ศีลเป็นพื้นฐานของสมาธิ

ศีล แปลว่า ปกติ คือหมายถึง ความปกติของจิตที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติกายและวาจาอย่างถูกต้อง  คือเมื่อเรามีการปฏิบัติกายและวาจากถูกต้อง เราก็จะมีศีลขึ้นมาแล้วทันที ซึ่งการปฏิบัติที่ถูกต้องของกายและวาจานั้นก็สรุปอยู่ที่ การมีเจตนาที่จะไม่เบียดเบียนชีวิต และทรัพย์สิน รวมทั้งสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ (กามารมณ์) ของผู้อื่น, และการมีเจตนาที่จะไม่พูดโกหก ; หยาบคาย; เสียดสี ; และเพ้อเจ้อ (เหมือนคนเสียสติ).

ศีลจะเป็นพื้นฐานให้จิตมีสมาธิ และสมาธิก็จะเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา แล้วปัญญาก็จะกลับมาช่วยให้มีศีลที่ถูกต้องและสมบูรณ์ได้ เมื่อมีปัญญา ศีล สมาธิพร้อมกัน จิตก็จะนิพพาน แต่ถ้าไม่มีศีล (แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง) ถึงแม้เราจะมีปัญญาแล้ว (เพราะมีความเข้าใจถูกต้องแล้วว่า “แท้จริงมันไม่มีตัวเราอยู่จริง”)    จิตก็จะไม่มีสมาธิ ซึ่งการที่จิตไม่มีสมาธิจะทำให้ไม่มีสติ (ความระลึกได้) ในการนำเอาปัญญามาใช้ เมื่อไม่มีปัญญา จิตก็จะโง่เขลา (เพราะมีความรู้ผิดว่ามีตัวเราเกิดขึ้นมาครอบงำจิต) เมื่อจิตโง่เขลาก็จะทำให้จิตเกิดความรู้สึกว่ามีตนเอง และเกิดความยึดถือว่ามีตนเอง รวมทั้งเกิดความทุกข์ขึ้นมา.

ดังนั้นศีลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมี เพื่อเป็นพื้นฐานให้จิตมีสมาธิ และปัญญา เพื่อมาใช้กำจัดความทุกข์ ซึ่งการมีศีลนี้ก็ไม่ยาก เพียงเรามีเจตนา (ความตั้งใจ) อย่างจริงจังที่จะปฏิบัติกายและวาจาให้ถูกต้อง เราก็จะมีศีลขึ้นมาได้เองแล้วโดยไม่จำเป็นต้นไปพึ่งพาใคร ซึ่งการมีศีลนี้เราทุกคนก็สามารถปฏิบัติได้ เพราะไม่ได้ขัดแย้งหรือตรงข้ามกับการดำเนินชีวิตตามปกติของเราเลย คือไม่ว่าเราจะเป็นคนเชื้อชาติใด หรือนับถือศาสนาใด เราก็สามารถมีศีลได้โดยไม่ขัดแย้งกับการดำเนินชีวิตและความเชื่อทางศาสนาที่เรานับถืออยู่ได้ ซึ่งในทางตรงกันข้ามการมีศีลจะทำให้เราเป็นคนดีมีศีลธรรมได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ตามหลักศาสนาที่เรานับถืออยู่แล้วอีกด้วย ซึ่งการมีศีลธรรมจะทำให้ชีวิตของเรามีความปกติสุข เมื่อชีวิตมีความปกติสุข ก็จะทำให้การปฏิบัติเพื่อความไม่มีทุกข์ของเรา เกิดขึ้นอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ได้.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่