۞ ۞::: จุดที่น่าสนใจของกฎหมายการชุมนุม เมื่อกฎไม่ลำเอียง คนใช้ก็ต้องไม่ลำเอียง ::: ۞۞ ไทโรครับ

ราชกิจจานุเบกษา ได้ตีพิมพ์พระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.  2558  เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 และพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ก็คือมีผลตั้งแต่ 14 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไปโดยประมาณ ( ซึ่งการนับวันใช้หลักกฎหมายแพ่ง จะนับเป็นวันที่ 13 หรือ 14 หรือ 15 สิงหาคม 2558 ยังไม่มีเวลาไปทวนสอบ)



ประเด็นสำคัญของกฎหมายนี้ กล่าวถึงการที่ต้องมี “ผู้จัดการชุมนุม” และต้องขอต่อ “ผู้รับแจ้ง” และ“ผู้รับแจ้ง” จะเป็นผู้พิจารณาว่าขัดกฎหมายที่กำหนดในมาตรา7และ8 หรือไม่ นอกเหนือไปจากการที่ให้อำนาจ เจ้าหน้าที่สามารถสลายการชุมนุมที่ถือว่าไม่ถูกกฎหมายได้  และศาลสามารถสั่งริบทรัพย์สินในการชุมนุมนั้นได้


จากการอ่านดูในเบื้องต้นมีข้อน่าสังเกต ที่ขอฝากนำมาเสนอเป็นแง่คิดในห้องราชดำเนิน บางประการดังนี้

۞۞ ۞۞ ۞۞

1.การชุมนุมที่ไม่มี“ผู้จัดการชุมนุม” เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ และเข้าข่ายต้องขอหรือไม่ ใครเป็นคนขอ เพราะในกฎหมายพูดถึงแต่การชุมนุมทีมีผู้จัดการชุมนุม

สมมุติอาทิเช่น มีเหตุการณ์ถล่มตึกในนิวยอร์คอีกครั้ง คนไทยมีสิทธิมาชุมนุมกันหน้าสถานทูตสหรัฐโดยไม่มีผู้จัดหรือผู้นัดแต่มากันเองและไม่กีดขวางทาง เพื่อร่วมแสดงความเสียใจหรือไม่

หรือมีเหตุคนไทยได้ทราบข่าวต่างประเทศถึงการจลาจลในประเทศเพื่อนบ้านมีการทำลายทรัพย์สินของคนไทยที่นั้น คนไทยมีสิทธิมาชุมนุมกันหน้าสถานทูตประเทศนั้นโดยไม่มีใครนัดหมาย แต่ออกมากันเอง เพื่อเป็นการประท้วงไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์แบบนั้นหรือไม่

หรือในอนาคต สภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชน ประชาชนออกมาร่วมตัวกันดัดค้านโดยไม่มีใครนัดหมายเป็นตัวตน ไม่มีผู้จัดเป็นตัวตน แต่พากันออกมาตามกระแสที่มีการส่งต่อทางไลน์ เฟสบุค ที่หน้ารัฐสภา นอกพื้นที่รัฐสภา จะทำได้หรือไม่

หรือดารานักร้องต่างประเทศที่มีแฟนคนไทยอยู่มากมายเกิดเสียชีวิต แฟนคนไทย สามารถออกมาร่วมตัวชุมนุมกันแสดงความเสียใจ ณ ที่ใดที่หนึ่งหรือไม่
ในกฎหมายนี้ ยังหาคำตอบนี้ไม่พบ หากท่านใดอ่านแล้วพบรบกวนให้ความเห็นได้นะครับ

หรือสมมุติในอนาคต ผู้นำพรรคฝ่ายค้านให้สัมภาษณ์ไม่เหมาะสม มีการดูถูกประชาชน ประชาชนไม่พอใจ ต่างออกมารวมกันชุมนุมโดยไม่นัดหมาย แบบนี้จะเป็นไปได้หรือไม่

