โนโรไวรัส : อาการและวิธีป้องกัน แม้ยังไม่มีวัคซีน



โนโรไวรัส : อาการและวิธีป้องกัน แม้ยังไม่มีวัคซีน



โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียนในเด็กและผู้ใหญ่ แม้ร่างกายจะได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ ยังทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำให้สามารถปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่มได้ง่าย

แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่สามารถรักษาโนโรไวรัสได้โดยตรง แต่มักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน หากมีการดูแลที่เหมาะสม โดยการรักษาจะเน้นที่การบรรเทาอาการและการดูแลอาการขาดน้ำ ซึ่งอาจต้องให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือด



เชื้อโนโรไวรัสมักระบาดในช่วงฤดูหนาวและสามารถติดได้ง่ายในสภาพอากาศเย็น อาการที่พบเมื่อได้รับเชื้อภายใน 24-48 ชั่วโมง ได้แก่
* ท้องเสีย (ถ่ายเหลวเป็นน้ำ)
* ปวดท้อง
* คลื่นไส้และอาเจียน
* ปวดศีรษะ
* ไข้ต่ำ
* ปวดเมื่อยตามร่างกายและอ่อนเพลีย

การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการ หากพบว่าติดเชื้อ แพทย์จะรักษาตามอาการ หากเด็กมีภูมิต้านทานดี อาการจะดีขึ้นและหายได้ภายใน 2-3 วัน โดยการให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในกรณีขาดน้ำการรับประทานอาหารอ่อนๆ และยารักษาอาการอาเจียนและปวดท้อง
อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีภูมิต้านทานต่ำและมีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายท้องตลอดเวลา ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการช็อกและเสียชีวิต

เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ผ่าน
- การทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อ เช่น น้ำดื่ม น้ำแข็ง ผักผลไม้สด ฯลฯ
- การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อแล้วนำมือเข้าปาก
- การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง
 


วิธีป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส
* ล้างมือให้สะอาดก่อนทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ โดยล้างด้วยน้ำและสบู่ไม่ต่ำกว่า 15 วินาที
* ดื่มน้ำที่สะอาดและเลือกทานอาหารที่สุก สะอาด และสดใหม่
* หลีกเลี่ยงการสัมผัสอาหารหรือเตรียมอาหารให้ผู้อื่น
* ใช้ช้อนกลางเมื่อทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

ถึงแม้ว่าโนโรไวรัสจะยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่รักษาได้โดยตรง แต่การรักษาสุขอนามัยและการทานอาหารที่สุกสะอาดจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโนโรไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่