิบสองชั้น หรือสิบหกชั้นก็ได้แต่ไม่นิยมแบ่งกันจึงถือเอาแปดชั้นเป็นหลัก  ฌานแปดชั้นนี้แบ่งเป็นรูปฌานสี่ชั้น อรูปฌานสี่ชั้น  ดังนี้

                           ฌานหนึ่ง  ปฐมฌาน  มีองค์ฌานห้าคือ  วิตก  วิจาร  ปิติ  สุข  เอกัคตา
                           ฌานสอง  ทุติยฌาน  มีองค์ฌานสามคือ  ปิติ  สุข  เอกัคตา
                           ฌานสาม  ตติยฌาน  มีองค์ฌานสองคือ  สุข  เอกัคตา
                           ฌานสี่ จตุตถฌาน     มีองค์ฌานหนึ่งคือ  เอกัคตา

ต่อไปเป็น  อรูปฌาน  อีกสี่ชั้นคือ
                           อากาสานัญจายตนะ
                           วิญญาณัญจายตนะ
                           อากัญญายตนะ
                           เนวสะญญานาสัญญายตนะ

             ในการแบ่งชั้นของฌานนี้มีความสำคัญมากมายหลายประการกล่าวคือ  ใช้เพื่อบอกชั้นของการฝึกว่าในขณะนี้ผู้ฝึก ๆ ได้อยู่ในชั้นใด  เพื่อที่จะได้ฝึกฝนต่อไปในฌานที่สูงขึ้น กับทั้งองค์ของชาญก็มีความสำคัญเพื่อที่จะได้รู้ว่าผู้ฝึกนั้นสำเร็จในขั้นใดแล้ว ยกตัวอย่างปฐมฌาน จะมีองค์ฌานห้าคือ  วิตก  วิจาร  ปิติ  สุข  เอกัคคตา  ผู้สำเร็จจะต้องได้ทั้งห้าประการนี้ครบบริบูรณ์จึงจะถือได้ว่าสำเร็จปฐมฌาน  องฌานนี้จะบังเกิดในมโนวิถีของผู้ฝึกโดยจะเกิดเป็นลำดับไปไม่มีการข้ามขั้นกัน แต่อาจเกิดพร้อมกันได้  เป็นต้นว่าวิตก  วิจารเกิดพร้อมกัน  หรือวิตก  วิจาร  และปิติเกิดในคราวเดียวกัน  แต่จะไม่เกิดปิติโดยไม่มีวิตก  วิจาร  หรือเกิดสุขก่อนปิติโดยเด็ดขาด ลักษณะของการเกิดเป็นดังนี้ เมื่อเราตั้งใจภาวนาอยู่ในการฝึกวิธีใดวิธีหนึ่งจากพระกรรมฐานสี่สิบที่เลือกมาและความตั้งใจนั้นมีความมั่นคงไม่ท้อแท้ เรียกว่าวิจาร  เมื่อเราภาวนาอยู่ว่าอาโป  หรือคำอื่นใดตามที่เลือกฝึกและการภาวนานี้ไม่ย่อหย่อนมั่นคงแน่วแน่เรียกว่าวิจาร ท่านอุปมาไว้เหมือนนกเกาะกิ่งไม้  เกาะอยู่เรียกว่าวิตก  โผบินไปเรียกว่าวิจาร เช่นนั้น  เป็นต้น  แต่ที่เล่ามานี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เราจะต้องมีความตั้งใจรักใคร่ยินดีในการฝึกนี้ว่าจะเป็นทางให้เรารอดพ้นจากชราและมรณาได้  พระภิกษุ  พระฤษี  พระอริยบุคคล  แม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงฝึกเช่นนี้เหมือนกันให้พยายามตั้งใจฝึกฝนอย่างจริงจัง  เช่นนี้วิตกวิจารย์จึงจะเกิดได้เนื่องเพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวทำลายอุทัจกุกกุตจะ  และวิจิกิตฉาให้หมดไป
          คราวนี้มาเล่าต่อเรื่องปิติ  ปิติที่เกิดจะทำให้รู้สึกตัวหนักบ้าง  ตัวเบาบ้างบางคนตังอาจลอยขึ้นจากพื้นจริง ๆ จัง ๆ หากเกิดมีปิตินั้นแก่กล้า  ให้รู้สึกขนพองสยองเกล้า หนาวบ้างร้อนบ้าง  ล้วนเกิดจากปิติทั้งสิ้นปิติที่เกิดนี้มีที่มาจากธาตุต่าง ๆ  ในกายของผู้ฝึกเอง  เป็นต้นว่าตัวหนักเกิดจากปิติจากธาตุดิน  เมื่อเกิดแล้วมิให้พิจารณาถึงให้มั่นอยู่ในการภาวนาประคองจิตไว้เท่านั้นตั้งใจกำหนดอยู่ในดวงนิมิตที่ตนตั้งใจฝึกเท่านั้นปิติก็จะหมดไปเอง  แต่จะอย่างไรก็ตามหากเราฝึกได้ ปิติต้องมี และจงภูมิใจว่าเมื่อปิติมีแล้วแสดงว่า  วิตก  วิจาร  ก็ต้องมี  ก็คือในองค์ปฐมฌานทั้งห้าเราทำได้มาสามแล้ว  เพราะการที่ปิติจะมีได้เราต้องมั่นอยู่ในการภาวนาอย่างแก่กล้าเมื่อเรามีการภาวนาที่แก่กล้ามั่นคงไม่สงสัยแล้ว  วิตก  วิจารย์ก็จะเกิดไปในวาระนั้น  เมื่อปิติเกิดแล้ว  องค์ฌานทั้งสามก็บริบูรณ์  ทีนี้ก็เหลือเพียง  สุข  กับ  เอกัคตา  