สัมภาษณ์พิเศษ จาตุรนต์ ฉายแสง : วิกฤติการเมืองไทย ภายใต้แรงกดดันอันไม่เป็นประชาธิปไตย ตอนที่ 1

ที่มา: https://www.facebook.com/Chaturon.FanPage



สัมภาษณ์พิเศษ จาตุรนต์ ฉายแสง : วิกฤติการเมืองไทย ภายใต้แรงกดดันอันไม่เป็นประชาธิปไตย ตอนที่ 1
วันที่ 14 มีนาคม 2557

บทบาทขององค์กรอิสระต่อการเมืองไทยในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร ?

คือบทบาทขององค์กรอิสระความจริงต้องพูดว่าองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารปี 49 หลังจากนั้นก็ยังมีต่อเนื่องกันมา โดยเฉพาะเมื่อหลังการเลือกตั้งครั้งแรกที่เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็มีการเลือกตั้ง ต่อจากนั้นมาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญก็เข้ามาตามแบบที่เรียกกันว่าตุลาการภิวัฒน์ บทบาทขององค์กรพวกนี้คือเข้ามาจัดการการเมือง โดยเนื่องจากหลังการเลือกตั้ง คมช มีความต้องการให้ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เมื่อไม่ได้เป็น แต่กลับเป็นที่ประชาชนเลือกมา คือพรรคพลังประชาชน องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญจึงเข้ามาจัดการโดยร่วมมือกับกลุ่มที่ชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย ในเวลานั้นก็คือพันธมิตร แล้วก็มีการสนับสนุนการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการปิดทำเนียบ หรือต่อมาคือยึดสนามบิน แต่ก็ล้มรัฐบาลไม่ได้ พูดโดยย่อๆ องค์กรอิสระอย่าง ปปช. กกต. ก็โชว์เรื่องแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยให้นายกพ้นไปบ้าง ยุบพรรคการเมืองบ้าง บทบาทในลักษณะนี้ก็คือเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็ทำให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร คือรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในขณะเดียวกันองค์กรอย่าง กกต. ซึ่งทำเรื่องยุบพรรคการเมือง ก็ยุบเสียสามพรรค พลังประชาชน มัชฌิมา แล้วก็พรรคชาติไทย คือทั้งศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. ร่วมมือกัน ท้ายสุดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทำผิดชัดเจนอย่างมาก ก็ไม่ถูกยุบ มันก็ทำให้เห็นถึงความเป็นสองมาตรฐาน เป็นองค์กรหรือกระบวนการที่ต้องการที่ให้โทษฝ่ายหนึ่ง แล้วให้คุณอีกฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน ก็เป็นปัญหามาเรื่อย

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้นกำลังพยายามทำอะไร?

