สื่อนอก The Economist ชี้การเมืองไทยไร้ซึ่งศรัทธา

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

สื่ออังกฤษชื่อดังอย่าง "The Economist" ลงบทวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย  โดยระบุว่า จากนี้ต้องจับตาให้ดีต่อไป เนื่องจากทั้งสองขั้วทางการเมือง  รู้สึกสูญเสียศรัทธา และคิดว่าไม่เหลืออะไรอีกแล้ว สิ่งเดียวที่เหลืออยู่  คือการต่อสู้จนหยดสุดท้ายเท่านั้น

ทั่วโลกหันมาจับตาสถานการณ์ทางการเมืองในไทยอีกครั้ง  หลังศาลรัฐธรรมนูญ  มีคำวินิจฉัยให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีโยกย้ายตำแหน่งนายถวิล เปลี่ยนศรี  ประกอบกับการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่ยืดเยื้อกว่า 6 เดือน และการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ยังไม่เกิดขึ้น

The Economist  เผยแพร่บทวิเคราะห์ที่มีชื่อว่า Out o หรือไม่มีโชค โดยระบุว่า สถานการณ์จากนี้ จะเข้มข้นมากขึ้น เพราะเห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะเดินหน้าประท้วงต่อไป เนื่องจากจุดประสงค์หลักของพวกเขา  คือการกวาดล้างเครือข่ายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะยังเหลือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คนในรัฐบาล ที่มาจากพรรคเพื่อไทย ก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน

The Economist มองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้  เป็นการย้ำชัดถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยที่มีปัญหา และสำคัญที่สุด คือเป็นการตอกย้ำคนเสื้อแดงและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลว่า กระบวนการยุติธรรมไทยไม่มีความเป็นธรรม และผลักดันให้รัฐบาลชุดนี้  ไม่มีพื้นที่ในเกมการเมืองอีกต่อไป   ซึ่งแน่นอนว่า พวกเขาจะออกมาประท้วงคำวินิจฉัยของศาลในเร็วๆนี้ ท่ามกลางการเดินขบวนของฝ่ายกปปส.ที่ยังไม่จบสิ้น ซึ่งนี่อาจจะเป็นปัจจัยให้อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนแรงขึ้นอีก

สิ่งเดียวที่ฝ่ายเสื้อแดงและรัฐบาลหวังเอาไว้ ก็คือการเลือกตั้งครั้งต่อไปต้องเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งแม้ว่ากกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งออกมาแล้วว่าเป็นวันที่ 20 กรกฎาคม แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดขึ้ยจริงและราบรื่น และแน่นอนว่า พรรคประชาธิปัตย์ ขั้วตรงข้ามของรัฐบาล อาจจะบอยคอตการเลือกตั้งนี้อีก

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้เห็นได้ว่าในตอนนี้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายหมดหวังกับสิ่งที่แต่ละฝ่ายศรัทธา โดยพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงไม่เหลือความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและระบอบอำมาตย์ ขณะที่ ฝ่ายกปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขายังคงเชื่อมั่นเหมือนกันก็คือ พวกเขาต้องต่อสู้ จนกว่าจะได้ชัยชนะ

ดังนั้น ทางออกเดียวของปัญหานี้ ก็คือทั้งสองฝ่ายจะต้องหารือกันโดยเร็วที่สุด เพื่อยอมรับเงื่อนไขของกันและกัน และทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยทุกพรรคการเมืองจะต้องมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างเต็มใจ และเท่าเทียมกัน

ที่มา : http://news.voicetv.co.th/democracycrisis/105121.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่