เท่านั้นก็จะสำเร็จเป็นปฐมฌาน  ขอย้ำไว้สองข้อในเรื่องนี้และเป็นการย้ำอย่างหนักว่าการเกิด  วิตก  วิจาร  ปิตินี้  เป็นการเกิดในมโนวิถีเท่านั้นมิใช่เกิดจากการนึกคิดเอาของปุถุชน  ขอย้ำ  และอีกข้อหนึ่งคือว่าในขณะเวลานี้เราฝึกอยู่ในสมถกรรมฐาน  ในฌานเบื้องต้นทั้งสี่ที่เรียกว่า  รูปฌาน  ดังนั้นฌานที่เราฝึกก็ต้องมีรูปร่าง  ถ้าไม่เห็นอะไรก็คือไม่ได้อะไร  การนั่งได้นานก็คือมีความอดทนสูงกว่าผู้อื่น  แต่ไม่ได้หมายความว่าสำเร็จ  เพราะการนั่งนานแล้วไม่เห็นธรรมวิเศษอันใดแสดงว่าท่านมีความตั้งใจที่ดีเพียงอย่างเดียว  ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าเคยเจอมาด้วยตนเองเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่วัดเขาถล่ม จังหวัดชุมพร สมัยมีเจ้าอาวาสองค์เก่า ที่นั่นมีการนั่งสมาธิกันตอนกลางคืนมีข้าราชการและผู้สนใจมานั่งฝึกกันมาก  โดยมีท่านเจ้าอาวาสนั่งเป็นประธาน  มีพระรูปอื่นอีกหลายท่านมานั่งด้วยหลายรูป พอนั่งนาน ๆ บางรูปเขาเลิกแล้วก็ไม่ลุกขึ้นแถมกรนอีกต่างหาก  ท่านเจ้าอาวาสก็พูดว่าท่านถึงธรรมขั้นลึกมากอยู่แล้วก็หัวเราะ  หลังจากนั่งฝึกกันแล้วก็จะมีการสนธนากันก่อนแยกกลับที่พักของตน   มีข้าราชการบำนาญท่านหนึ่งได้เล่าให้ท่านเจ้าอาวาสฟังว่าท่านนั่งสมาธิได้คราวละนาน ๆ เมื่ออยู่ที่บ้านท่านใช้ธูปเป็นสัญญานจุดไว้หากธูปไม่หมดดอกก็จะไม่ลุกขึ้นจากากรนั่งสมาธิ ตอนนั้นข้าพเจ้าอายุเพียงสิบแปดปี  เพิ่งเริ่มฝึกยังไม่มีความเข้าใจว่าอย่างไรในตอนนั้นมีความคิดว่าท่านผู้นี้เก่งท่านนั่งได้นาน  แต่หากท่านมีความเข้าใจแล้วจะเห็นว่าการนั่งนานโดยมีเครื่องช่วยให้ปลุกตื่นนั้นไม่ถูกต้อง  เพราะการนั่งโดยไม่สามารถกำหนดเวลาที่จะลุกออกจากสมาธิได้เองนั้นเป็นการไม่ชำนาญในวสี  สำหรับผู้ที่ไม่สำเร็จฌานนั้นพอจะละเว้นให้ได้แต่หากเป็นผู้สำเร็จฌานแล้วมันแสดงให้เห็นว่า  ยังฝึกฌานที่สูงขึ้นไปไม่ได้
          วสีห้ามีดังนี้คือ
                                 อาวัชนวสี  ชำนาญในการพิจารณา ถ้าปรารถนาองค์ฌานที่ตนได้   ก็สามารถพิจารณาได้โดยเร็วพลัน
                                 สมาปัชชนวสี  ชำนาญในการที่จะเข้าสู่สมาบัติ  คือการที่เข้าสู้ดวงปฏิภาคนิมิตแล้วเข้าสู่ดวงฌานได้โดยไม่ชักช้าก่อนที่จิตรจะตกภวังค์
                                 อธิษฐานวสี   ชำนาญที่จะรักษาฌานที่เกิดนั้น  มิให้ตกภวังค์ สามารถตั้งฌานอยู่ใด้ตามเวลาที่ปารถนา จะตั้งไว้นานเท่าใดก็ได้ตามนั้น
                                 วุฏฐานวสี  ชำนาญในการจะออกจากชาญ  ตั้งใจไว้ว่าจะออกจากฌานเวลาใดก็ออกได้ตามเวลาที่กำหนดไม่ผิดพลาดตลาดเคลื่อนเวลาไป
                                 ปัจจเวกขณวสี  ชำนาญในการพิจารณา  ดวงจิตรที่พิจารณาองค์ฌานทั้งห้าอยู่ในอาวัชนเรียกว่าปัจจเวกขณ

          เล่ามาถึงตอนนี้แล้วเห็นว่าพระธรรมนี้มีความลึกซึ้งและค่อนข้างเข้าใจยาก  เกรงว่าอ่านแล้วจะไม่เข้าใจ  เพราะที่เล่ามานี้ยังเหลือองค์ฌานอีกเพียงสององค์ก็จะสำเร็จฌานปฐม จึงจะขอเว้นไว้กล่าวส่วนที่เหลือในตอนต่อไป  เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับผู้อ่านจนเกินไป  หวังว่าอานิสงค์ที่เกิดมีจากการให้พระธรรมเป็นทานนี้  บังเกิดมีแล้วขอเจ้ากรรมและนายเวรของข้าพเจ้าจงงดเว้นโทษที่ข้าพเจ้าเคยล่วงเกินเบียดเบียนท่านไว้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงมีแต่ความสุขความเจริญเถิด
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่