"โทะชิโคะชิ โซบะ" แม่บ้านเซนไดเล่าถึงอาหารมื้อสุดท้ายของคนญี่ปุ่นวันสิ้นปี

"โทะชิโคชิ" (年越しそば)หรือธรรมเนียมการทานโซบะในคืนวันที่ 31 ธค. ช่วงเวลาสุดท้ายของปี ก่อนที่นาฬิกาจะบอกเวลาของวันที่ 1 มค.ของปีใหม่ จึงกล่าวได้ว่าเป็นอาหารมื้อสุดท้ายจริงๆสำหรับคนญี่ปุ่นในปีนั้นๆ

วันนั จขกท.ผู้เป็นแม่บ้านไทยในเมืองเซนได ที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น จะขอเล่าวิธีทำโซบะง่ายๆในกระทู้นี้ค่ะ

โซบะจัดได้ว่าเป็นอาหารสุขภาพ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุที่ดีต่อร่างกายอยู่เยอะ เช่น  กรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทั้ง 8 ชนิดที่แป้งสาลีธรรมดาๆไม่มี  สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) วิตามินบีต่างๆ, แคลเซี่ยม, ธาตุเหล็ก,ไธอามิน, รูทิน (rutin) และอื่นๆ โดยเฉพาะเจ้า "รูทิน"นี่รู้สึกจะเป็นที่โปรดปรานของคนญี่ปุ่นเพราะมักพูดกันติดปากว่าเป็นสารที่ทำให้โลหิตใสไหลเวียนดี  (血液がサラサラになっていきます) เนื่องจากสารนี้เสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือดในร่างกาย

เนื่องจากโซบะมีความหมายที่ดีดังต่อไปนี้ ญี่ปุ่นจึงนิยมใช้ "โซบะ" เป็นอาหารกินเอาฤกษ์ก่อนขึ้นปีใหม่หรือส่งเป็นของกำนัลให้กันค่ะ
1) เส้นที่ยาวเรียว ให้ความหมายว่ามี อายุยืน สิ่งดีๆที่เกิดขึ้นแล้วยืดยาวต่อไป
2) กัดแล้วขาดง่าย ให้ความหมายว่า สิ่งไม่ดีในปีก่อนสามารถตัดขาดออกไปได้เช่นกัน
3) แร่ธาตุดีที่มายมายโซบะ เป็นการบำรุงสุขภาพให้แข็งแรง และชำระล้างโลหิตให้สะอาดลื่นไหลโดยสะดวก

วิธีทำโซบะง่ายๆทำได้ด้วยเครื่องปรุงดังต่อไปนี้ค่ะ

เครื่องปรุงหลักๆที่เห็นในรูปคือ
1) เส้นโซบะ
    จขกท.มักซื้อโซบะของเมืองยะมะกะตะเมืองเพื่อนบ้านของเซนได เนื่องจากเส้นโซบะเหนียวแน่นอร่อย
    เส้นโซบะมีหลายประเภท จขกท.นิยมแบบที่ทำจากแป้งโซบะล้วนๆ 100 %เรียกว่า Juwari-soba แต่ราคาจะสูงกว่าโซบะที่ผสมแป้งสาลี
2) น้ำทซึยุ (Tsuyu) น้ำซุปเข้มข้นที่ใช้ผสมน้ำตามอัตราส่วนต่างๆแล้วแต่เมนูอาหาร
    ขอแนะนำให้ผู้ชอบทำอาหารญี่ปุ่นมีติดครัวไว้เลย เพราะใช้ทำอาหารอื่นๆได้อีกสารพัดมากมาย (ทซึยุมีแบบที่ทำจากปลาโอ หรือสาหร่ายคอมบุ เลือกเอาตามความชอบนะคะ รสชาติไม่ต่างกันเท่าไร)
3) ต้นหอมใหญ่ (negi) หั่นแฉลบ
4) อะเกะดะมะ (揚げ玉)หรือลูกแป้งทอดกรอบ อันนี้ไม่มีก็ได้ แต่มีก็จะอร่อยยิ่งขึ้น ขายถุงละ 100 เยน โซบะที่ใส่อะเกะดะมะเรียกว่า "ทะนุกิโซบะ"

