นักอภิธรรรมสามารถ​อธิบาย​เรื่อง​วิสัยจิต​ได้แบบ​นี้​บ้าง

-ความคิดเป็นวิสัยของจิต
"สภาวะจิต...
บางช่วง มันก็ชอบคิดชอบปรุง 
บางช่วง มันก็ไม่ชอบคิดชอบปรุง 
ความคิดปรุงแต่ง  ความคิด จิต...
มันคิดถึงสิ่งรู้ทั้งหลาย มันก็เป็นแต่เพียงอารมณ์  
รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  ธรรมารมณ์ มันเป็น
เหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดอารมณ์
ความคิด เป็นเรื่องธรรมดาของจิต 
การเห็น ก็เป็นวิสัยของตา 
การได้ยิน เป็นวิสัยของหู 
กลิ่น เป็นวิสัยของจมูก 
รส เป็นวิสัยของลิ้น 
สัมผัส เป็นวิสัยของกาย  
ความนึกคิด เป็นวิสัยของจิต
สิ่งเหล่านี้...เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอารมณ์ 
สิ่งเหล่านี้...ไม่ใช่อารมณ์  แต่เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์  อารมณ์ คืออะไร ? 
อารมณ์ คือความยินดี ยินร้าย  พอใจ ไม่พอใจ  ชอบ ไม่ชอบ  เกลียด  อันนี้...เป็นอารมณ์
ถ้าหากว่าจิตคิดปรุงแต่ง มันก็สักแต่ว่า...คิด 
คิดแล้ว ก็ทิ้งไป 
คิดแล้ว ก็ทิ้งไป 
ไม่ยึดอะไรมาสร้างความเดือดร้อน ให้กับตัวเอง 
มันก็ ไม่เกิดอารมณ์
เพราะฉะนั้น ความเป็นไปของจิตนี่ 
บางครั้งมันก็คิดไม่หยุด  อยากให้หยุด มันก็ไม่ยอมหยุด  
แต่บางครั้ง  มันก็เอาแต่หยุด อยากให้มันคิด มันก็ ไม่ยอมคิด 
เพราะฉะนั้น ทางปฏิบัติ
ถ้าเวลามันต้องการหยุด ให้มันหยุดไป
เวลามันต้องการคิด ให้มันคิดไป 
แต่ให้เรากำหนดสติ รู้...รู้...ไป 
ถ้ามันหยุดนานเกินไป มันไม่ยอมคิด 
เราก็หาอุบายสร้างความคิดขึ้นมาบ้าง 
ฝึกให้มันเกิดพลังงาน  จิต ไปอยู่เฉยๆ นิ่งๆ 
เป็นจิต ที่ไม่มีพลังงาน  อย่าไปอยากได้มัน 
นิ่งๆ เฉยๆ ถ้าหากว่า...มันคิดมากเท่าไร ยิ่งดี
ถ้าอย่างสมมติว่า...การเจริญวิปัสสนา 
เราต้องพิจารณาเบญจขันธ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ 
เป็นอนัตตา เมื่อเราพิจารณาไป...
จิตมันสงบ 
จิตมีพลังทางสมาธิ  สมาธิมั่นคง  สติเข้มแข็ง  
มันจะทำให้จิตคิดมากขึ้นๆๆ แต่อารมณ์เก่า 
ที่เราตั้งใจพิจารณาอยู่มันจะทิ้งหมด มันจะไปสร้างความคิดใหม่ขึ้นมา  อันนี้ คือลักษณะของจิต ที่เป็นสมาธิตามธรรมชาติ
เราเอาปัจจุบันเป็นหลัก 
แม้แต่ความเสื่อมความเจริญของสมาธิ 
หลวงปู่มหาบัว ท่านก็ให้นัยไว้แล้ว ท่านบอกว่า... 
ความเสื่อมความเจริญของสมาธิ มันก็เป็นแต่เพียงอารมณ์จิต  เมื่อก่อนเรามาดีใจ-เสียใจ 
อยู่กับความเสื่อมความเจริญของสมาธิ มันก็ได้อยู่แค่นั้น...มาภายหลังตัดปัญหา 
มันจะเสื่อมจะเจริญช่างมัน เราจะเอาสติตัวเดียว พอมากำหนดเอาสติตัวเดียว มันก็ดำเนินไปด้วยดี ท่านว่าอย่างนั้น
ความนึก-ความคิดของจิต
ไม่ใช่ ปัญหาที่จะทำให้จิตมัวหมอง มันเป็นการบริหารจิต ทำให้จิตมีสติ สัมปชัญญะเข้มแข็ง 
ถ้าจิต ไปกำหนดรู้ความคิด  อันนี้คือ...
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  จิต มันพิจารณาธรรมเองโดยอัตโนมัติ
แต่ถ้ามันไป นิ่ง...รู้อยู่ในจิตอย่างเดียว 
ไม่มี...อาการไหวติง  
อันนี้ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และพร้อมๆ กันนั้นถ้าหากว่า กายกับจิตยังสัมพันธ์กันอยู่  
สุข-ทุกข์ มันเป็นสิ่งที่เกิดที่กาย  จิต เขาก็ต้องรู้เอง 
แต่ถ้าหากช่วงใดที่จิตมันถีบตัวออกจากร่างกาย
แล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับร่างกาย ตอนนั้น...สุข-ทุกข์ 
มัน...ไม่มี แม้อาการแห่งความคิด
อย่างสามัญธรรมดา ก็...ไม่มี 
แต่ในช่วงนั้น...มันอาจสามารถรู้เห็นทุกสิ่ง ทุกอย่างได้ แต่มันคิดไม่เป็น รู้แล้วมันก็บันทึกข้อมูลไว้พร้อมหมด พอมันย้อนกลับมาสัมพันธ์กับกายอีกทีหนึ่ง...มันจึงจะเกิดปัญญาค้นคิดพิจารณา ของมันไปเอง 
การพิจารณาของมัน 
ก็คือ...ความคิดนั่นเอง."
------------------------------------------------------------------------
เทศนาธรรมพระราชสังวรญาณ
                (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)
วัดคลองนา(วัดป่าชินรังสี)  อ.เมือง  จ.ฉะเชิงเทรา
FB : หลวงพ่อพุธ ฐานิโย  อาจาริยบูชา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่