วัคซีน-ยา พิชิต ‘อีโบลา’



          การระบาดของ “อีโบลา” ในแอฟริกาตะวันตก ยังไม่มีทีท่าจะควบคุมได้ ล่าสุดวันที่ 23 กันยายน มีผู้ป่วยแล้วมากกว่า 5,800 คน
เสียชีวิต 2,600 คน หรือประมาณร้อยละ 50 ใน 5 ประเทศ คือ กินี สาธารณรัฐลิเบอเรีย สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน และล่าสุดพบที่ไนจีเรีย และเซเนกัล
การระบาดอีโบลาครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด


          "อีโบลา" เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มฟิโลไวรัส ไม่ใช่โรคใหม่ หรืออุบัติใหม่แต่อย่างใด รู้จักกันมานานเกือบ 40 ปี พบครั้งแรกที่สาธารณรัฐ
ประชาธิปไตยคองโก ทวีปแอฟริกา ใกล้แม่น้ำอีโบลา จึงตั้งชื่อโรคตามสถานที่    ย้อนไปตั้งแต่ปี 2519 มีการระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ครั้ง
สันนิษฐานกันว่า "ค้างคาว" เป็นตัวแพร่เชื้อและยังพบโรคดังกล่าวในสัตว์ตระกูลลิงด้วย ที่ผ่านมาการระบาดแต่ละครั้งจะมีผู้ป่วยหลักสิบถึงร้อยคน
จากนั้นก็ควบคุมได้ทุกครั้ง เพราะอาการของโรครุนแรงทำให้ง่ายต่อการค้นหาผู้ป่วยและควบคุม


          ไวรัสอีโบลาสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ด้วยการสัมผัสเชื้อโดยตรง จากสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อมก็ได้
ประเพณี วัฒนธรรมของชาวแอฟริกาในพิธีกรรมศพ จะมีการล้างศพ ทำให้เกิดการสัมผัสและแพร่กระจายโรคได้โดยตรง   ผู้ป่วยมีอาการรั่วไหล
ของเลือดและน้ำเหลืองออกจากหลอดเลือดเหมือนไข้เลือดออก เชื้อโรคใช้เวลาฟักตัว 2-21 วัน ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย คลื่นไส้
อาเจียน ท้องเสีย การอักเสบของตับ ไต การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เลือดออกภายใน เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 60    บางครั้ง จึงเรียก
“โรคไข้เลือดออกอีโบลา” ปัจจุบันไม่มียาและวัคซีนจำเพาะและป้องกัน การป้องกันที่ดีสุดคือ เรื่องสุขอนามัย ความสะอาด

          โรคอีโบลา เสมือนเป็นโรค “กำพร้า” เพราะระบาดในประเทศยากจน การดูแลป้องกันทำได้ยาก ขาดอุปกรณ์การแพทย์ในการป้องกัน
งบประมาณใช้จ่ายมีจำกัด การศึกษาของประชาชน   รวมทั้งความเชื่อที่ผิดๆ เช่น กลัวว่าถ้าไปโรงพยาบาลแล้วจะถูกกักตัวไว้จนตาย
ชาวบ้านจึงไม่ยอมเข้าโรงพยาบาลหรือพยายามหลบหนีออกมา



          ปัจจุบันยังไม่มี "ยา" หรือ "วัคซีน" ที่ได้รับการรับรองให้ใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อโรคระบาดรุนแรงและยังไม่สามารถควบคุมได้
จึงจำเป็นต้องพัฒนายารักษาและวัคซีนอย่างเร่งด่วน โดย ข้อมูลยารักษาเชื้ออีโบลาที่เผยแพร่กัน มีอยู่ 4 ตัว ดังนี้

          1. TKM (ทีเคเอ็ม)     เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัทเล็กๆ ในแคนาดา ใช้รักษาโดยหลักการ SiRNA หรือการทำให้เซลล์นึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา
แล้วทำลายหรือกำจัดทิ้ง เมื่อศึกษาทดลองในหนูและลิงได้ผลดีโดยการให้เข้าทางหลอดเลือด


          2. ZMapp (ซีแมปป์)    เป็นของบริษัทยา สหรัฐอเมริกา โดยประกอบด้วย แอนติบอดีจําเพาะ (monoclonal antibody) 3 ชนิด
ที่ใช้หลักวิศวกรรมพันธุศาสตร์ในยาสูบ (Tobacco plant nicotinana) เป็นหลักการสร้างแอนติบอดีจําเพาะ การให้ยาซีแมปป์ต้องให้เข้าทางหลอดเลือด
จากการศึกษาในลิงทดลองได้ผลดี เมื่อให้ยาหลังจากทำให้ลิงติดเชื้ออีโบลา แต่ต้องก่อนที่ร่างกายลิงจะเกิดอาการป่วยของโรค

ยาตัวนี้จะมีประสิทธิภาพเมื่อรีบให้ยาผู้ติดเชื้อทางหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว   ตัวอย่างชาวอเมริกัน 2 คน ที่ติดเชื้อแล้วรอดตาย หลังจากใช้ยาซีแมปป์
ขณะเดียวกันก็มีคนไข้ชาวสเปนที่อายุมากแล้ว แม้จะได้ยาซีแมปป์แต่ก็เสียชีวิต รวมถึงหมอชาวไลบีเรียที่ได้ยาตัวนี้ก็เสียชีวิตเช่นกัน ข้อมูลเกี่ยวกับยาตัวนี้
ยังมีอยู่น้อยมาก เพราะใช้ในผู้ป่วยไม่กี่คนเท่านั้น ดังนั้นจึงยังไม่สามารถบอกถึงประสิทธิภาพได้ชัดเจน