วิธีทำ
1) ต้มน้ำเยอะๆในหม้อ พอน้ำเดือดใส่เส้นโซบะลงไป (ประมาณว่า 1 มัด ต่อ 1 คน) ให้กระจายๆอย่างให้เกาะติดกัน จะต้มกี่นาทีให้ดูที่เขียนที่ห่อ เพราะแต่ละเจ้าไม่เหมือนกัน บางเจ้าก็ 6 นาที บางเจ้าก็12 นาที ถ้าไม่รู้ก็สามารถกะว่าได้โดยเอาตะเกียบคีบเส้นโซบะขึ้นมาแล้วจิกดู ถ้าเส้นขาดโดยไม่ยากแปลว่าสมควรเอาโซบะขึ้นได้แล้ว
ทีนี้เวลาต้ม ต้องคอยดูใกล้ๆนะคะ เพราะฟองจะล้นหลามมาก พอฟองใกล้จะล้นหม้อ ให้ใส่น้ำเย็นเติมลงไป

2) ในอีกหม้อ ผสมทซึยุกับน้ำ ตามสัดส่วนที่เขียนที่ขวดทซึยุ ดูที่ช่อง kake-tsuyu (かけつゆ) จะเห็นว่า ทซึยุ 1 ถ้วยต่อน้ำ 6-8 ถ้วย

ตั้งไฟพอเดือดใส่ต้นหอมหั่นลงไป สักพักก็ดับไฟ

3) พอโซบะสุกนุ่มได้ที่ ก็กรองแยกน้ำออก (เก็บน้ำไว้ดื่มได้ เพราะคุณค่าทางโภชนาการเหลือหลาย โดยเฉพาะถ้าเป็นโซบะแบบ 100% Juwari-soba))

แล้วล้างเส้นโซบะอย่างรวดเร็วในน้ำเย็น สัก 2-3 ครั้ง

4) ใส่เส้นโซบะลงในชาม ราดน้ำซุปร้อนๆที่ทำในข้อ2 แล้วโรยหน้าด้วยลูกแป้งทอดก็ทานได้เลยค่ะ จะโรยพริกป่นหน่อยก็อร่อย (ถ้าไม่ใส่ลูกแป้งทอด จะใช้เครื่องอย่างอื่นก็ได้ เช่น เต้าหู้ทอดหวานหรือเทมปุระกุ้ง)
โซบะที่ใส่ลูกแป้งทอดเรียกว่า Tanuki soba หรือ โซบะ"แรคคูน"

โซบะที่ใส่เต้าหู้หวานเรียกว่า Kitsune soba หรือโซบะ "หมาจิ้งจอก"

Tempura soba

น้ำต้มโซบะ (soba-yu) นี่ก็คล้ายๆน้ำข้าวบ้านเราค่ะ ที่ร้านโซบะที่ญี่ปุ่นจะเสริฟตอนเราทานโซบะใกล้จะเสร็จ เพื่อให้เราใช้ผสมกับน้ำทซึยุที่ยังเหลืออยู่ในถ้วยแล้วดื่ม โดยเฉพาะหากเราสั่งโซบะเย็นทาน เนื่องจาก"โซบะยุ" ไม่มีรส แต่จขกท.ก็ชอบดื่มโดยไม่ผสมอะไร

พอถึงเวลา 5 ทุ่ม คนที่นี่ก็จะเริ่มทำโซบะทานกัน ก่อนที่จะออกไปวัดหรือศาลเจ้าเพื่ออธิษฐานขอพรปีใหม่ และซื้อเครื่องรางคุ้มครองกลับมา
บางคนก็เลือกไปไหว้พระตอนเช้า ก่อนหรือหลังชมแสงตะวันแรกของปีใหม่ ที่เซนไดเมืองที่จขกท.อยู่มีหลายแห่งที่เป็นจุดชมพระอาทิตย์ยามเช้า
เช่นในรูปคือ อ่าวมัทซึชิมะ (Matsushima) ที่มีเรือออกพาวนรอบอ่าวชมเกาะในเช้าของวันปีใหม่ด้วยค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่