รูปาวจรภูมิ – อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ ภาคที่1

กระทู้สนทนา
(พระป่า)  ข้าพระองค์ขอนอบน้อม  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครู ตรัสรู้ชอบเองแล้วจึงได้นามว่า โลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก บัดนี้ข้าพระองค์จะวินิจฉัยใคร่ครวญ  ในเรื่อง  รูปาวจรภูมิ – อรูปาวจรภูมิ  และโลกุตตรภูมิข้าพระองค์  ขออัญเชิญพระปัญญาคุณของพระองค์  จงมาดำรงในดวงจิตของข้าพระองค์ ผู้บรรยายธรรม  เรื่อง รูปาวจรภูมิ – อรูปาวจรภูมิ  และโลกุตตรภูมิอย่าได้ผิดพลาด จากโอวาทคำสอน  เพื่อให้เป็นประโยชนโสตถีผล แก่พุทธศาสนิกชนทุกถ้วนหน้า  ดำเนินความตามคำพระโบราณาจารย์ที่ท่านกล่าวไว้เป็นภาษิตย่อ ๆ  เป็นหัวข้อที่ควรจำ  ถ้าหากผิดพลาดขอปราชญ์ทั้งหลายจงได้แต้มเติม   อย่าได้ส่อเสริมนินทา  แก่ข้าพเจ้าผู้มีปัญญาน้อยด้วยเทอญฯ

รูปาวจรภูมิ – อรูปาวจรภูมิ  และโลกุตตรภูมิ
รูปาวจรภูมิ
            แต่นี้   จักแสดงรูปาวจรภูมิ  ซึ่งเป็นธรรมของพรหม  ผู้จะไปบังเกิดในพรหมโลก 16 ชั้น ต้องเป็นผู้มีธรรมของพรหมประจำใจไว้ก่อนในโลกนี้  (คือตัวปัจจุบัน)  ถ้าไม่มีธรรมของพรหมประจำใจไว้แล้ว  จะปรารถอยากไปก็ไปไม่ได้  เปรียบเหมือนผู้จะไปสู่ประเทศนอกก็ต้องมีค่าพาหนะเพียงพอจึงจะไปได้   พรหมธรรมคืออะไร  คือรูปาวจรภูมิอันจะพึงกล่าวต่อไปในบัดนี้  แต่ผู้ที่จะประพฤติธรรมของพรหม  ต้องเป็นผู้มีมนุษยธรรมและเทวธรรมให้เต็มบริบูรณ์ก่อนจึงจะประพฤติธรรมของพรหมได้
             เปรียบเหมือนผู้จะสร้างบ้านสร้างเรือน  จะต้องตั้งต้นเสาขึ้นก่อน  จึงจะเอาสัมภาระเหล่านั้นขึ้นได้  ถ้าไม่มีต้นเสาหรือต้นเสาหักพัง  สัมภาระเหล่านั้นก็ล้มสลายหมด ผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติเป็นลำดับขั้นขึ้นไปแต่ขั้นต่ำถึงขั้นสูงสุด   ดุจขึ้นบันไดทีละขั้น  ถ้าจะเทียบการเดินทาง  ก็ต้องเดินจากมนุษย์ขึ้นไปสวรรค์เลยสวรรค์ขึ้นไปจึงจะถึงพรหมโลก  ดังจะแยกข้อปฏิบัติออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติและเห็นเป็นส่วน ๆ คือ
รูปาวจรภูมิที่พ้นจากกาม   เป็นคนโสดไม่มีหญิงไม่มีชายเป็นส่วนนิรามิสสุข  เป็นสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส   เป็นสุขอิงเนกขัมมะ คือ  การออกบวช  ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ก็ต้องให้สมาทานศีลแปดให้เป็นพื้นที่ก่อน  จึงจะประพฤติธรรมของพรหมได้  ศีล 5 เป็นกามาวจรภูมิ  เป็นมนุษยธรรม  เป็นสามิสสุข   เป็นสุขเจืออยู่ด้วยอามิส
             ส่วนศีล 8  เป็นนิรามิสสุข  เป็นศีลที่ให้ออกจากอามิส  เช่น  ไม่ให้ประพฤติอสัทธรรม  ไม่ให้รับอาหารในเวลาวิกาล เป็นต้น  เพื่อจะให้ออกจากสามิสสุข  เพื่อจะให้ได้ กายวิเวก  ก่อน  ถ้าไม่ได้กายวิเวก  จิตวิเวก  เกิดไม่ได้  เปรียบเหมือนปลูกต้นไม้ต้องอาศัยพื้นที่  ศีลอันให้สำเร็จกายวิเวกเปรียบเหมือนพื้นที่  สมาธิอันให้สำเร็จจิตวิเวกเปรียบเหมือนต้นไม้  เมื่อเป็นดังนี้  ผู้รักษาศีลอย่างเดียวจิตวิเวกยังเกิดไม่ได้ก่อน  ต้องทำสมาธิให้เกิดก่อน  จึงจะถึงธรรมของพรหม      
