...ธรรมะจากพระผู้รู้... โดย พระ ปราโมทย์ ปา โมชฺโช ค่ะ จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 157 ค่ะ

ดอกไม้ดอกไม้ดอกไม้   ธรรมะจากพระผู้รู้ โดย พระ ปราโมทย์ ปา โมชฺโช ค่ะ   ดอกไม้ดอกไม้ดอกไม้

จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 157 ค่ะ
พระจันทร์


ขั้นแรก รักษาศีล ข่มจิตไว้ไม่ให้ตามกิเลสไป
พอชำนาญขึ้นมานะ มีสติรู้ทันกิเลสที่เกิดที่จิต ก็ไม่ต้องข่มจิตมาก เราก็มีศีลขึ้นมา

เรามาฝึกให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขแล้วไม่ยั่วกิเลส จิตได้ความสงบ
พอได้สงบแล้วไม่ให้ไปติดอยู่กับความสงบ ถ้ามันยินดีพอใจในความสงบให้รู้ทันนะ
หรือรู้ทันได้อีกอย่างหนึ่งจะดีมากเลย คืออย่างเวลาเรารู้ลมหายในนะแล้วจิตสงบอยู่กับลมหายใจ ให้เราค่อยๆสังเกตว่าจิตเราไหลไปเกาะอยู่ที่ลมหายใจ หรือว่าจิตสักว่ารู้ลมหายใจ

ถ้าเรารู้ทันว่าจิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ จิตมันจะดีดตัวออกจากลมหายใจ
จิตกับลมหายใจจะแยกออกจากกัน จิตไม่ฟุ้งซ่านด้วย แต่ไม่รวมเข้ากับลมหายใจด้วย
อันนี้เป็นสมาธิชั้นสูงนะ เป็นความตั้งมั่นของจิตที่ถอนตัวออกจากอารมณ์
สงบอยู่ในอารมณ์เดียวนั่นแหละแต่ถอนตัวออกมา
ดูท้องพองยุบอยู่แล้วเกิดรู้ทันว่าจิตไหลไปอยู่ที่ท้อง จิตก็ถอยออกจากท้อง มาเป็นคนดู
การที่จิตถอยตัวออกมาเป็นคนดูได้เนี่ย เรียกว่าเราได้สมาธิที่ยอดเยี่ยมที่สุด
เป็นสมาธิที่จะใช้เดินปัญญาต่อไป ไม่ใช่แค่สมาธิสงบเอาไว้พักผ่อน

สมาธิเลยมีสองแบบ
สมาธิอย่างแรก จิตไหลเข้าไปรวมอยู่กับอารมณ์
พุทโธๆ แล้วไม่หนีไปไหนเลย อยู่แต่พุทโธอย่างเดียว ได้ความสงบ
หายใจไป แล้วจิตไม่หนีไปจากลมหายใจเลย ก็ได้ความสงบ
ดูท้องพองยุบ จิตไปไหลไปอยู่ที่ท้อง ไม่หนีไปจากท้องเลย ได้ความสงบ

แต่ถ้าเรารู้ว่าจิตไหลไป เช่นพุทโธๆ จิตไหลไปคิดเรื่องอื่นเรารู้ทัน
หายใจอยู่ เรารู้ว่าจิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจเรารู้ทัน หรือใจหนีไปคิดเรารู้ทัน
ดูท้องพองยุบอยู่ เรารู้ทันว่าจิตไหลไปอยู่ที่ท้อง หรือจิตไหลไปคิดเรารู้ทัน
ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตไหลไปนั้น มันจะได้สมาธิชนิดหนึ่งคือจิตไม่ไหลไป
จิตตั้งมั่น ไม่เคลื่อนไป จิตตั้งมั่นขึ้นมา
สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิที่วิเศษที่สุดเลยนะ มีเฉพาะในพุทธศาสนา
ถ้าเราได้สมาธิอย่างนี้เราก็จะขึ้นไปสู่ฐานชั้นที่สามแล้ว ก็คือการเจริญปัญญา

เราค่อยๆฝึกไปนะ พอจิตของเราเป็นคนดูได้แล้ว ดูอะไร? ดูกายดูใจมันทำงานนะ
ต้องรู้จักก่อนว่าปัญญาคืออะไร เราจะมาเจริญปัญญา
ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูกเกี่ยวกับกายกับใจ รูปนามขันธ์ ๕ อะไรของเรานี้แหละ
รู้ถูกเข้าใจถูกก็คือรู้ว่ารูปนามกายใจ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อะไรนี้ มีหลายตัว
แต่ความจริงก็คือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายที่เราเคยสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเรา
ปัญญานี้เป็นการรู้ความจริงว่ารูปธรรมนามธรรมทั้งหลายที่เราเห็นว่าเป็นตัวเรานี้
ในความเป็นจริงแล้วเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็ไม่ใช่ตัวเรา

