บทความน่าอ่าน : ระทึกโค้งท้าย เกมเดิมพันอำนาจ

กระทู้สนทนา
.
เห็นว่าเข้าท่า ก็เลยคัดมาจากจาก ทีมวิเคราะห์ข่าวสดออนไลน์มาให้อ่านกันครับ


+++++++++++++++++++++++++++


" ระทึกโค้งท้าย เกมเดิมพันอำนาจ "


สัญญาณหลายอย่างชี้ชัดเกมเดิมพันอำนาจการเมืองที่สองฝ่ายเปิดฉากตะลุมบอนกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เดินทางเข้าสู่ช่วงยกสุดท้าย

โดยมีการวินิจฉัยคดีโครงการจำนำข้าวของป.ป.ช. และการชี้สถานภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นปัจจัยชี้ขาด

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การวินิจฉัยตัดสินคดีความต่างๆ ขององค์กรอิสระในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงพอเดาออกว่า

สุดท้ายแล้วชะตากรรมนายกฯ หญิงคนแรกของไทย

จะซ้ำรอยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 3 อดีตนายกฯ ก่อนหน้านี้หรือไม่อย่างไร

ภายใต้วิกฤตการเมืองในรอบเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา

จริงอยู่ถึงแม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะถูกรุกไล่ตามแผน"ทฤษฎีสมคบคิด" ของฝ่ายต่อต้าน

แต่ก็แข็งใจยืนหยัดเอาตัวรอดมาได้โดยถือเอาหลักกฎหมายและกติกาประชาธิปไตยเป็นเกราะป้องกัน บางครั้งยังใช้เกราะป้องกันดังกล่าวแทนอาวุธ รุกกลับฝ่ายตรงข้ามได้หลายครั้ง

ล่าสุดประเด็นร้อนต้อนรับปีใหม่ไทย

กรณี นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม และ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) อ่านแถลงการณ์

เรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ร่วมป้องกันวิกฤตการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการประกาศระดมไพร่พลเตรียมจัดชุมนุมใหญ่มวลชนทั้งฝ่ายนปช.และกปปส.

ภายใต้เงื่อนไขการวินิจฉัยคดีจำนำข้าวของป.ป.ช.และการชี้สถานภาพนายกฯ ของศาลรัฐธรรมนูญ

แถลงการณ์ ศอ.รส. เนื้อหาหลักๆ พุ่งเป้าเรียกร้องไปยังป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ว่าต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินเลยจากรัฐธรรมนูญ

ทั้งยังเรียกร้องต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.ด้วยว่า สมควรจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

เรียกร้องแกนนำนปช.และกปปส. ยุติการชุมนุม พร้อมเรียกร้องประชาชนให้งดเว้นเข้าร่วมการชุมนุมกับทุกกลุ่ม

ส่วนการแก้ไขไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติชี้ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพนายกฯ ศอ.รส.เห็นว่ารัฐบาลมีความชอบที่จะทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยว่าครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยหรือไม่

เพราะครม.เป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ ถ้าต้องพ้นตำแหน่งก็ไม่สมควรให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด

ซึ่งเป็นความเห็นสอดคล้องกับความเห็นของ นายชัยเกษม ที่ออกมาเปิดประเด็นเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามได้มากพอสมควรในช่วง หยุดสงกรานต์

"หากเป็นเช่นนี้จะเสนอรัฐบาลให้ทูลเกล้าฯ ตามมาตรา 7 เพื่อขอให้พระองค์ท่านทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ชี้แนะว่าจะทำอย่างไร"

นายชัยเกษมระบุข้อเสนอดังกล่าวเป็นแค่การเตรียมหาทางออกไว้ล่วงหน้าเท่านั้น โดยไม่ทิ้งความหวังว่าท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้วินิจฉัยออกมาในทางที่เป็นผลร้ายกับรัฐบาลก็ได้

ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้ผลีผลามตอบรับหรือปฏิเสธต่อแนวทางนายชัยเกษม เพราะเห็นว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำได้

แตกต่างจากกรณีคณะรัฐบุคคล นำโดยพล.อ. สายหยุด เกิดผล อดีตผบ.สส. ที่เสนอให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็น ผู้เสนอร่างพระบรมราชโองการขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อหาทางออกให้ประเทศ