              ผู้ที่ให้ทานและรักษาศีล 5  ไหว้พระสวดมนต์  เป็นกามาวจรภูมิ ยังมี  กายจมอยู่ในกามทั้งมีใจจมอยู่ในกาม  ถึงจะได้รับทุกขเวทนาอันเกิดแต่ความเพียรก็ตามจะไม่ได้รับทุกขเวทนาอันเกิดแต่ความเพียรก็ตาม  ก็ไม่สามารถจะตรัสรู้ได้  เปรียบเหมือนไม้สดทิ้งอยู่ในน้ำ  บุรุษต้องการไฟก็สีเอาไม่ได้
        
ผู้ที่รักษาศีล 8  หรือศีล 10  ศีล 227  นับว่าผู้นั้นมีกายหลีกออกจากกามแล้ว  แต่ยังมีใจจมอยู่ในกาม  ถึงจะได้รับทุกขเวทนาอันเกิดแต่ความเพียรก็ตามจะไม่ได้รับทุกขเวทนาอันเกิดแต่ความเพียรก็ตาม  ก็ไม่สามารถจะตรัสรู้ได้  เปรียบเหมือนไม้สดทิ้งอยู่บนบก  บุรุษต้องการไฟก็สีเอาไม่ได้        
              ผู้ที่มีศีล 8  เป็นต้น  และทั้งทำจิตใจให้หลุดพ้นจากกาม  ถึงจะได้รับทุกขเวทนาอันเกิดแต่ความเพียรก็ตามจะไม่ได้รับทุกขเวทนาอันเกิดแต่ความเพียรก็ตาม  ก็สามารถตรัสรู้ได้  เปรียบเหมือนไม้แห้งที่ทิ้งอยู่บนบก  บุรุษต้องการไฟก็สีเอาได้ตามปรารถนา
              เมื่อรู้จักจุดประสงค์ในข้ออุปมานี้แล้ว  ผู้ปฏิบัติพึงชำระศีลให้บริสุทธิ์  พร้อมทั้ง ละความกังวลทุกอย่าง  แล้วให้หา  สถานที่วิเวก  ปราศจากอารมณ์เครื่องคู่  ตาไม่ให้เห็นรูป  หูไม่ให้ได้ยินเสียง  เป็นต้น  หรือเวลาดึกสงัด  จึงจะทำ จิตวิเวก  ให้เกิดขึ้นได้ง่าย  ถ้าอยู่ที่อึกทึกครึกโครม  เช่น ทำสมาธิที่หน้าโรงหนัง  คงทำไม่ได้  จะได้เฉพาะผู้ชำนาญ  หรือผู้ชำนาญแล้วก็จะทำได้เพียง อุปจารสมาธิ  เป็นกามาวจรภูมิเท่านั้น
              จะทำสมาธิให้ถึงขั้นอุปปนาสมาธิอันเป็นรูปาวจรภูมิย่อมไม่ได้เพราะอึกทึกครึกโครมเป็นส่วนกามารมณ์ทั้งสิ้น  ถึงออกไปจากที่เช่นนั้นเข้าไปสู่ที่สงัดแล้วจิตวิเวกก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้  เพราะทุก ๆ คน ย่อมเรียนเอากามาวจรจิตเข้าไว้ในตัวทุก ๆ คน  จนกลายเป็น  อุปาทานการเข้าไปยึดถือ  การรักษาศีลจะรักษาให้ดีเท่าใดก็ตาม  ก็กำจัดได้แต่กิเลสอย่างหยาบอันเกิดขึ้นทางกาย  ทางวาจา  อันเรียกว่า   วิติกะมะโทษ  เท่านั้น

นิวรณ์  5  เปรียบเหมือนโรคเกิดทางใจ
       หรือศีลส่วนเนกขัมมะ  คือออกจากกามแล้วก็ตาม  ออกได้แต่เพียงกายให้ได้กายวิเวกเท่านั้น  ส่วนใจยังเกี่ยวข้องในกามอยู่   ท่านจึงเรียกว่า  ปริยุฏฐานกิเลส  จัดเป็นกิเลสอย่างกลาง   เรียกว่า  นิวรณ์ 5  กายของเราหลีกจากกามไปแล้ว  แต่ใจยังยินดีอยู่ในกามอยู่จึงเรียก  กามฉันทะ  ความพอใจในกาม