ที่เราจะพัฒนาปัญญานั้นก็เพื่อจะมาฝึกให้เห็นสิ่งเหล่านี้เอง
เราจะพาให้จิตได้เห็นความจริงว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา
พาให้จิตเห็นความจริงนะ ว่ากระทั่งจิตเองหรือสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต
เช่นความสุขความทุกข์ทั้งหลาย กุศลอกุศลทั้งหลาย
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่เรียกว่าปัญญา

เราจะเกิดปัญญาได้ เราต้องรู้กายรู้ใจของเรา
ถ้าเราไม่รู้กายรู้ใจ เราก็ไม่สามารถเห็นความจริงของกายของใจได้ ไม่มีทางเกิดปัญญา
ถ้าเมื่อไหร่ลืมกายลืมใจ ไม่มีทางเกิดปัญญาเลย
เวลาเราลืมกายลืมใจ เรียกว่าเราฟุ้งซ่านไป เรามีโมหะ
โมหะกับปัญญาเลยเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน
ถ้าจิตไม่ฟุ้งซ่าน รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจ เราก็เดินปัญญาได้
ปัญญาเลยมีชื่ออีกหนึ่งว่า “อโมหะ” แปลว่าไม่มีโมหะ ไม่หลงไป

ฝึกตัวเองนะให้จิตมันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวด้วยการฝึกสมาธิที่หลวงพ่อบอกนั่นแหละ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งนะ ถ้าจิตไปสงบอยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้น ได้สมถะ ได้ความสงบ
ทำกรรมฐานอย่างเดิมนั่นแหละ ถ้าเรารู้ทันว่าจิตมันไหลไปอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน หรือไหลไปคิดเรื่องอื่น มันจะได้จิตที่ตั้งมั่น

เมื่อจิตตั้งมั่น มีร่างกายก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย
มีจิตใจมีความรู้สึกนึกคิดต่างๆเกิดขึ้นในจิตใจก็รู้สึกถึงจิตใจ
รู้สึกถึงความความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เช่นความสุขเกิดขึ้นก็รู้ว่ามีความสุข
กุศลอกุศลเกิดขึ้น รู้ว่ามีกุศลอกุศล นี่เรียกว่าเรามีสติตัวจริง

สติตัวจริงเนี่ยจะรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ
แล้วถ้าใจเราตั้งมั่นเป็นคนดูนะ มันจะเห็นกายนั้นทำงานไป
กายมันจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงแสดงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาให้ดู
พอไปเห็นเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์
สติเป็นตัวไปรู้เวทนา จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่
จิตไม่ไหลตามเวทนาแล้วก็ไม่หลงไปคิดเรื่องอื่น เห็นเวทนาอยู่
เวทนานั้นไม่ได้ถูกเพ่งเอาไว้ด้วย ถ้าถูกเพ่งไว้มันจะนิ่งๆ
ไปเพ่งกายก็ใช้ไม่ได้นะ เพ่งเวทนา เพ่งจิต ใช้ไม่ได้สักอย่างเลย มันจะนิ่ง ไม่แสดงไตรลักษณ์

ให้เรามีสติ รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ
มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นคนดู ไม่ใช่จิตที่ถลำไปเพ่ง
ถ้าเวลาเราเพ่งกายเพ่งใจ เพ่งรูปเพ่งนามนะ เรารู้ถึงกายถึงใจถึงรูปถึงนามก็จริง
แต่เราจะไม่เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของกายของใจ มันจะนิ่งไปหมดเลย

งั้นเราต้องไม่ไปเพ่งให้มันนิ่ง เราทำตัวเป็นแค่คนดูสบายๆ
เนี่ยสมาธิชนิดที่เป็นคนดูถึงสำคัญ ทำให้เราเห็นไตรลักษณ์ได้
สมาธิชนิดสงบ จิตไปเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวนะ จะไม่มีไตรลักษณ์ให้ดู เพราะกายก็นิ่งใจก็นิ่ง

