สุชาติ ศรีสุวรรณ : ความเกลียดชังสูงสุด คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป ...มติชนออนไลน์ ../sao..เหลือ..noi

กระทู้คำถาม
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกติกาสูงสุดของการอยู่ร่วมกัน

แม้จะประกาศกันเสียงดังฟังชัดแค่ไหนก็ตามว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนารมณ์4 ประการ
"สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาด หนุนสังคมเป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข"

แต่เท่าที่ฟังการอภิปรายข้ามวันข้ามคืนในสภาปฏิรูปแห่งชาติมาหลายวัน เจตนารมณ์ที่
สัมผัสได้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีแค่เรื่องเดียวคือ "เกลียดชังนักการเมืองที่มา
จากการเลือกตั้งของประชาชน"


ด้วยเจตนารมณ์ซ่อนเร้นไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามทำให้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ยึดโยงอยู่กับ "ภาพอันเลวร้ายของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน"

สิ่งที่พยายามให้เกิดขึ้นคือ

หาทางให้"นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่มีอำนาจในการจัดการบริหารประเทศ"

ไม่ว่าจะเป็นเขียนปิดทางไม่ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีอำนาจเด็ดขาด
เพื่อจะได้จัดตั้ง "รัฐบาลผสม" เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ

กำหนดนโยบายพื้นฐานและภารกิจปฏิรูปสารพัดเรื่องให้รัฐบาลที่อ่อนแอนั้นทำตามอย่าง
เคร่งครัดแทนที่จะเข้ามากำหนดนโยบายบริหารประเทศตามที่ประกาศไว้กับประชาชน

รัฐบาลตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องมีนโยบาย

ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอเพื่อลดบทบาทของผู้แทนราษฎร

ขณะเดียวกันเพื่อควบคุมให้สนิทยิ่งกว่านั้น จึงให้มีบทบาทของ "นักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง"
ซึ่งขอเรียกว่า "นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง หรือที่เรียกให้ดูดีว่าสรรหา" อย่างเต็มที่

ตั้งแต่ "วุฒิสมาชิก" และ "องค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกสารพัด" ที่ไม่เพียงมีอำนาจ
ล้นเหลือ แล้วยังจัดการเอาผิด หรือควบคุม "นักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามา"
ชนิดแทบกระดิกไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้นคือ "ตัดการบังคับบัญชากลไกราชการ" ที่จะเป็นมือไม้ในการ
ปฏิบัติงานอย่างสิ้นเชิง ให้ตั้งคณะกรรมการจัดการข้าราชการกันเอง

และอีกหลายเรื่องราวที่ล้วนแล้วแต่มาจากเจตนารมณ์ที่เกิดจาก
"ความเกลียดชังนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน"

เป็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการลดบทบาทของประชาชนส่วนใหญ่ลงมีการ
ประดิษฐ์วาทกรรม "พลเมือง" ขึ้นมาขาย เพื่อลดความหมายของคำว่า
"ประชาชน" ลง

ดังนั้น ด้วยเจตนารมณ์ที่แท้จริงนี้

หลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ "นักการเมืองจากการ
เลือกตั้งของประชาชน"
จะมีหน้าที่ในการบริหารประเทศ ต้องรับผิดชอบต่อ
การสร้างผลงานการพัฒนาชาติ แต่จะไม่มีอำนาจอะไรเลย ไม่ว่าทั้งอำนาจ
กำหนดนโยบายและบังคับบัญชาให้กลไกราชการทำงาน

เป็น "รัฐบาลเป็ดง่อย" ที่มีแต่ความรับผิดชอบ ทำงานภายใต้การควบคุม
เข้มข้นของ "นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง" ที่ "มากด้วยอำนาจแต่ไม่
ต้องรับผิดชอบ"


โลกที่เชื่อมโยงกันเป็นเนื้อเดียวมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและการเปิดเสรี

"รัฐบาลที่องอาจมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีอำนาจ" เป็นเครื่องมือสำคัญ
สำหรับการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างประเทศ

ในเชิงธุรกิจ ไม่ว่าใครล้วนต้องการคุยกับ "คนที่มีอำนาจตัดสินใจ"

รัฐบาล "เป็ดง่อย" ที่ "รัฐธรรมนูญฉบับนี้" สร้างขึ้นมา

จะมีน้ำยาอะไรให้ประเทศอื่นเชื่อถือ

มีประเทศไหนบ้างที่จะอยากคุยกับรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง

ดังนั้นก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

ประชาชนทั้งประเทศควรมีสิทธิตั้งสติที่จะถามว่า "หลังจากนี้ต่อไปประเทศชาติ
จะเป็นอย่างไร ภายใต้รัฐธรรมนูญที่สะท้อนความเกลียดชัง หมิ่นแคลนการใช้
สิทธิของประชาชนฉบับนี้"


ที่มา :มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2558

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1430049040

สาวแว่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่