         เมื่อความพอใจในกามมี  พยาปาทะ  ความพอใจในพยาบาทก็มี   เราไม่รับอาหารในเวลาวิกาล  ไม่ฟังขับฟังร้องของประโลมโลก  ไม่นั่งนอนในเตียงต่อสูงเกินประมาณ  และที่นอนใหญ่อันยัดด้วยนุ่นและสำลี  เป็นการกำจัด  ถีนมิทธะ  ความง่วงเหงา  ตัว  อุทธัจจะ  ความฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์  ตัว วิจิกิจฉา  ความไม่ตกลงใจ  นิวรณ์ธรรมทั้ง 5 อย่างนี้  เป็นเครื่อง  กั้นจิต  ไม่ให้บรรลุคุณความดี
         การกระทำ  สมาธิ  ก็เพื่อจะปราบนิวรณ์  เหล่านี้  ซึ่งเป็นตัวกิเลสอย่างกลาง  เมื่อเป็นดังนี้  ผู้จะทำสมาธิจึงควรตรวจดูนิวรณ์ให้รู้ว่าใจของเรามีอะไรครอบงำ  นิวรณ์ทั้ง 5 นี้  เปรียบเหมือนโรคอันเกิดขึ้นในใจของเรา  ส่วนพระกรรมฐานเปรียบเหมือน  ยาแก้โรคจึงควรเลือกเอากรรมฐานอันเป็นคู่ปรับกับนิวรณ์นั้น ๆ    
ก็  สมถกรรมฐาน  คือ  อุบายเครื่องสงบใจ  ท่านแสดงไว้ 40  ประการ  อันมีอยู่ในตำหรับตำรา  ใครก็เคยได้ยินได้ฟังอยู่แล้ว แต่ที่มีมากก็ไม่ใช่ว่าจะให้เจริญทุกข้อให้เลือกเอาให้ถูกกับจริตของตน  และให้เป็นคู่ปรับกับนิวรณ์นั้น ๆ  แล้วแต่อุบายของใคร  

                  จุดประสงค์คือจะให้หลุดพ้นจากความคิด  ความคิดเกิดจากนิวรณ์เข้าครอบงำใจ    ใจจึงต้องมีความคิด  เมื่อความคิดดับลง  จิตก็หลุดพ้นจากความคิดจึงเรียกว่า  จิตวิเวก  สงบจากนิวรณ์  เข้าถึงขั้น  อัปปนาสมาธิ  จิตจะเข้าถึงอัปปนาสมาธิ  ย่อมอาศัยการเจริญกรรมฐาน  กรรมฐานในมหาสติปัฏฐานที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า เป็นหนทางอันเอก  ใครก็เคยได้ยินได้ฟังกันมากแล้ว        
               เมื่อมาไตร่ตรองดูใน  กรรมฐานทั้งปวงแล้วจุดประสงค์ก็คือ  จะให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง  กรรม  แปลว่า การกระทำ  ฐาน แปลว่าที่ตั้ง  ใครอยากจะตั้งไว้ในฐานอันใด  ก็แล้วแต่ความชอบใจ  ข้อสำคัญขอแต่ให้จิตขอเราแน่วแน่อยู่ในฐาน  อันนั้นก็แล้วกัน  ถ้าใครตั้งไว้ได้นาย  จิตของผู้นั้นก็สงบมาก  ถ้าใครตั้งไว้ไม่ได้นานจิตของผู้นั้นก็สงบน้อย  กรรมะ  แปลว่า  การกระทำจึงให้ ทำ ให้ได้ มาก ๆ  ดังพวกหาทรัพย์ภายนอกถ้าเขาทำงานได้มาก  เขาก็ได้ทรัพย์มาก  ถ้าทำงานได้น้อยก็ได้ทรัพย์น้อย  ถ้าขี้เกียจไม่ทำเสียเลย  ก็เป็นคนจนทรัพย์  ทั้งทรัพย์ภายในทั้งทรัพย์ภายนอกเกิดจากการกระทำทั้งสิ้น  ใครจะทำทางไหนก็ตาม  ข้อสำคัญขอแต่ให้ได้เงินมาก ๆ ก็แล้วกันฉันใด    
               ผู้กระทำกรรมฐาน  อยากจะทำกรรมฐานไหนก็แล้วแต่ความสะดวก  ถ้าจิตหลุดพ้นได้ในกรรมฐานไหนก็พึงทำในกรรมฐานนั้นเถิด  กรรมฐานอื่น ๆ  นักปฏิบัติทั้งหลายเคยได้ปฏิบัติกันมามากแล้ว  ถ้าใครได้ประโยชน์ในกรรมฐานไหน  ก็ให้ทำในกรรมฐานนั้นเถิด  แต่ถ้าใครยังไม่ได้  หรือได้แต่ได้ยากหรือได้น้อยไม่สะดวกแก่การปฏิบัติ  อยากจะชวนให้มาเดินทางลัด  ทั้งข้อปฏิบัติก็ปฏิบัติได้ทุกเวลา  ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา  ไม่เลือกสถานที่  ทำได้เป็นนิจ  ทั้งรู้ได้เร็ว  แต่การได้การถึงนั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของวาสนาบารมี  ของใครของมัน  ก็กรรมฐานที่จะนำมาแสดงในที่นี้  มีที่ตั้งอยู่เพียง 7 ฐาน  เท่านั้นคือ
