ดับทุกข์โดยใช้ ปัญญา ศีล สมาธิ

วิธีการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจนี้ จะมีองค์ประกอบอยู่ถึง ๘ องค์ประกอบ แต่ก็สามารถย่อลงให้เหลือเพียง ๓ ได้ คือ ปัญญา ศีล สมาธิ โดยปัญญาก็สรุปอยู่ที่ การเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวตนของสิ่งทั้งหลายอยู่จริง” ส่วนศีลนั้นก็คือความปกติของจิตเมื่อมีการปฏิบัติทางกายและวาจาถูกต้อง ส่วนสมาธิก็คือความบริสุทธิ์ ตั้งมั่น และอ่อนโยนของจิต

          ศีลนั้นก็เกิดมาจาก การตั้งใจว่าจะไม่เบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน รวมทั้งสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ของผู้อื่น รวมทั้งการตั้งใจที่จะไม่พูดคำหยาบ คำโกหก คำส่อเสียด และเพ้อเจ้อ ซึ่งถ้าเราตั้งใจจะปฏิบัติกายและการพูดให้ถูกต้องได้อย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวันของเรา เราก็จะมีศีลขึ้นมาได้แล้วโดยไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาใคร

          ส่วนสมาธินั้นก็ต้องมีการฝึกฝนจึงจะเกิดสมาธิขึ้นมาได้ ซึ่งการฝึกก็ไม่ยาก เพียงเราตั้งใจอยู่ในการคิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามอยู่เสมอ เราก็จะมีสมาธิขึ้นมาแล้ว (เรื่องสมาธินี้จะได้อธิบายในภายหลัง)

          ส่วนปัญญานั้นก็ต้องมีการเรียนรู้เรื่องความจริงสูงสุดของธรรมชาติ ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ จนเกิดความเข้าใจย่างแจ่มชัดว่า “แท้จริงแล้วมันไม่ได้มีตัวตนของสิ่งทั้งหลายจริงๆเลย” ซึ่งนี่ก็คือความเข้าใจในเรื่องอนัตตาที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสอนนั่นเอง (ซึ่งเรื่องอนัตตานี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป)

         เมื่อเราได้ศึกษามาจนมีปัญญาแล้ว และตั้งใจรักษาศีลแล้ว รวมทั้งเคยมีการฝึกสมาธิมาด้วยแล้ว ทีนี้ก็มาเป็นการปฏิบัติจริง ซึ่งการปฏิบัตินั้นก็ปฏิบัติได้ทุกที่และทุกเวลาที่ตื่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่กำลังทำกิจวัตรประจำวันอยู่ หรือทำหน้าที่การงานอยู่ หรือเวลาว่าง คือถึงแม้ขณะที่ยังไม่มีความทุกข์ก็ปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้ในอนาคต หรือถึงแม้ขณะที่ความทุกข์กำลังเกิดอยู่ก็ปฏิบัติเพื่อระงับหรือดับให้มันหายไปได้ในทันที

      ส่วนวิธีการปฏิบัตินั้นก็สรุปอยู่ที่ การมีสติ (คือการระลึกได้ หรือระลึกถึงปัญญา) และตั้งใจ (คือด้วยสมาธิ) มองเห็น (คือรับรู้ด้วยความเข้าใจอย่างแจ่มชัด) สิ่งทั้งหลายว่า “ไม่ใช่ตัวเราหรือตัวตนของใครๆและของสิ่งใดๆจริง” (ที่เรียกว่าเห็นอนัตตาในสิ่งทั้งปวง) รวมทั้งระวังจิตอย่าให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจ (ความพอใจและไม่พอใจนี้เรียกว่า กิเลส ซึ่งกิเลสกับตัณหานี้ก็คือสิ่งเดียวกัน เพียงเรียกชื่อต่างกันเท่านั้น แต่อาการที่แสดงออกมานั้นเหมือนกัน คือมีความอยากเอาเข้ามาหาตัวเรา และอยากผลักออกไปจากตัวเราเหมือนกัน) ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา เพียงเท่านี้ความความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราก็จะระงับหรือดับหายไป (แม้เพียงอย่างชั่วคราว) แล้วความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ก็จะระงับหรือดับหายไป หรือที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะไม่เกิดขึ้น รวมทั้งความเคยชินของจิต ที่จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมาอีกในอนาคต ที่สั่งสมอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราก็จะค่อยหมดความเคยชินไปด้วย และถ้ามีการปฏิบัติเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ความเคยชินของจิตใต้สำนึกที่จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมาอีกในอนาคต ก็จะหมดความเคยชินไปอย่างถาวรได้ และจิตของเราก็จะนิพพานหรือไม่มีความทุกข์อีกเลยอย่างถาวรได้

          หลักในการปฎิบัติเพื่อดับทุกข์หรืออริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านี้ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร คือไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด พูดภาษาอะไร หรือนับถือศาสนาอะไรก็ตาม เมื่อได้ศึกษาจนเกิดความเข้าใจแล้ว ก็สามารถนำเอาหลักการปฏิบัตินี้ไปใช้ในการดับทุกข์ของจิตใจได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับใคร เพราะนี่คือความรู้ที่เป็นของสากล ไม่ใช่ของใครหรือของศาสนาใดโดยเฉพาะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่