Value Investor จำนวนมาก “ถูกสอน” ไม่ให้สนใจภาวะเศรษฐกิจการเมืองหรือปัจจัยภายนอกต่างๆ
ที่ “ไม่เกี่ยว” กับบริษัทที่เราจะลงทุน พวกเขาอ่านหนังสือของ ปีเตอร์ ลินช์ ที่บอกว่าเราไม่ควรสนใจว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญก็คือตัวกิจการหรือบริษัทหรือหุ้นที่จะลงทุน ถ้าดีเสียอย่างก็ไม่ต้องกังวล ราคาหุ้นนั้นจะปรับตัวตามผลประกอบการของบริษัท ไม่ใช่ตามภาวะเศรษฐกิจ
เมื่อพูดถึงการเมืองที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง บางทีแทนที่หุ้นจะลง กลับปรับตัวขึ้น ดังนั้น VI จึงค่อนข้างจะเชื่อ และมั่นใจว่าไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องภาวะเศรษฐกิจ การเมือง หรือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่เป็น “ภาพใหญ่” สิ่งที่ต้องวิเคราะห์คือตัวบริษัทว่าเป็นอย่างไร และอาจถูกกระทบโดยตรงอย่างไรจากปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น
ผมเองคิดว่าแนวความคิดดังกล่าวอาจถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมา เหตุผลไม่ใช่เพราะว่าปัจจัยภายนอกไม่ได้มีอะไรที่จะกระทบกับการลงทุน แต่เหตุผลนั้นเป็นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่เกิดขึ้น “ไม่เคย” กระทบกับการทำธุรกิจบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าจะมีบ้างก็เป็นช่วงสั้นๆ ไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี
ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม และในระยะยาวแล้ว สภาพแวดล้อมมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ และดังนั้น VI ที่ไม่ได้สนใจกับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกอื่นๆ ก็ไม่เกิดความเสียเปรียบหรือเสียหาย นานเข้าก็เลยรู้สึกว่าไม่ต้องสนใจกับการวิเคราะห์ “ภาพใหญ่” ให้เสียเวลา และถ้ายิ่งไป “คิดมาก” อาจทำให้เรากระวนกระวายใจหรือกลัว และอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้
แต่ความจริงคือภาพใหญ่นั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปอย่าง“ถาวร” ซึ่งจะกระทบกับกิจการหรือบริษัทหรือหุ้นที่ลงทุน อย่าลืมว่า กิจการนั้นเหมือน “ปลา” และภาพใหญ่นั้นเหมือน “น้ำ” ถ้าน้ำนั้นมีปัญหาหรือไม่เหมาะสม ปลาจะอยู่ลำบาก ถ้าน้ำเป็น “พิษ” ปลาก็อยู่ไม่ได้
ที่ผ่านมานั้นน้ำค่อนข้างจะ “สะอาด” และอยู่ในสภาพที่ดี เลยไม่รู้สึกอะไร ไม่รู้สึกว่าคุณภาพของน้ำนั้นมีความสำคัญ และไม่สนใจที่จะต้องเฝ้าดูและติดตาม แต่เราไม่รู้หรอกว่าน้ำโดยเฉพาะของไทยนั้น อาจเปลี่ยนไปได้มากมายและกลายเป็นพิษที่อาจจะทำลายปลาได้ การวิเคราะห์ภาพใหญ่หรือปัจจัยภายนอกนั้น ถ้าจะให้ครอบคลุมควรใช้กรอบที่เรียกว่า “SPELT” ซึ่งเป็นคำย่อของคำต่อไปนี้:
S มาจากคำว่า Social หรือสังคม สิ่งที่เราจะต้องตามคือพฤติกรรมของคนไทยเรื่องต่างๆ ต้องรู้ว่าสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร มีอะไรที่แตกต่างจากชาติอื่นและเป็นเพราะอะไร การเปลี่ยนแปลงจะไปทางไหนและเกิดขึ้นเมื่อไร และจะส่งผลกระทบอะไรบ้างโดยเฉพาะกับหุ้นที่ลงทุน
