ศัตรูของสมาธิ

การที่จะรู้จักสมาธิได้ถูกต้อง เราจะต้องรู้จักกับสิ่งที่ตรงข้ามหรือศัตรูของสมาธิเสียก่อนเพราะเป็นสิ่งตรงข้ามกัน คือเมื่อจิตมีสมาธิ ศัตรูของสมาธิก็จะไม่มี แต่เมื่อที่จิตมีศัตรูของสมาธิครอบงำ จิตก็จะไม่มีสมาธิ โดยศัตรูของสมาธินี้ก็คือสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้จิตเกิดสมาธินั่นเอง ซึ่งศัตรูของสมาธินี้เรียกว่า กิเลส (นิวรณ์ก็คือกิเลสอ่อนๆ) ที่แปลว่า สิ่งสกปรก หรือสิ่งทำให้เกิดความสกปรก โดยกิเลสก็คืออาการของจิตที่มีลักษณะใหญ่ๆ ๓ ประการ คือ

๑. ราคะ คือ ดึงเอาเข้ามาหาตัวเอง อันได้แก่ รัก, ชอบ, พอใจ (ยินดี), อยากได้ (โลภ), ติคใจ (ราคะ) เป็นต้น
๒. โทสะ คือ ผลักออกไปจากตัวเอง อันได้แก่ ชัง, ไม่พอใจ (ยินร้าย), โกรธ (โทสะ), เกลียด, กลัว, ไม่อยากได้, อยากหนี, อยากทำลาย (โทสะ) เป็นต้น
๓. โมหะ คือ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นราคะหรือโทสะ อันได้แก่ หลงไม่รู้ (โมหะ), ไม่แน่ใจ, ลังเลใจ, สงสัย, ตัดสินใจไม่ถูก, หรือ งง เป็นต้น

กิเลสนี้ถ้าศึกษาอย่างละเอียดในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งทำให้เกิดความทุกข์จะเรียกว่า ตัณหา ที่แปลว่า ความอยาก ซึ่งก็มี ๓ อาการ คือ ๑. กามตัณหา คือ ความอยากได้สิ่งที่น่าพอใจ ๒. ภวตัณหา คือความอยากมีสิ่งที่น่าพอใจอยู่ตลอดเวลา และ ๓. วิภวตัณหา ความอยากหนีหรืออยากทำลาย (หรือไม่อยากได้ ไม่อยากมี) สิ่งที่ไม่น่าพอใจ (ซึ่งจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป)

ตามปกติของจิตของคนเรานั้นจะมีความบริสุทธิ์ (คือไม่มีกิเลสใดๆ) อยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่เมื่อจิตของเราถูกอวิชชา (ความรู้ผิดว่ามีตัวเรา) เกิดขึ้นมาครอบงำ อวิชชาก็มาปรุงแต่ง (กระทำ) ให้จิตเกิดอาการของกิเลส (หรือตัณหา) ขึ้นมาทันที และเมื่อกิเลสเกิดขึ้น จึงทำให้ความบริสุทธิ์หายไป (ชั่วคราว) แล้วก็เกิดความสกปกขึ้นมาแทน

เมื่อกิเลสเกิดขึ้น ก็จะทำให้อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา) เกิดขึ้นมาด้วยทันที และเมื่ออุปาทานเกิดขึ้น ความทุกข์ (เช่น ความเศร้าโศก ความไม่สบายใจ เป็นต้น) ก็จะเกิดขึ้นมาด้วยทันที แต่เมื่อกิเลสดับหายไป จิตก็จะกลับมาบริสุทธิ์ได้ใหม่ และความทุกข์ก็จะดับหายตามไปด้วย แต่เมื่อกิเลสกลับมาเกิดขึ้นอีก ความบริสุทธิ์ก็จะหายไปอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ตราบเท่าที่จิตของเรายังมีความเคยชินของอวิชชาและกิเลสอยู่ในจิตใต้สำนึก

กิเลสนั้นเป็นอาการของจิตที่มีอาการดีงเอาเข้ามาหาตัวเอง และผลักออกไปจากตัวเอง รวมทั้งยังไม่แน่ใจว่าจะเอาเข้ามาหรือผลักออกไป (คือยินดี-ยินร้าย-ลังเล) ที่รุนแรง แล้วก็ทำให้เกิดอุปาทานและความทุกข์ (เช่น ความเศร้าโศก ความไม่สบายใจ เป็นต้น) ขึ้นด้วย แต่ขณะที่จิตยังไม่มีอาการของกิเลสที่รุนแรง (คือมีเพียงอ่อนๆ) ก็จะเรียกว่า นิวรณ์ ที่แปลว่า สิ่งปิดกั้นจิต ซึ่งนิวรณ์นี้จะมีอยู่ ๕ อาการ อันได้แก่

๑. กามฉันทะ อาการที่จิตน้อมไปในกามารมณ์ (โดยมีเรื่องทางเพศเป็นกามารมณ์ชนิดสูงสุด)
๒. พยาบาท ความอาฆาติหรือพยาบาทที่ฝังใจอยู่ (หรือไม่ให้อภัย)
๓. อุจทัจจะกุกุจจะ ความตื่นเต้นหรือความฟุ้งซ่านที่ทำให้เกิดความรำคาญใจ (ความไม่พอใจเล็กๆน้อยๆ)
๔. ถีนมิทธะ ความหดหู่ ง่วงซึม มึนชา หงอย เหง๋า
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในเรื่องต่างๆ

นิวรณ์นี้เมื่อเกิดขึ้นมันก็เพียงทำให้จิตของเราเกิดความเศร้าหมอง (หรือขุ่นมัว) คือไม่ปกติ ไม่สงบเย็น (ไม่นิพพาน) ไม่แจ่มใส ไม่เบาสบาย เป็นต้น (ซึ่งเรียกว่าเป็นความทุกข์อ่อนๆ) เท่านั้น แต่มันก็มาปิดกั้นจิตเอาไว้ไม่ให้มีสมาธิ เมื่อจิตไม่มีสมาธิ จึงทำให้ปัญญาไม่เกิด เมื่อปัญญาไม่เกิด ก็ทำให้อวิชชาเกิดขึ้นมาครอบงำจิตแทน เมื่ออวิชชาเกิดขึ้นมาบ่อยๆมันก็ทิ้งความเคยชิน (อนุสัย) เอาไว้ให้แก่จิตใต้สำนึกของเรา เมื่อจิตของเรามีอนุสัยของอวิชชามากๆ มันก็ทำให้มีโอกาสที่จะปรุงแต่งจิตของเราให้มีความทุกข์ที่รุนแรงได้ต่อไป รวมทั้งยังทำลายได้ยากขึ้นด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่