วิธีการฝึกสมาธิอย่างง่ายๆ

สมาธิ คือ อาการที่จิตเพ่ง หรือจดจ่อ หรือจับอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานานๆ (แต่ถ้าจิตไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ไม่ดี เช่น เรื่องทางเพศ หรือสิ่งที่มาทำให้เกิดความโกรธ ก็จะเป็น สมาธิผิด ซึ่งสมาธิผิดจะนำมาใช้ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ไม่ได้ เพราะสมาธิผิดจะทำให้จิตเกิดความทุกข์อยู่ตลอดเวลา) อย่างเช่น เวลาเราตั้งใจฟังครูสอน หรือตั้งใจอ่านหนังสือ เราก็จะมีสมาธิขึ้นมาแล้วโดยอัตโนมัติ ซึ่งนี่ก็คือสมาธิที่จำเป็นสำหรับการนำมาใช้คู่กับปัญญาในการปฏิบัติของเรา

ตามปกติเราก็พอจะมีสมาธิกันอยู่บ้างแล้ว เพียงแต่จะไม่มากพอเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรมาฝึกให้จิตเกิดสมาธิกันให้มากขึ้นจนเป็นเป็นนิสัย  ซึ่งการฝึกให้จิตมีสมาธิโดยตรงนั้นก็สามารถทำได้โดยการตั้งใจในการทำ, พูด, หรือคิดของเราเอง หรือในการทำกิจวัตรประจำวันของเราก็ได้ หรือใครจะมาฝึกโดยอ้อมตามวิธีการที่มีผู้สอนเอาไว้ก็ได้ อย่างเช่น การฝึกกำหนดการหายใจของร่างกาย หรือการเพ่งวัตถุ เป็นต้น

วิธีการฝึกกำหนดการหายใจนั้น ปกติเราจะใช้อิริยาบถใดก็ได้ แต่ถ้าเพิ่งเริ่มต้นฝึกควรใช้อิริยาบถนั่งก่อน เพราะจะทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายกว่าอิริยาบถอื่น ส่วนวิธีการฝึกก็ให้เราตั้งใจกำหนดรู้ หรือเอาจิตมาจดจ่ออยู่ที่การหายใจของร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา โดยพยายามอย่าไปกำหนดรู้สิ่งอื่นภายนอกร่างกาย และพยายามอย่าไปคิดถึงเรื่องอื่นที่จะทำให้กิเลสและนิวรณ์เกิดขึ้นมา ซึ่งในการกำหนดรู้การหายใจของร่างกาย เราอาจจะใช้วิธีการนับลมหายใจของเราไปเรื่อยๆเพื่อให้จิตสงบก็ได้ หรือใครจะท่องคำสั้นๆในขณะที่เรากำลังหายใจเข้า-ออก เพื่อให้จิตมีสติอยู่ตลอดเวลาก็ได้ และเมื่อจิตไม่มีกิเลสและนิวรณ์ รวมทั้งมีสติได้นานๆ จิตก็จะมีสมาธิขึ้นมาแล้ว

ถ้าจิตยังไม่สงบ ก็ให้ลองฝึกคิด (คือตั้งใจคิดให้เป็นคำพูดแล้วก็ตั้งใจฟังด้วย) โดยการตั้งใจคิดช้าๆด้วยประโยคสั้นๆ ในขณะที่กำลังหายใจออก แต่เมื่อหายใจเข้าก็ให้หยุดคิด (หรือจะคิดช่วงเวลาหายใจเข้าก็ได้ เมื่อหายใจออกก็ให้หยุดคิด) ซึ่งเรื่องที่คิดควรเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปัญญาหรือความรู้ที่ดีงาม เช่น เรื่องความไม่เที่ยง สภาวะที่ต้องทน และเรื่องความไม่ใช่ตัวเรา-ของเรา หรือเรื่องการทำงาน หรือเรื่องการเรียน หรือเรื่องการเตือนสติตนเอง หรือเรื่องการสอนธรรมะ เป็นต้น ซึ่งการฝึกเช่นนี้จะทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่าย รวมทั้งยังทำให้เกิดปัญญาพร้อมๆกันไปด้วย ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าจิตของเรามีสมาธิหรือยัง ก็ให้สังเกตได้จากการที่จิตของเราสงบหรือไม่ฟุ้งซ่านแล้ว (คือไม่มีกิเลสและนิวรณ์) และความดิ้นรนของจิตก็จะไม่มี รวมทั้งยังมีความสุขที่สงบอยู่ด้วย และสติของเราก็จะมีอยู่ตลอดเวลาด้วย ซึ่งเมื่อจิตไม่มีกิเลสและนิวรณ์ จิตก็ย่อมจะไม่มีความทุกข์แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อจิตไม่มีทุกข์แม้เพียงเล็กน้อย จิตก็จะนิพพานอย่างสูงสุดได้

สรุปได้ว่า สมาธินี้เราทุกคนสามารถฝึกฝนเอาเองได้ จากการตั้งใจเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกต้องหรือดีงามให้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เราก็จะมีสมาธิขึ้นมาได้ แต่เราก็จำเป็นต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมอยู่ก่อนแล้วเป็นพื้นฐาน เราจึงจะฝึกจิตให้มีสมาธิที่ถูกต้องได้  ส่วนสมาธิที่สูงไปกว่านี้ที่เป็นการเพ่งกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนไม่มีการรับรู้สิ่งอื่นๆนั้นไม่จำเป็น เพราะสมาธิเพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะนำมาใช้ดับทุกข์ได้แล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่