วิธีการวิเคราะห์นั้น ประเด็นใหญ่ก็คือการสังเกตพฤติกรรมของคนทั่วไป คนรอบข้าง ดูว่าเป็นใครและอายุเท่าไร การอ่านข่าวสารทางสังคมในแวดวงต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เป็นคนชั้นนำ เช่น เหล่า “ดารา” ในวงการต่าง ๆ “ไอดอล” ของคนแต่ละกลุ่มเป็นใคร
ที่สำคัญยิ่งกว่าคือดูการ “เปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวที่จะกระทบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทและต่อหุ้นในที่สุด ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างชัดเจนช่วงนี้คือการที่คนมักจะ “ก้มหน้าจิ้มเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่นานๆ” หรือการที่ผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชายบางคนทำศัลยกรรมหรือปรับแต่งใบหน้าและร่างกายส่วนอื่นกัน จนเป็นเรื่อง “ปกติ” หรือการที่คนหนุ่มสาวต่างมีคอนโดมิเนียมกันแพร่หลาย และอาศัยอยู่กันเป็นบ้านหลังแรกเป็นต้น
P มาจากคำว่า Politics คือเรื่องการเมือง เราต้องวิเคราะห์ว่าแนวโน้มของการเมืองไทยนั้น จะเป็นอย่างไรและมันจะกระทบกับเศรษฐกิจและธุรกิจโดยรวมอย่างไร ประเด็นคือการเมืองที่อันตรายที่สุดของตลาดหุ้นคือระบบการเมืองที่ “ปิดประเทศ” หรือทำให้ประเทศกลายเป็นประเทศปิด เนื่องจากไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก
อันตรายต่อมาคือการเมืองที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย เนื่องจากคนไทยกลุ่มใหญ่บางกลุ่มไม่ยอมรับ“กติกา” ในการเข้าสู่อำนาจการปกครอง และนำไปสู่การต่อสู้หรือการรบพุ่ง จนทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้เป็นปกติ อย่างเช่นที่เกิดในตะวันออกกลางบางประเทศ เป็นต้น ตรงกันข้าม ระบบการเมืองที่เอื้ออำนวยที่สุดต่อตลาดหุ้นและบริษัทคือระบบเสรีประชาธิปไตย อย่างที่เป็นในประเทศที่ก้าวหน้าทั้งหลาย
E มาจากคำว่า Economics คือเรื่องเศรษฐกิจ การวิเคราะห์เรื่องนี้ ผมไม่ใคร่สนใจภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงสั้นแค่ปีหรือสองปี เพราะคิดว่าไม่ค่อยจะมีผลอะไรกับบริษัทในระยะยาว สิ่งที่สนใจติดตามและวิเคราะห์คือ การเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศว่าจะไปถึงไหน?
การวิเคราะห์เรื่องนี้มักจะดูถึง “โปรไฟล์” ของประชากรคนไทย ซึ่งรวมถึงอายุ ความสามารถ และรวมถึงทำเลที่ตั้งของประเทศ และอื่นๆ ที่เป็นเรื่องของ “โครงสร้าง” ที่ไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย
สิ่งที่ผมจะพยายามหาข้อสรุป เช่น อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จะโตต่อไปได้ประมาณปีละกี่เปอร์เซ็นต์ และจะโตไปได้อีกกี่ปี คำตอบของผมอาจจะเป็นว่า ประเทศไทยอาจโตแบบค่อนข้างเร็วต่อไปได้อีกซัก 10 ปี หลังจากนั้นคงโตช้าลงหรือหยุดโต กลายเป็นประเทศที่ “ติดกับดัก” ชาติที่มีรายได้ปานกลาง เหมือนอย่างอาร์เจนตินาหรืออีกหลายประเทศ เป็นต้น และถ้าเป็นแบบนั้น การลงทุนของผมจะทำอย่างไร?