ซึ่งเป็นวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ ไม่มีฐานกฎหมายรองรับ

ทั้งยังถูกมองว่ามีเจตนาเปิดทางให้เกิดนายกฯ มาตรา 7 อันเป็นแนวทางตามที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลผลักดันมาตลอด

ล่าสุดยังมีประเด็นชวนให้หวาดระแวง

กรณี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ออกมาเปิดโรดแม็ปจัดเลือกตั้งครั้งใหม่ ว่ากกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างเร็วที่สุดภายใน 90 วัน

โดยกำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 20 หรือไม่ก็ 27 ก.ค. หากไม่มีอุปสรรคขัดขวาง คาดว่าจะประกาศรับรองส.ส.ใหม่ครบร้อยละ 95 ได้ราวปลายเดือนส.ค.

นั่นเท่ากับว่าจะเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ ชุดใหม่ เพื่อเลือกประธานสภาและนายกฯ ใหม่ในเดือนก.ย. จากนั้นนายกฯ จะจัดตั้งคณะรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเริ่มทำงานเต็มสตรีมได้ประมาณปลายต.ค.

หากนับจากวันนี้ก็อีก 6 เดือนเต็มๆ


ที่หลายคนสงสัยก็คือ การยื้อเวลาจัดการเลือกตั้งออกไปนาน 90 วัน

สอดรับกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า เพราะ กกต.คือ 1 ในหุ้นส่วนทฤษฎีสมคบคิด ทำหน้าที่เป็นเครื่องหน่วงเวลา รอให้ศาลรัฐธรรมนูญและป.ป.ช.ลงดาบเชือดนายกฯ และรัฐบาลชุดนี้

เพื่อสร้างเงื่อนไขสุญญากาศทางการเมือง นำไปสู่การมีนายกฯ มาตรา 7 รัฐบาลที่มาจากคนกลาง และสภาประชาชน

ตามความต้องการของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่ประกาศพร้อมตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทันทีที่องค์กรอิสระองค์กรใดองค์กรหนึ่งสามารถเขี่ยนายกฯ และรัฐบาลพ้นจากอำนาจได้สำเร็จ

ภายใต้สถานการณ์เดินมาถึงจุด ชี้เป็นชี้ตาย

การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอยืดเวลาชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากกำหนดเส้นตาย 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ออกไปอีก 15 วัน

หรือความพยายามที่จะยื่นเรื่อง ต่อป.ป.ช. ขอเพิ่มเติมพยานปากสำคัญในการสอบสวนชี้มูลโครงการรับจำนำข้าว ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่แท็กติกช่วงทดเจ็บ ก่อนหมดเวลาจริง

นั่นเพราะรัฐบาลต้องการรอความชัดเจนจาก กกต.ในเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่

เพื่อเป็นหลักประกันยืนยันต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ว่าวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองของไทยจะต้องได้รับการแก้ไขตามกฎกติกาประชาธิปไตยเท่านั้น

ไม่มีทางแยก ไม่มีทางเลือกอื่น

ขณะเดียวกันถึงภายนอกดูเหมือนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเดินเกมได้เชื่อมโยงลื่นไหล..?

แต่เชื่อว่าถึงอย่างไรก็ต้องแคร์กับกระแสสังคมโลก ที่จับตามองใกล้ชิดถึงเส้นทางอนาคตประชาธิปไตยในไทยว่าจะสะดุดหยุดลงอีกครั้งหรือไม่

แต่นั่นยังไม่น่าห่วงเท่ากับแรงกดดันเฉพาะหน้า กรณีแกนนำนปช.ประกาศเตรียมนัดชุมนุมใหญ่ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสินน.ส.ยิ่งลักษณ์ ล่วงหน้า 1 วัน

เสี่ยงต่อการเผชิญหน้ารุนแรงกับม็อบ กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศจะระดมมวลชนชุมนุมใหญ่ทำสงครามครั้งสุดท้ายในวันเวลาเดียวกัน

เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงที่ประชาชนทั้งประเทศไม่อยากให้เกิดขึ้น

ซึ่งก็สามารถเลี่ยงได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือการที่องค์กรอิสระทำหน้าที่วินิจฉัยตัดสินคดีความ

อย่างยุติธรรมและตรงไปตรงมาเท่านั้นเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่