กปปส. ที่นำโดยสุเทพและพวก และสนับสนุนร่วมมือโดยพรรคประชาธิปัตย์ สร้างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อสร้างแรงกดดันสร้างสภาพที่รัฐบาลบริหารปกครองไม่ได้ และเพื่อที่จะให้เกิดความรุนแรงนำไปส่การรัฐประหาร แต่มันก็ยังไม่สามารถ คือเรียกได้ว่าทำให้นายกฯ ต้องยุบสภาไปแล้ว แต่ ก็ยังไม่สามารถได้รัฐบาลใหม่อย่างที่ฝ่ายที่เคลื่อนไหวคือฝ่ายผู้มีอำนาจต้องการ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง ถึงแม้จะทำยังไงก็ยังทำให้พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลไม่ได้ อย่างเลือกตั้งครั้งนี้ประชาธิปัตย์ก็ไม่ลงอีก ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ที่ทำๆกันอยู่นี่ เขาไม่ได้ต้องการแค่ให้รัฐบาลนี้ล่มไป เขาต้องการหลักประกันว่า จะมีการเลือกตั้งอีก เมื่อไรก็ตาม เลือกตั้งแบบครั้งนี้เค้าไม่เอาแล้ว เพราะเลือกยังไงก็ไม่ได้พรรคประชาธิปัตย์ ในอนาคตถ้ามีการเลือกตั้ง หนึ่งก็คือไม่ให้พรรคเพื่อไทยกับพวกมาเป็นรัฐบาล ให้ฝ่ายอื่นมาเป็น ฝ่ายอื่นที่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ หรือประชาธิปัตย์กับคนนอกก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องการคือรัฐธรรมนูญที่มีหลักประกันว่า ฝ่ายเพื่อไทยจะต้องไม่เป็นรัฐบาล ฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่เขากำหนดได้ จะมาเป็นรัฐบาล นั่นหมายความว่าต้องเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนกติกา เปลี่ยนยังไงก็คือที่ว่าปฎิรูปก่อนเลือกตั้งนี่แหละ จะปฎิรูปทำยังไง เพราะในกติกาปัจจุบันการปฎิรูปในกติกามันทำไม่ได้แล้ว ไม่มีสภาแก้กฎหมายไม่ได้ ครม. ถูกจำกัด ออกมติอะไรมีผลบังคับใช้ในครั้งหน้าไม่ได้ ก็ปฎิรูปโดยรัฐสภาก็ไม่ได้ ปฎิรูปโดยรัฐบาลก็ไม่ได้ แต่เขาบอกจะปฎิรูปก่อน ก็คือต้องเปลี่ยนกติกา จะเปลี่ยนยังไง ในเมื่อรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำไม่ได้ ก็คือต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ฉีกรัฐธรรมนูญก็ทำได้โดยให้องค์กรอิสระชงเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั่นก็แบบหนึ่ง ก็วินิจฉัยแบบไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเอาดื้อๆ ซึ่งก็ทำมาหลายเรื่องแล้ว ทำอีกก็จะเกิดการเปลี่ยนได้ สำคัญที่ว่าเปลี่ยนอย่างนั้น ประชาชนจะยอมไหม คนเขาจะยอมไหม ให้มีรัฐบาลคนนอกมาใครก็ไม่รู้มาบริหารตามใจชอบ ก็อาจจะเกิดการต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง พอต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง ผู้นำกองทัพก็อาจจะออกมาบอกว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมายบ้างล่ะ จากปัจจุบันบอกว่าขอวางตัวเป็นกลาง แต่ถ้าเสื้อแดงออกมาเมื่อไรก็พร้อมจะเล่นงาน เพราะฉะนั้นในอนาคตถ้าเกิดมีการฉีกรัฐธรรมนูญกันโดยองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ มีคนมาต่อต้าน ก็อาจมีคนออกมาเล่นงาน มันก็จะกลายเป็นความรุนแรงต่อไป และก็อาจจะนำไปสู่การรัฐประหารได้

กกต. มีบทบาทอะไรกับการพยายามล้มรัฐบาล?

ต่อการเลือกตั้ง จะเห็นบทบาทของ กกต. ไม่ได้เต็มใจจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จ แล้วก็ไม่ได้พยายามเอาจริงเอาจังกับการเลือกตั้ง คือ คนขัดขวางเลือกตั้ง กกต. ก็วางตัวเป็นผู้ใจดีมาก คนมาชุมนุมขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้ง ก็บอกว่าเขามาแสดงสิทธิเสรีภาพ ไม่เรียกว่าเป็นผู้ขัดขวาง ก็ไม่ค่อยปรากฎว่า กกต. เอาจริงเอาจังกับการดำเนินคดี ฝ่ายรัฐบาลก็บอก กกต. ว่าควรดำเนินคดีมากขึ้น แล้วก็พยายามทำอะไรอย่างช้าๆ ชี้ช่องว่าการเลือกตั้งน่าจะเป็นโมฆะ ตอนนี้ก็เห็น กกต. มาเล่นงานนักการเมือง รัฐมนตรีบ้าง พยายามเอาผิดนักการเมืองที่เคยออกรายการโทรทัศน์ โดยจะเล่นงานหลายแง่หลายมุม ทั้งๆที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามปรกติ แต่ กกต. ไม่ดำเนินการไม่สนใจอะไรพวกที่ขัดขวางการเลือกตั้ง นี่แสดงถึงความไม่เป็นกลาง ที่สำคัญคือ ไม่ตั้งใจให้การเลือกตั้งนี้แล้วเสร็จ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่