L มาจากคำว่า Legal หรือกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือบริษัทหรือต่อความมั่งคั่งของเราในแง่ของการลงทุนในหุ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงที่จะเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนในหุ้น แบบนี้ก็เห็นได้ชัดว่าทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นลดลง ราคาหุ้นคงถูกกระทบอย่างรุนแรงเพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับหุ้นโดยตรง ยังมีกฎหมายมากมายที่อาจจะกระทบกับบริษัทโดยรวมหรือกระทบอย่างแรงต่อบางบริษัทในด้านของผลประกอบการ แบบนี้ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และในบางครั้งต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง ถ้าดูแล้วว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นสูงพอควรเป็นต้น
สุดท้ายก็คือ T ซึ่งมาจากคำว่า Technology นี่คือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่นับวันเกิดบ่อยและเร็วขึ้นมาก จนเป็นความเสี่ยงรุนแรงที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุนโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับเทคโนโลยี หลายๆ บริษัทต้องล้มหายตายจากหรือมีผลประกอบการตกต่ำลงมากอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ หรือมาทำลายความเข้มแข็งเดิมที่มีอยู่
ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและเทปเพลงที่ถูกอินเทอร์เน็ตเข้าแย่งชิงตลาดไปมาก เป็นต้น ดังนั้น การติดตามเรื่องของเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะกิจการที่อาจจะอยู่ในข่ายที่ถูกกระทบอย่างรุนแรงได้
ก่อนที่จะจบบทความนี้ ได้แต่หวังว่า การเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ของประเทศไทยเรานั้น ถ้าจะเกิดความเสียหายก็เกิดขึ้นเฉพาะจุด เฉพาะบางบริษัท อย่าได้เกิดรุนแรงจนกระทั่งกระทบไปทั้งระบบ เพราะในกรณีอย่างนั้น อาจเหมือนกับ“น้ำ”ที่เสียจนกระทั่ง “ปลา” ทั้งหลายไม่สามารถอยู่รอดได้
SPELT โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Value Investor จำนวนมาก “ถูกสอน” ไม่ให้สนใจภาวะเศรษฐกิจการเมืองหรือปัจจัยภายนอกต่างๆ
ที่ “ไม่เกี่ยว” กับบริษัทที่เราจะลงทุน พวกเขาอ่านหนังสือของ ปีเตอร์ ลินช์ ที่บอกว่าเราไม่ควรสนใจว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญก็คือตัวกิจการหรือบริษัทหรือหุ้นที่จะลงทุน ถ้าดีเสียอย่างก็ไม่ต้องกังวล ราคาหุ้นนั้นจะปรับตัวตามผลประกอบการของบริษัท ไม่ใช่ตามภาวะเศรษฐกิจ
เมื่อพูดถึงการเมืองที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง บางทีแทนที่หุ้นจะลง กลับปรับตัวขึ้น ดังนั้น VI จึงค่อนข้างจะเชื่อ และมั่นใจว่าไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องภาวะเศรษฐกิจ การเมือง หรือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่เป็น “ภาพใหญ่” สิ่งที่ต้องวิเคราะห์คือตัวบริษัทว่าเป็นอย่างไร และอาจถูกกระทบโดยตรงอย่างไรจากปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น
ผมเองคิดว่าแนวความคิดดังกล่าวอาจถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมา เหตุผลไม่ใช่เพราะว่าปัจจัยภายนอกไม่ได้มีอะไรที่จะกระทบกับการลงทุน แต่เหตุผลนั้นเป็นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่เกิดขึ้น “ไม่เคย” กระทบกับการทำธุรกิจบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าจะมีบ้างก็เป็นช่วงสั้นๆ ไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี
ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม และในระยะยาวแล้ว สภาพแวดล้อมมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ และดังนั้น VI ที่ไม่ได้สนใจกับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกอื่นๆ ก็ไม่เกิดความเสียเปรียบหรือเสียหาย นานเข้าก็เลยรู้สึกว่าไม่ต้องสนใจกับการวิเคราะห์ “ภาพใหญ่” ให้เสียเวลา และถ้ายิ่งไป “คิดมาก” อาจทำให้เรากระวนกระวายใจหรือกลัว และอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้
แต่ความจริงคือภาพใหญ่นั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปอย่าง“ถาวร” ซึ่งจะกระทบกับกิจการหรือบริษัทหรือหุ้นที่ลงทุน อย่าลืมว่า กิจการนั้นเหมือน “ปลา” และภาพใหญ่นั้นเหมือน “น้ำ” ถ้าน้ำนั้นมีปัญหาหรือไม่เหมาะสม ปลาจะอยู่ลำบาก ถ้าน้ำเป็น “พิษ” ปลาก็อยู่ไม่ได้
ที่ผ่านมานั้นน้ำค่อนข้างจะ “สะอาด” และอยู่ในสภาพที่ดี เลยไม่รู้สึกอะไร ไม่รู้สึกว่าคุณภาพของน้ำนั้นมีความสำคัญ และไม่สนใจที่จะต้องเฝ้าดูและติดตาม แต่เราไม่รู้หรอกว่าน้ำโดยเฉพาะของไทยนั้น อาจเปลี่ยนไปได้มากมายและกลายเป็นพิษที่อาจจะทำลายปลาได้ การวิเคราะห์ภาพใหญ่หรือปัจจัยภายนอกนั้น ถ้าจะให้ครอบคลุมควรใช้กรอบที่เรียกว่า “SPELT” ซึ่งเป็นคำย่อของคำต่อไปนี้:
S มาจากคำว่า Social หรือสังคม สิ่งที่เราจะต้องตามคือพฤติกรรมของคนไทยเรื่องต่างๆ ต้องรู้ว่าสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร มีอะไรที่แตกต่างจากชาติอื่นและเป็นเพราะอะไร การเปลี่ยนแปลงจะไปทางไหนและเกิดขึ้นเมื่อไร และจะส่งผลกระทบอะไรบ้างโดยเฉพาะกับหุ้นที่ลงทุน
วิธีการวิเคราะห์นั้น ประเด็นใหญ่ก็คือการสังเกตพฤติกรรมของคนทั่วไป คนรอบข้าง ดูว่าเป็นใครและอายุเท่าไร การอ่านข่าวสารทางสังคมในแวดวงต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เป็นคนชั้นนำ เช่น เหล่า “ดารา” ในวงการต่าง ๆ “ไอดอล” ของคนแต่ละกลุ่มเป็นใคร
ที่สำคัญยิ่งกว่าคือดูการ “เปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวที่จะกระทบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทและต่อหุ้นในที่สุด ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างชัดเจนช่วงนี้คือการที่คนมักจะ “ก้มหน้าจิ้มเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่นานๆ” หรือการที่ผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชายบางคนทำศัลยกรรมหรือปรับแต่งใบหน้าและร่างกายส่วนอื่นกัน จนเป็นเรื่อง “ปกติ” หรือการที่คนหนุ่มสาวต่างมีคอนโดมิเนียมกันแพร่หลาย และอาศัยอยู่กันเป็นบ้านหลังแรกเป็นต้น
P มาจากคำว่า Politics คือเรื่องการเมือง เราต้องวิเคราะห์ว่าแนวโน้มของการเมืองไทยนั้น จะเป็นอย่างไรและมันจะกระทบกับเศรษฐกิจและธุรกิจโดยรวมอย่างไร ประเด็นคือการเมืองที่อันตรายที่สุดของตลาดหุ้นคือระบบการเมืองที่ “ปิดประเทศ” หรือทำให้ประเทศกลายเป็นประเทศปิด เนื่องจากไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก
อันตรายต่อมาคือการเมืองที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย เนื่องจากคนไทยกลุ่มใหญ่บางกลุ่มไม่ยอมรับ“กติกา” ในการเข้าสู่อำนาจการปกครอง และนำไปสู่การต่อสู้หรือการรบพุ่ง จนทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้เป็นปกติ อย่างเช่นที่เกิดในตะวันออกกลางบางประเทศ เป็นต้น ตรงกันข้าม ระบบการเมืองที่เอื้ออำนวยที่สุดต่อตลาดหุ้นและบริษัทคือระบบเสรีประชาธิปไตย อย่างที่เป็นในประเทศที่ก้าวหน้าทั้งหลาย
E มาจากคำว่า Economics คือเรื่องเศรษฐกิจ การวิเคราะห์เรื่องนี้ ผมไม่ใคร่สนใจภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงสั้นแค่ปีหรือสองปี เพราะคิดว่าไม่ค่อยจะมีผลอะไรกับบริษัทในระยะยาว สิ่งที่สนใจติดตามและวิเคราะห์คือ การเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศว่าจะไปถึงไหน?
