รัฐธรรมนูญที่ร่างนานที่สุดและฉีกภายในพริบตา

หลังจากการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ก็ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2502 และก็ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้เลือกจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ก่อความหวังประชาชนที่จะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มนายทหารแค่โยนหินถามทางเท่านั้น เนื่องจากเพื่อลดแรงกดดันจากประชาชนเพื่อที่จะต้องการอยู่ยาว เมื่อนักข่าวไปถามจอมพลสฤษดิ์ในยามอารมณ์ดีก็จะพูดประมาณว่า"ไม่ต้องห่วง ผมตายเขาก็ร่างเสร็จเอง"แต่ถ้าไปถามในยามอารมณ์เสียก็จะประมาณว่า"เสร็จไม่เสร็จมันเกี่ยวอะไรกับรื้อว่ะ" ในเวลานั้นจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ใช้มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครอง ซึ่งทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ จนวันที่ 8 ธันวาคม 2506 จอมพลสฤษดิ์ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคไตเรื้อรัง และพลเอกถนอม กิตติขจรซึ่งภายหลังเป็นจอมพลก็ได้เข้ามาสืบทอดอำนาจแทน ก็ได้มีการยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์แต่รัฐธรรมนูญก็ยังร่างไม่เสร็จจนหลวงสุทธิสารรณกร  ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2511 และนายทวี บุณยเกตุก็ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนจนรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้วประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ซึ่งจะเป็นความหวังของประชาชนที่จะได้เห็นการเลือกตั้งอีกครั้งในรอบกว่า 11 ปี พรรคประชาธิปัตย์ก็กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหลังหายไปตั้งแต่การรัฐประหาร อย่างไรก็ตามมาตรา 139 รัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้ ซึ่งบางฝ่ายมองว่าเป็นการแยกฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารเหมือนประเทศฝรั่งเศสที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีห้ามเป็นสมาชิกรัฐสภา แต่หลายฝ่ายก็มองว่ากลุ่มนายทหารแค่ต้องการสืบทอดอำนาจโดยให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเลือกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น ส่วนจอมพลถนอมนั้นเองก็ได้นำทหารกับข้าราชการจัดตั้งพรรคสหประชาไทลงเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจ จนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 ก็ได้มีการเลือกตั้งขึ้นผลปรากฏว่าพรรคสหประชาไทที่นำโดยจอมพลถนอมได้ ส.ส.ทั้งหมด 75 คน ไม่สังกัดพรรค 72 คน พรรคประชาธิปัตย์ 57 คน ทำให้จอมพลถนอมได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับสมาชิกที่ไม่สังกัดพรรคและได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่จอมพลถนอมก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ส.ส. ส.ว.เรียกร้องผลประโยชน์ที่ตนเคยให้คำสัญญาไว้ จนที่สุดวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมก็ได้ทำการรัฐประหารตัวเอง ฉีกรัฐธรรมนูญที่อาจจะกล่าวได้ว่าร่างมากับมือ ยกเลิกพรรคการเมือง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งรัฐประหารครั้งนี้เป็นจุดชนวนทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาในที่สุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่