มหาฐาน 7
ฐานที่  1  ให้เพ่งดูหทัยวัตถุ
ฐานที่  2  ให้ดูจุดประสงค์  จุดประสงค์คือให้วางความคิด
ฐานที่  3  ไม่ให้ติดอยู่ในความรู้  อันผ่านมาทางทวารทั้ง 6
ฐานที่  4  ให้เอาสติเป็นนายประตู  ดูทวารทั้ง 6
ฐานที่  5  ให้อยู่กับความไม่ถือมั่น
ฐานที่  6  ให้เลือกเฟ้นแห่งไตรลักษณ์สาม
ฐานที่  7  ให้ถามถึงผู้ไม่ตาย 4  ( เครื่องสอบผลจิต )

คำอธิบายในฐานที่ 1
ที่ให้เพ่งดูหทัยวัตถุ
    เพราะหทัยวัตถุเป็นที่ประชุมแห่งสังขาร   สังขารทั้งหมดมารวมอยู่ที่หทัยวัตถุทั้งสิ้น  ก็สังขารทั้งสิ้นคืออะไร  คือ
กายสังขาร 1  วจีสังขาร 1  จิตสังขาร 1  ปุญญาภิสังขาร 1  อปุญญาภิสังขาร 1  อเนญชาภิสังขาร 1  รวมทั้งหมดเป็น 6 ย่อ  เข้าให้ให้สั้น  กายสังขาร เอาไว้คงเดิม  สังขารนอกนั้นสงเคราะห์เข้าใน  จิตสังขาร  รวมให้สั้นคงมีแต่กายสังขารและจิตสังขาร  สองอย่างเท่านี้  หทัยวัตถุ  เป็น กายสังขาร
             เมื่อกำหนดรู้เพ่งดูหทัยวัตถุสงเคราะห์เข้าใน   กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  เมื่อสังขารภายนอกเข้ามา  กระทบกาย  ทั้งภายนอกภายใน  เรียกว่า  ผัสสะ  เข้ากระทบ  จะกระทบทางไหนก็ตาม  เวทนา  คือความสุข  ทุกข์  ไม่สุขไม่ทุกข์  ย่อมบอกให้เรารู้ที่หทัยวัตถุ  ส่วน  ความนึกคิด  ที่เรียกว่า จิตสังขาร  ก็เกิดขึ้นที่หทัยวัตถุ  เมื่อหทัยวัตถุหนักเข้าจะเห็น  ธรรมชาติของกาย  และธรรมชาติของใจ  จะมีการเปลี่ยนแปลงยักย้าย  คือ  เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ดับไป  เมื่อเห็นความเกิดความดับแห่งสังขาร  ก็สงเคราะห์ลงในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ผู้ที่เพ่งดูหทัยวัตถุ  จึงนับว่าได้เจริญมหาสติปัฏฐานทั้ง 4  ให้บริบูรณ์  เมื่อ   ผู้บำเพ็ญเพ่งดูในเวลาใดเวลานั้นเป็นวิชา  เวลาไหนไม่ได้เพ่ง  เวลานั้นเป็น อวิชา
เจตสีกธรรม  52  เปรียบเหมือนธาตุต่าง ๆ  เมื่อมีอวิชา  ความไม่รู้เท่าสังขาร  สังขารจึงมาปรุงแต่ง  เมื่อจะกล่าวถึงสังขารที่มาปรุงแต่ง
•    ปุญญาภิสังขาร  อย่าง 1  
•    อปุญญาภิสังขาร อย่าง 1
•    อเนชาภิสังขาร อย่าง 1
ปุญญาภิสังขาร   หมายเอา  โสภณเจตสิก  25
อปุญญาภิสังขาร หมายเอา  อกุศลเจตสิก  14
อเนชาภิสังขาร    หมายเอา  อัญญสมานาเจตสิก  13
         รวมกันเข้าเป็น 52  เจตสิก 52 นี้  เปรียบเหมือนธาตุต่าง ๆ เช่น  ธาตุเผ็ด  ธาตุเค็ม  ธาตุเปรี้ยว  ธาตุหวาน  ธาตุเบื่อ   ธาตุเมา  ธาตุเหล่านี้มีทั้งคุณมีทั้งโทษ  ถ้าใครไม่รู้ไปดื่มเอาธาตุเบื่อธาตุเมา  ก็เบื่อ ก็เมา  ตามสัญชาติของธาตุนั้น ๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่