นักท่องตำราที่ขาดการปฏิบัติจะยึดเอาแต่ “อัสสุตวาสูตร”

การศึกษาพระไตรปิฏกควรอ่านหลายพระสูตรมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ต่างกรรม ต่างวาระตั้งแต่

1.จิตดั้งเดิมหรือจิตเดิมแท้ (จิตต้นกำเนิด)
2.จิตปุถุชนที่เคลือบด้วยกิเลส
3.จิตที่ถูกขัดเกลาด้วยศีล สติ สมาธิ วิปัสสนา
4.จิตวิมุติหลุดพ้น จิตพระอรหันต์
5.อมตธาตุ อมตธรรม จิตน้อมลงในพระนิพพาน

นักท่องตำราที่ขาดการปฏิบัติให้เห็นจิตจริงๆ จะยึดเอา “อัสสุตวาสูตร” ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึง จิตปุถุชนที่เคลือบด้วยกิเลส คือ “จิต” ทั้งหมด ไม่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างจิตปุถุชนกับจิตวิมุติหลุดพ้น และอมตธาตุ

ถ้าจะให้ดีที่สุดควรลงมือปฏิบัติให้เห็นจิตจริงๆ


1. จิตเดิมแท้ผุดผ่อง เป็นประภัสสร แต่เศร้าหมองด้วยกิเลส อวิชชาที่จรมา ดั่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า

  [๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา ฯ
  [๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง และจิตนั้นแล พ้นวิเศษแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา ฯ
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

2.เมื่อจิตถูกกิเลส อวิชชาครอบงำเป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) เมื่อมีสังขารเป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ (อาการรู้ของจิตผ่าน อายตนะทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นตัวเชื่อมระหว่างจิตและกาย) เมื่อมีวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป หรือ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ดั่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า

          ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
             ‘ภิกษุทั้งหลาย ปฏิจจสมุปบาท๑- เป็นอย่างไร
             คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
             เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
             เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
             เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
             เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
             เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
             เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
             เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
             เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
             เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
             เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความ
คับแค้นใจ) จึงมี
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค

3. เพราะกิเลส อวิชชา ทำให้จิตไปหลงว่า นามรูป หรือ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ คือ จิต ทำให้เวียน ว่าย ตาย เกิด ในวัฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด ธรรมชาติของขันธ์ 5 เป็นไปตามกฏไตรลักษณ์ เกิดขั้น ตั้งอยู่ ดับไปตลอดเวลา เมื่อจิตไปยึดขันธ์ 5 เป็นจิต จิตจึงเกิด ดับ ตลอดเวลาตามอารมณ์ที่มากระทบจิตผ่านขันธ์ 5 โดยมีวิญญาณ เป็นตัวเชื่อมระหว่างจิตและกาย จิตปุถุชน ยังหลงในกายในขันธ์ 5 พระพุทธเจ้า เรียก จิต มโนและวิญญาณ คือ สิ่งเดียวกัน ดั่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า
อัสสุตวาสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่ได้สดับ
             [๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ... “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ๑- พึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง
หลุดพ้นบ้าง จากกายซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร
             เพราะเหตุที่การประชุมก็ดี ความสิ้นไปก็ดี การยึดถือก็ดี การทอดทิ้งกาย ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ก็ดี ย่อมปรากฏ เพราะฉะนั้น ปุถุชนผู้ไม่ได้ สดับพึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง จากกายนั้น
             ตถาคตเรียกสิ่งนี้ว่า ‘จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง’ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่อาจ เบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นไปจากจิตเป็นต้นนั้นได้
           ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะจิตเป็นต้นนี้ ถูกรัดไว้ด้วยตัณหา ยึดถือว่าเป็นของเรา เป็นสิ่งที่ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับยึดมั่นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ ตลอดกาลนาน เพราะฉะนั้น ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ จึงไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นไปจาก จิตเป็นต้นนั้นได้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต] ๗. มหาวรรค ๑. อัสสุตวาสูตร