งั้นต้องฝึกสมาธิให้ถูกชนิดนะ
บางคนมักง่ายบอกว่าจะเจริญปัญญาต้องมีสมาธิ
ต้องแยกให้ออกว่าเป็นสมาธิชนิดจิตตั้งมั่น
ถ้าจิตสงบนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวไม่มีปัญญาแน่นอนเพราะไตรลักษณ์ไม่เกิด
อย่างเวลาพวกเราจงใจดูจิต รู้สึกไหมมันจะนิ่งไปเลย ใจจะนิ่งๆ ไม่มีอะไรให้ดู
เวลาดูร่างกายนะ ก็นิ่งไปหมดเลย จ้องนิ่งๆ ไม่มีไตรลักษณ์ให้ดู

แต่ถ้าเรารู้ทันว่าจิตมันเคลื่อนไปเพ่งในกาย
เคลื่อนไปเพ่งลมหายใจ เคลื่อนไปเพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง จิตมันถอยออกมา
หรือรู้ทันว่าจิตหนีไปคิด จิตจะถอยออกมาเป็นคนดูได้
เมื่อจิตเป็นคนดูได้ ร่างกายก็จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง
การที่กายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเค้าจะแสดงไตรลักษณ์
การที่จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเค้าจะแสดงไตรลักษณ์

นี่ล่ะหลักของการเจริญปัญญา มีสติ รู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ
ถ้าเมื่อไหร่ใจลอย ใจฟุ้งซ่าน มีร่างกายก็ลืมมัน มีจิตใจก็ลืมมัน อันนี้ใช้ไม่ได้เลย
ทีนี้ถ้ามีสติแล้ว แต่ไม่มีใจตั้งมั่นเป็นคนดู จิตมันจะไหลไปเกาะนิ่งๆอยู่ในกายในใจ
ร่างกายก็นิ่ง ใจก็นิ่ง รู้สึกถึงกายนะแต่กายจะนิ่ง รู้สึกถึงจิตใจนะแต่จิตใจจะนิ่ง ไม่มีไตรลักษณ์ให้ดู

เพราะงั้นจะแสดงไตรลักษณ์ จะรู้ทันความมีอยู่ของกายหรือของใจได้ ด้วยสติ
เราจะเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจได้ ต้องมีสมาธิชนิดจิตตั้งมั่นเป็นคนดู
สมาธิชนิดนี้ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน
สมาธิชนิดนี้อาภัพ ไม่ค่อยมีคนรู้จักหรอก
ถ้าเราฝึกสมาธิชนิดนี้ที่ใจเป็นคนดูขึ้นมาได้นะ
รู้ทันใจที่ไหลไปเนี่ย มันจะเกิดใจที่เป็นคนดูขึ้นมา
มันจะเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจนี้แหละ เรียกว่าการเจริญปัญญา

เมื่อปัญญาของเราแก่รอบ
เราจะเห็นความจริงว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี
ผู้ที่เห็นอย่างนี้ก็เป็นพระโสดาบัน
ถ้าปัญญาแก่กล้าเต็มที่ ก็จะเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ จิตนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ เห็นทุกข์แจ่มแจ้ง
เมื่อเห็นทุกข์แจ่มแจ้ง จิตจะสลัดคืนกายคืนใจให้โลก ไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจอีกต่อไป
หมดหน้าที่ของปัญญาตรงนี้เอง เราก็จะเข้าถึงความเป็นพุทธะ

นึกถึงภาพพระพุทธรูปนะ มีฐานสามชั้นเนี่ย
ในที่สุดเราก็จะเข้าถึงความเป็นพุทธะนะ เพราะว่ามีปัญญาแจ้งแล้ว
แต่ปัญญาลอยๆไม่มีนะ อาศัยสมาธิเป็นฐาน อาศัยศีลเป็นฐาน ซ้อนกันขึ้นมา
งั้นโบราณสร้างพระพุทธรูปนะ มีฐานสามชั้น มีพระอยู่ข้างบน
ถ้าขึ้นไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญานะ ไม่ขึ้นด้วยบันได เราจะพบพระพุทธเจ้าพระองค์จริง
แล้วจะรู้ว่าเราเป็นลูกมีพ่อมีแม่ เราไม่ใช่คนอนาถากำพร้าหรอก
พ่อแม่ของเรามีอยู่จริงๆ พ่อแม่เราไม่ตายด้วยนะ

นานาของขวัญนานามาลัยนานาแต่งตัวนานาเล่นน้ำนานาก่อทรายนานาเดินทาง

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่