          3. "T-705" หรือ Favipiravir (ฟาวิพิราเวียร์)     คิดค้นและพัฒนาโดยบริษัทญี่ปุ่นมานานกว่า 10 ปี ช่วงแรกตั้งใจจะพัฒนาเป็น
ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก    แต่พบว่ายาตัวนี้สามารถขัดขวางการแบ่งตัวของไวรัสในกลุ่ม อาร์ เอ็น เอ ได้ด้วยรวมทั้งไวรัสอีโบลา
โดยไม่ทำลายเซลล์เจ้าบ้าน  จากการทดลองศึกษาในไข้หวัดใหญ่ร่วมกับบริษัทอเมริกาแห่งหนึ่ง โดยทดลองถึงระยะที่ 3 แล้ว แสดงว่าผ่านการศึกษา
ในมนุษย์ ระยะที่ 1 คือ เรื่องความปลอดภัย ระยะที่ 2 เรื่องฤทธิ์ของยาและประสิทธิผลของยา ระยะที่ 3 ถึงจะเป็นเรื่องประสิทธิภาพ (efficacy) ในการรักษา
จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่ายาตัวนี้สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสอีโบลาได้ เมื่อศึกษาในหนูทดลองพบว่าสามารถลดจำนวนไวรัสในหนูด้วย
ทำให้หนูที่ติดเชื้อรอดตายได้ แต่ผลการรักษาต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เริ่มต้นรักษาด้วยว่า ให้ยาผู้ติดเชื้ออีโบลาเร็วแค่ไหน แต่ในภาพรวมผลการรักษาถือว่าดี


          4. JK-05 (เจเค-05)    เป็นยารักษาอีโบลาที่คิดค้นในจีน โดยสถาบันระบาดวิทยาจุลชีววิทยาเป็นผู้พัฒนายาตัวนี้
ภายใต้ฝ่ายวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของจีน มีการศึกษาพัฒนามากว่า 5 ปีแล้ว โดยยาจะไปขัดขวางการแบ่งตัวของไวรัสอีโบลา
มีการศึกษาทดลองในระดับคลินิกและหลังคลินิกแล้ว รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยของยาด้วย แต่ยาตัวนี้ถูกเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์
ในการรักษาอีโบลาเท่านั้น




          สำหรับ "วัคซีนอีโบลา" นั้น มีการพัฒนาอยู่ 2 วัคซีนด้วยกัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ในการหยุดยั้งการระบาดของอีโบลา
โดยกลุ่มแรกที่ควรได้รับวัคซีนคือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย

          "อีโบลาวัคซีน" ที่กำลังเร่งศึกษาในปัจจุบันตัวแรกเป็นวัคซีนของบริษัทอังกฤษ GSK (GlaxoSmithKline) ศึกษาร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ
(National Institute of Health: NIH) สหรัฐอเมริกา โดยศึกษาในลิงทดลองพบว่า สามารถกระตุ้นภูมิต้านทางที่ป้องกันโรคได้นานกว่า 10 เดือน
เป็นวัคซีนที่ใส่ยีนอีโบลา 2 ยีน เข้าไปใน "ชิมแปนซีอดีโนไวรัส" ไวรัสนี้ไม่แบ่งตัวและไม่ก่อโรคในมนุษย์ แต่สามารถสร้างแอนติเจนโปรตีน เพื่อกระตุ้น
ให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน วัคซีนนี้อยู่ในช่วงการศึกษา ระยะที่ 1 ในมนุษย์ และคาดว่าน่าจะรู้ผลในช่วงสิ้นปีถึงต้นปีหน้า


          สำหรับวัคซีนอีกตัวหนึ่ง ผลิตโดย New Link Genetic of Ames ที่ไอโอวา สหรัฐอเมริกา ใช้หลักการเดียวกัน โดยสอดใส่ยีนของอีโบลาเข้าไปใน
vesicular stomatitis virus (VSV) ซึ่งเป็นไวรัสในปศุสัตว์ และไม่ก่อโรคในมนุษย์ ไวรัสสามารถสร้างโปรตีนของอีโบลา และกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทาน
วัคซีนตัวนี้ถูกผลิตขึ้นมาและพร้อมที่จะใช้ทดลองในมนุษย์ช่วงกลางปี 2558 หากได้ผลดีก็พร้อมขยายจำนวนการผลิตได้เพิ่มไปอีก เป็น 5,000-20,000 โดส

          นอกจากวัคซีน 2 ตัวข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัที่กำลังพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบลา




          ล่าสุด มีความพยายามที่จะรักษาอีโบลาด้วยการใช้ "น้ำเหลือง" หรือ "ซีรั่ม" ผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโบลา แล้วสามารถหายจากโรคนี้ได้
เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภูมิต้านทานต่อโรคอีโบลาเกิดขึ้นในน้ำเหลือง (immunoglobulin) จึงเป็นหลักการที่จะใช้ภูมิต้านทานดังกล่าวไปใส่
ในร่างกายผู้ป่วยคนอื่น เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส โดยหลักการแล้วน่าจะได้ผลดี แต่ปัญหาที่พบ คือ จำนวนผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลา
แล้วรักษาจนหายขาดมีจำนวนไม่มากนัก และการใช้น้ำเหลืองจากผู้ที่เคยป่วยกลุ่มนี้ไปใช้ อาจทำให้มีไวรัสตัวอื่นเจือปนได้...

.....................................

(หมายเหตุ : วัคซีน-ยาพิชิต‘อีโบลา’  ศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์)

http://www.komchadluek.net/mobile/detail/20140924/192695.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่