4. การเจริญสมาธิและวิปัสสนา เพื่อเป็นเครื่องเผากิเลส อวิชชา ให้หมดไป ทำให้จิต เบื่อหน่ายคลายกำหนัดในขันธ์ 5 หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส (ละสังโยชน์)  เป็นไปไม่ได้เลยผู้ไม่บำเพ็ญสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์แล้วจักละสังโยชน์ ทำพระนิพพานให้แจ้งได้ ดั่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า

    ในอรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ สัททสูตร กล่าวว่า สมาธิชื่อว่า เจโตวิมุตติ เป็นผลของสมถะ และที่สมาธิได้ชื่อว่าเจโตวิมุตติเพราะพ้นจากราคะ
          ปัญญาชื่อว่าปัญญาวิมุตติ เป็นผลของวิปัสสนา และที่ปัญญาได้ชื่อว่าปัญญาวิมุตติ เพราะพ้นจากอวิชชา

๖๘] ภิกษุทั้งหลาย
             ๑. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่ ประกอบความชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ เป็นผู้ชอบคณะ๒-
ยินดีในคณะ ประกอบความยินดีในคณะ จักยินดีในปวิเวกตามลำพังได้
             ๒. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ยินดีในปวิเวกตามลำพังจักถือเอานิมิตแห่งจิตได้
             ๓. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ถือเอานิมิตแห่งจิต จักบำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์ได้
             ๔. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ได้
             ๕. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่บำเพ็ญสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์แล้วจักละสังโยชน์ได้
             ๖. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ยังละสังโยชน์ไม่ได้แล้ว จักทำให้แจ้งนิพพานได้
             ภิกษุทั้งหลาย

สังคณิการามสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒

5.  เมื่อจิตวิมุตติหลุดพ้น เบื่อหน่าย คลายกำหนัดในขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เพราะจิตเบื่อหน่าย คลายกำหนัดจากขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ----->จิตจึงหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย------> เพราะหลุดพ้น จิตจึงตั้งมั่นดำรงอยู่ -------> เพราะจิตดำรงอยู่ ------> จิตยินดีพร้อมไม่สะดุ้ง ------>ย่อมดับรอบ (ปริพพาน) เฉพาะตน
ดับรอบ คือ ปรินิพพาน แปลว่า สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว, ภาวะที่เป็นสุขสูงสุด เพราะไร้กิเลสไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพสมบูรณ์

[๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจิตของภิกษุคลายกำหนัดแล้วจากรูปธาตุ หลุดพ้นแล้ว
จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. ถ้าจิตของภิกษุคลายกำหนัดแล้วจากเวทนาธาตุ ... จากสัญญาธาตุ ... จากสังขารธาตุ ... จากวิญญาณธาตุ หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. เพราะหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

6.  จิตหลุดพ้นจากกิเลส อวิชชา ด้วย กลายเป็น นิพพานธาตุ อมตธาตุ อมตธรรมในพระนิพพาน จิตไม่ได้ดับสูญ ดั่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง ฯลฯ เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง ฯลฯ เพราะ
อาศัยจตุตถฌานบ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอย่อมพิจารณา เห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะ แห่งจตุตถฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ... ว่างเปล่า เป็น อนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ...นิพพาน เธอตั้งอยู่ในจตุตถฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมเป็นอุปปาติกะ จักปรินิพพาน ในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบ เหมือนนายขมังธนู หรือลูกมือของนายขมังธนู เพียรยิงธนูไปยังรูปหุ่นที่ทำด้วย
หญ้าหรือกองดิน ต่อมาเขาเป็นผู้ยิงได้ไกล ยิงไม่พลาด และทำลายร่างใหญ่ๆ ได้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล บรรลุจตุตถฌาน
ฯลฯ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา ฯลฯ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความ
สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยจตุตถฌานบ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยข้อนี้ กล่าวแล้ว ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่