ขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นดังนักแสดง ที่แสดงไปตามบทบาทที่เขียนบทโดยบุญ-กรรมในอดีต

ขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นดังนักแสดง ที่แสดงไปตามบทบาทที่เขียนบทโดยบุญ-กรรมในอดีต
ผู้ชมการแสดง คือ จิต เป็นธาตุรู้ ชมการแสดงผ่านวิญญาณทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

ผู้ชม (จิต) ที่มีปัญญาน้อย เพลิดเพลินกับบทบาทการแสดงของขันธ์ด้วยอวิชชาบังไว้ ทำให้หลงว่านักแสดง (ขันธ์ 5) นั้นคือ ตัวเรา ของเรา หลงหนักหน่อยก็หลงว่า กายเป็นเรา หลงน้อยหน่อยหลงว่าวิญญาณเป็นเรา

ที่หลงหนักมากที่สุด คือ หลงว่าตัวเราเป็นผู้เขียนบทเสียเอง ไม่เชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม

เพราะความหลงเพลิดเพลินในขันธ์ 5 เป็นตัวเรา ของเรา ด้วยกิเลส ตัณหา อวิชชา เป็นเครื่องร้อยรัด จึงเกิดการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุดในวัฏสงสาร

ผู้ที่มีปัญญา คือ ผู้กลัวภัยในวัฏสงสาร จึงปฏิบัติ ถือ ศีล สมาธิ วิปัสสนา ด้วยการเจริญอานาปานสติ มีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก รู้ลมเข้า รู้ลมออก รู้ลมสั้น รู้ลมยาว รู้ลมหยาบ รู้ลมละเอียด เป็นการปลุกจิตผู้รู้ให้ตื่นขึ้น ให้รู้ความจริงว่า เราเป็นเพียงผู้รู้ ผู้ดู

เมื่อเจริญอานาปานสติจนถึงจตุถฌาน ขันธ์ 5 จะดับลงเหลือแต่จิตตั้งมั่นและอุเบกขา คือ ความเป็นกลาง จิตจะหมุนเข้าสู่ภูมิวิปัสสนา พิจารณาขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นเพียงธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกันและแตกสลายลงโดยมีจิตมาครอง จิตเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในขันธ์ 5 จิตวิมุติหลุดพ้นจากกิเลส อวิชชา น้อมจิตลงในอมตธาตุ เป็นความว่างไร้สมมุติบัญญัติทั้งปวง ไร้สังขารความคิดปรุงแต่ง คือ พระนิพพาน

เมื่อปฏิบัติถึงจุดนี้ จะพบความจริงว่า จิต ไม่ใช่ขันธ์ 5 เรียกว่า ละสักกายทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นผิดว่า รูปมีตัวตน, เวทนามีตัวตน, สัญญามีตัวตน, สังขารมีตัวตน, วิญญาณมีตัวตน; ปุถุชนมองเห็นว่า เป็นอัตตาตัวเรา ของเราอย่างสิ้นเชิง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่