ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริงเรื่องศีล

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ศีลอันเป็นหลักพื้นฐานในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์หรือพ้นทุกข์ (นิพพาน) นั้นมีมากมาย หรือละเอียดอ่อนจนผู้ครองเรือนไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงทำให้ผู้ที่คิดจะศึกษาและปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์เกิดความท้อถอยเพราะคิดว่าคงไม่สามารถปฏิบัติตามได้

    แต่ในความเป็นจริงแล้วศีลของอริยสัจ ๔ นี้มีเพียง ๗ ข้อเท่านั้น คือ ศีล แปลว่า ปกติ คือหมายถึงความปกติของจิต คือถ้าไม่มีศีล จิตก็จะดิ้นร้น ไม่สงบ หรือไม่มีความปกติ ซึ่งความปกติของจิตนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้ามีการปฏิบัติกายและวาจาอย่างถูกต้องหรือดีงามอยู่เสมอ ซึ่งการปฏิบัตินั้นก็ได้แก่การมีเจตนาที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งกามารมณ์ (สิ่งของน่ารักน่าใคร่โดยเน้นไปที่เรื่องเพศตรงข้าม) ของผู้อื่น และการมีเจตนาที่จะไม่พูดโหก คำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ

    ศีลทั้ง ๗ ข้อนี้ก็มีพื้นฐานมาจากศีล ๕ นั่นเอง คือถึงแม้จะไม่บอกว่าห้ามดื่มสุราหรือเสพของมึนเมา แต่ว่าการที่จะไม่พูดโกหก คำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อได้นั้น ก็ต้องมีสติคอยระวังอยู่เสมอว่าจะไม่เผลอพูดคำเหล่านี้ ซึ่งการที่จะมีสติได้ก็ต้องไม่ดื่มสุราหรือเสพสิ่งเสพติด เพราะการดื่มสุราหรือเสพสิ่งเสพติดนั้นจะทำให้ขาดสติได้

    การมีศีลหรือการรักษากายและวาจาให้ถูกต้องนี้ สรุปแล้วก็คือการไม่ทำความผิดหรือชั่วนั่นเอง ซึ่งการไม่ทำความผิดหรือชั่วนี้ก็คือพื้นฐานของการเป็นคนดีของสังคมนั่นเอง เมื่อเป็นคนดีก็จะทำให้จิตใจปกติสุขเพราะไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีคนรู้ว่าเราทำผิดหรือชั่ว หรือหวาดกลัวว่าจะถูกจับได้แล้วจะต้องได้รับโทษ ซึ่งถ้าเราปรารถนา (ความอยากที่ดีงาม) ที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ (แม้เพียงชั่วคราวหรือมีความทุกข์ลดน้อยลง) การปฏิบัติเพียงเท่านี้ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะไม่ได้ห้ามเรื่องการมีครอบครัวหรือการมีเพศสัมพันธ์ เพียงเราปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม ก็เท่ากับเป็นการมีศีลตรงตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ แล้ว แต่สำหรับคนที่มีปกติทำผิดหรือชั่วอยู่เสมอ (คือไม่รักษากายและวาจาให้ถูกต้องตามหลักอริยสัจ ๔) จะไม่สามารถปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ได้เพราะไม่มีศีล เมื่อไม่มีศีลก็จะไม่สามารถมีสมาธิได้ (เพราะศีลจะเป็นพื้นฐานให้จิตมีสมาธิได้ง่าย) เมื่อไม่มีสมาธิก็จะไม่มีปัญญา (เพราะสมาธิจะเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา) เมื่อไม่มีปัญญาก็จะไม่สามารถกำจัดกิเลสหรือความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราให้เบาบางลงหรือหมดสิ้นไปได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่