۞۞ ۞۞ ۞۞


2.การชุมนุมที่มี“ผู้จัดการชุมนุม” กฎหมายกำหนดให้ต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชม. กับ “ผู้รับแจ้ง” คือหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุม และอาศัยดุลยพินิจของ“ผู้รับแจ้ง” ว่าการชุมนุมนั้นขัดต่อมาตรา 7 หรือ มาตรา 8 หรือไม่ (เป็นเรื่องเกี่ยวการชุมนุมนั้น ชุมนุมในสถานที่ต้องห้ามหรือไม่ หรือมกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการของสถานที่สำคัญหรือไม่)


ตรงนี้ดูแล้ว กฎหมายให้ความเป็นกลางคือ การชุมนุมนั้น หากแม้จะเป็นการคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในเวลานั้น “ผู้รับแจ้ง” ก็ไม่มีอำนาจสั่งห้ามการชุมนุม

เพราะอำนาจการสั่งห้ามจะมีได้เมื่อการชุมนุมนั้น ขัดต่อตามมาตรา 7 และ 8 เท่านั้น หากปิดล้อมทางเข้าออกสนามบิน ปิดล้อมสถานที่ราชการ ซึ่งน่าจะรวมคูหาเลือกตั้ง(ซึ่งเป็นอำนาจรัฐมนตรีที่จะสั่งห้ามไม่ให้ปิดบ้อม) ย่อมเป็นข้อห้าม หากหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุม ย่อมมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

เมื่อหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุม สั่งห้ามแล้ว ยังมีการชุมนุมต่อ จะตกเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายทันที


จุดน่าสนใจอยู่ที่ว่า หากมีการชุมนุมนอกมาตรา 7 และ 8 และรัฐมนตรียังไม่สั่งเพิ่มว่าห้ามชุมนุมที่ใด การชุมนุมก็ยังสามารถมีการชุมนุมที่อาจกระทบต่อประชาชนได้ เช่น ไปชุมนุมกันที่แยกอโศก ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่หน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 หน้าสวนลุมพีนี

คาดว่า หากการชุมนุมนั้นไม่ถูกต้อง รัฐมนตรีคงประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมตามกฎหมาย สำคัญแต่ว่าขั้นตอนปฏิบัติจะมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ไม่ใช่ว่าผู้ชุมนุมฝ่ายหนึ่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่อีกฝ่ายมีการหนุนหลังให้ชุมนุมต่อได้ แม้จะผิดต่อกฎหมายใหม่นี้ จนทำให้การชุมนุมที่ผิดกฎหมายแบบนั้น ไม่อาจมีการห้ามดำเนินการควบคุมหรือไม่อาจจะค่อยๆสลายการชุมนุมตามที่กฎหมายหใม่กำหนดให้ทำได้


۞۞ ۞۞ ۞۞


สรุป
หากมีการตีความว่า การชุมนุมสาธารณที่ถูกกฎหมายนั้น จะต้องมีแต่"ผู้จัดการชุมนุม"เท่านั้น ผมขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่เคารพในหลักสิทธิเสรีภาพ พิจารณาเสนอสภานิติบัญญัติเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ให้ออกกฎหมายกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่า การชุมนุม ที่ไม่มี"ผู้จัดการชุมนุม" ที่ประชาชนเขาออกมากันเองนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

หากวันหนึ่งข้างหน้าประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงความเห็นด้วยการชุมนุมเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน เช่นสมมุติ ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์กรบางองค์กรเพื่อให้มีความเป็นธรรมแก่สังคมมากขึ้น แม้จะไม่ปิดล้อมสถานที่ราชการไม่ผิดมาตรา 7 และมาตรา 8 ก็คงไม่มีการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม ทางราชการจึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายใหม่นี้ไม่สั่งระงับสั่งเลิกการชุมนุมที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายนะครับ


เมื่อกฎหมายไม่ลำเอียง คนใช้ก็ต้องไม่ลำเอียง ตำรวจ ทหาร ต้องไม่ลำเอียง ทุกฝ่ายในสังคมก็ต้องไม่ลำเอียง ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไป และคาดหวังว่า จะมีการใช้กฎหมายนี้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน
ไม่ว่ารัฐบาลที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นจะเป็นรัฐบาลจากพรรคใด หรือจากฝ่ายใด
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่