การวิเคราะห์เรื่องนี้มักจะดูถึง “โปรไฟล์” ของประชากรคนไทย ซึ่งรวมถึงอายุ ความสามารถ และรวมถึงทำเลที่ตั้งของประเทศ และอื่นๆ ที่เป็นเรื่องของ “โครงสร้าง” ที่ไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย
สิ่งที่ผมจะพยายามหาข้อสรุป เช่น อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จะโตต่อไปได้ประมาณปีละกี่เปอร์เซ็นต์ และจะโตไปได้อีกกี่ปี คำตอบของผมอาจจะเป็นว่า ประเทศไทยอาจโตแบบค่อนข้างเร็วต่อไปได้อีกซัก 10 ปี หลังจากนั้นคงโตช้าลงหรือหยุดโต กลายเป็นประเทศที่ “ติดกับดัก” ชาติที่มีรายได้ปานกลาง เหมือนอย่างอาร์เจนตินาหรืออีกหลายประเทศ เป็นต้น และถ้าเป็นแบบนั้น การลงทุนของผมจะทำอย่างไร?
L มาจากคำว่า Legal หรือกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือบริษัทหรือต่อความมั่งคั่งของเราในแง่ของการลงทุนในหุ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงที่จะเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนในหุ้น แบบนี้ก็เห็นได้ชัดว่าทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นลดลง ราคาหุ้นคงถูกกระทบอย่างรุนแรงเพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับหุ้นโดยตรง ยังมีกฎหมายมากมายที่อาจจะกระทบกับบริษัทโดยรวมหรือกระทบอย่างแรงต่อบางบริษัทในด้านของผลประกอบการ แบบนี้ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และในบางครั้งต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง ถ้าดูแล้วว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นสูงพอควรเป็นต้น
สุดท้ายก็คือ T ซึ่งมาจากคำว่า Technology นี่คือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่นับวันเกิดบ่อยและเร็วขึ้นมาก จนเป็นความเสี่ยงรุนแรงที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุนโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับเทคโนโลยี หลายๆ บริษัทต้องล้มหายตายจากหรือมีผลประกอบการตกต่ำลงมากอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ หรือมาทำลายความเข้มแข็งเดิมที่มีอยู่
ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและเทปเพลงที่ถูกอินเทอร์เน็ตเข้าแย่งชิงตลาดไปมาก เป็นต้น ดังนั้น การติดตามเรื่องของเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะกิจการที่อาจจะอยู่ในข่ายที่ถูกกระทบอย่างรุนแรงได้
ก่อนที่จะจบบทความนี้ ได้แต่หวังว่า การเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ของประเทศไทยเรานั้น ถ้าจะเกิดความเสียหายก็เกิดขึ้นเฉพาะจุด เฉพาะบางบริษัท อย่าได้เกิดรุนแรงจนกระทั่งกระทบไปทั้งระบบ เพราะในกรณีอย่างนั้น อาจเหมือนกับ“น้ำ”ที่เสียจนกระทั่ง “ปลา” ทั้งหลายไม่สามารถอยู่รอดได้