ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง เรื่องสุญญตา

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า เรื่องสุญญตา (ความว่าง) นั้นเป็นเรื่องเหนือวิสัยของคนทั่วไปที่จะเข้าใจได้ ดังนั้นจึงไม่สนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติ เพราะคิดว่าไม่เป็นประโยชน์กับชีวิตของผู้ครองเรือน

แต่ความเป็นจริงนั้นเรื่องสุญญตานั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ และเป็นเรื่องที่ทุกคนควรเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราทุกคนควรรู้ และเข้าใจ ตลอดจนเห็นแจ้ง เพราะจะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตอย่างที่สุด ซึ่งประโยชน์นั้นก็คือความทุกข์ของจิตใจ ที่เกิดขึ้นจากความเห็นผิดว่ามีตัวตนอยู่ในชีวิตของเรานี้ ก็จะลดน้อยลงเพียงแค่เข้าใจแล้ว และถ้าได้มีการปฏิบัติเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถที่จะทำให้ความทุกข์นี้เหลือเพียงบางเบาได้จนตลอดชีวิต  

เรื่องสุญญตา ก็คือคำสอนเรื่องว่าทุกสิ่งนั้นว่างจากตัวตนของมันเอง ซึ่งการศึกษาเรื่องสุญญตานี้จะต้องใช้เหตุผลและความจริงจากสิ่งที่มีอยู่จริงตามหลักวิทยาศาสตร์มาศึกษา จึงจะเกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง จะใช้การคาดเดาหรือเชื่อตามคนอื่นไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่เข้าได้อย่างถูกต้อง โดยการศึกษานั้นเราก็ต้องมาพิจารณาดูว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานี้ ล้วนจะต้องอาศัยสิ่งอื่นมาร่วมกันปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบหรือทำ) ให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น คือสรุปง่ายๆว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัย (เหตุย่อยๆที่มาสนับสนุน) มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น โดยสิ่งที่เราจะต้องนำมาพิจารณาถึงความเป็นสุญญตานี้ก็คือร่างกายและจิตใจของเราเอง

โดยร่างกายจะต้องอาศัยอาหาร น้ำ ความร้อน และอากาศบริสุทธิ์ มาเป็นเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นร่างกายจริงๆ (อัตตา ตัวตนที่แท้จริง หรืออมตะที่จะมีอยู่ไปชั่วนิรันดร) นั้นไม่มี จะมีก็เพียง “สิ่งปรุงแต่ง” ที่เรามาสมมติเรียกว่าเป็นตัวตนชั่วคราวเท่านั้น (ร่างกายชั่วคราวก็คือมันก็มีตัวตนเหมือนกัน แต่เป็นเพียงชั่วคราวเท่าที่ดิน น้ำ ความร้อน และอากาศยังปรุงแต่งให้เป็นร่างกายอยู่เท่านั้น) ซึ่งตัวตนชั่วคราวนี้เองที่เรียกว่า อนัตตา ที่หมายถึง ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะมันเป็นแค่เพียงสิ่งปรุงแต่งเท่านั้น ซึ่งนี่คือความเข้าใจว่าร่างกายเป็นสุญญตา คือว่างจากความเป็นร่างกายของมันเองจริงๆ  

ส่วนจิตใจที่รู้สึกว่าเป็นตัวเราอยู่นี้ ก็ต้องอาศัย วิญญาณขันธ์ (การรับรู้ที่เกิดตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงชั่วขณะเท่านั้น), สัญญาขันธ์ (การที่จำสิ่งที่รับรู้ได้), เวทนาขันธ์ (ความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับรู้), และสังขารขันธ์ (การปรุงแต่งของจิต เช่น ความคิด ความอยาก ความยึดถือ) มารวมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงจะหาตัวตนของเราเองจริงๆไม่มี (จิตเป็นสุญญตา คือ ว่างจากตัวเรา) ส่วนความรู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้ แท้จริงมันก็ไม่ใช่ตัวเรา (จิตใจเป็นอนัตตา) เพราะมันต้องอาศัยเหตุและปัจจัย (คือวิญญาณขันธ์ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ และสังขารขันธ์) มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ถ้าร่างกายแตกหรือตายไป วิญญาณขันธ์ก็จะดับหายไป (เพราะวิญญาณจะเกิดขึ้นมาชั่วขณะตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกายที่ยังไม่ตายเท่านั้น) แล้วก็จะทำให้ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ และสังขารขันธ์ พลอยดับหายตามไปด้วยทันที ซึ่งนี่คือพื้นฐานของทุกจิต ไม่ว่าจิตนั้นจะบริสุทธิ์จากกิเลสหรือมีกิเลสครอบงำอยู่ก็ตาม

ส่วนเรื่องที่ว่าจิตใจนี้ถ้ายังมีกิเลสอยู่แล้วร่างกายตายไป จิตใจจะไม่ดับหายไปไหน แต่มันจะเกิดขึ้นมาใหม่ได้ในร่างกายใหม่ จนทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่านั้น ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้ามาช้านานแล้วโดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว

นี่คือการพิจารณาร่างกายและจิตใจโดย ใช้เหตุใช้ผลจากสิ่งที่เรามีอยู่จริงมาพิจารณา เพื่อให้เข้าใจว่ามันเป็นสุญญตา คือไม่ได้มีตัวเราอยู่ในร่างกายและจิตใจนี้จริงๆเลย หรือในร่างกายและจิตใจนี้ไม่ได้มีตัวเราจริง และเมื่อเราเข้าใจดังนี้แล้ว เราก็ต้องนำความเข้าใจนี้มาเพ่งดูจากร่างกายและจิตใจของเราเอง (ตามที่สมมติเรียก) อย่างตั้งใจ (คือด้วยสมาธิ) อย่างต่อเนื่อง (คือใช้ความเพียร)  จิตใต้สำนึกมันก็จะยอมรับความจริง เมื่อมันยอมรับความจริงแล้วมันก็จะค่อยๆคลายความยึดถือว่าจิตใจนี้คือตัวเราและร่างกายนี้คือร่างกายของเราลง (แม้เพียงชั่วคราว)

เมื่อจิตไม่มีความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวเรา-ของเรา ความทุกข์ของจิตใจที่เกิดมาจากความยึดถือว่า “มีตัวเราที่กำลังมีความต่ำต้อยต้อยเกียรติ, มีตัวเราที่กำลังเหนื่อยอยากลำบาก, มีตัวเราที่กำลังแก่, มีตัวเราที่กำลังเจ็บ, มีตัวเราที่กำลังจะตาย, มีตัวเราที่กำลังพลัดพรากจากคนรักหรือสิ่งที่รักอยู่, มีตัวเราที่กำลังประสบกับคนหรือสิ่งที่น่าเกลียดหรือน่ากลัวอยู่, และมีตัวเราที่กำลังผิดหวังอย่างแรงอยู่” เป็นต้น ก็จะดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์มันก็จะสงบเย็นหรือนิพพาน (แม้เพียงชั่วคราว) และถ้ามีการปฏิบัติเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่องนานๆ จนความเคยชินที่จะเกิดความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้เป็นตัวเรา-ของเรา ได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นไปจากจิตใต้สำนึกอย่างถาวร จิตนี้ก็จะนิพพานได้อย่างถาวร (คือตลอดชีวิต)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่