การเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง

ชีวิตของมนุษย์เรานี้จะประกอบด้วยขันธ์ (ส่วน) ๕ ขันธ์
ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็ได้แก่
๑. ร่างกาย ซึ่งเป็นวัตถุที่เกิดขึ้นมาจากธาตุ ๔  
๒. การรับรู้ คือการรับรู้ที่เกิดขึ้นทางระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย
๓. การจำสิ่งที่รับรู้ได้ คือเมื่อมีการรับรู้สิ่งใด ก็จะมีการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้
๓. ความรู้สึก คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจากการรับรู้ที่ระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย
๔. การปรุงแต่งของจิต คือเป็นการนำเอาความรู้สึกมาปรุงแต่งให้เป็นอาการต่างๆ

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้จะมีการอาศัยกันและกันเพื่อเกิดขึ้นมาอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการที่ร่างกายต้องอาศัยคุณสมบัติพื้นฐาน ๔ อย่าง (ธาตุ ๔) มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ซึ่งธาตุทั้ง ๔ ก็ได้แก่

๑. คุณสมบัติที่ แข็ง (ธาตุดิน)
๒. คุณสมบัติที่ เหลว, เกาะกุมตัว, ไหลได้ (ธาตุน้ำ)
๓. คุณสมบัติที่ ร้อน, เผาผลาญ, ทำลาย (ธาตุไฟ)
๔. คุณสมบัติที่ ละเอียด, บาง, เบา, แผ่กระจาย, ลอยได้ (ธาตุลม)

โดยร่างกายที่ยังมีชีวิตนี้จะมีระบบประสาทอยู่ ๖ จุด คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพื่อเอาไว้รับรู้สิ่งภายนอกที่ตรงกัน ๖ อย่าง คือ แสง เสียง กลิ่น รส สิ่งกระทบกาย (เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง) และสิ่งกระทบใจ (คือทุกสิ่งที่ใจจะรับรู้ได้ อันได้แก่ การรับรู้ทั้งหมด การจำสิ่งที่รับรู้ได้ ความรู้สึก และการปรุงแต่งของจิต)

เมื่อมีสิ่งภายนอกมาประทบกับระบบประสาทที่ตรงกัน เช่น มีแสงมากระทบตา หรือมีเสียงมากระทบหู เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดการรับรู้ (วิญญาณ) ขึ้นมาที่ระบบประสาทนั้นทันที เช่น เกิดการรับรู้แสง (เห็นภาพของวัตถุ) เกิดการรับรู้เสียง (ได้ยินเสียง) เป็นต้น

เมื่อเกิดการรับรู้ขึ้นมาเมื่อใดก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ขึ้นมาด้วยทันที เช่น จำได้ว่าคนที่เห็นนั้นคือใคร หรือจำได้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นคือเสียงใคร เป็นต้น
เมื่อเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้แล้วก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้นั้นด้วยทันที ซึ่งความรู้สึกนี้ก็จำแนกได้ ๓ ชนิดคือ (๑) ความรู้สึกที่น่าพอใจ หรือความสุข (๒) ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ หรือความไม่สุข (๓) ความรู้สึกที่ไม่ใช่ทั้งสุขและไม่สุข หรือความรู้สึกจืดๆ

เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว จิตก็จะมีการปรุงแต่งต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับความรู้สึกนั้น อันได้แก่ เมื่อจิตขาดสติ จิตก็จะปรุงแต่งให้เกิดกิเลสประเภทความพอใจหรืออยากได้สิ่งที่ทำให้เกิดความสุข (แล้วก็เกิดทุกข์ซ่อนเร้น) หรือปรุงแต่งให้เกิดกิเลสประเภทความไม่พอใจหรือไม่อยากได้สิ่งที่ทำให้เกิดความไม่สุข (แล้วก็เกิดทุกข์เปิดเผย) หรือไม่แน่ใจว่าจะพอใจหรือไม่พอใจต่อสิ่งที่ให้ความรู้สึกจืดๆ (แล้วก็เกิดทุกข์อ่อนๆ) และยังมีการคิดพิจารณาไปต่างๆนาๆด้วยอำนาจกิเลสหรือนิวรณ์ แต่ในกรณีที่จิตมี “ปัญญา-ศีล-สมาธิ” อย่างสมบูรณ์ จิตก็จะไม่ปรุงแต่งให้เกิดความพอใจ-ไม่พอใจ-ไม่แน่ใจขึ้นมา แต่ก็ยังมีการคิดพิจารณาด้วยปัญญาอยู่ต่อไปด้วยจิตที่ว่างจากกิเลสและนิวรณ์และความทุกข์ (นิพพาน)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่