สรุป อวิชชา คือ ความรู้ผิดว่ามีตัวเรา

ความทุกข์ทั้งหมดของจิตใจมนุษย์เรานี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า มันมีต้นเหตุมาจาก อวิชชา ที่แปลว่า ไม่วิชชา โดยคำว่า วิชชา แปลว่า ความรู้สูงสุด ซึ่งความรู้สูงสุดก็คือ ความรู้ที่ดับทุกข์ได้ ซึ่งความรู้ที่ดับทุกขได้นั้นก็สรุปอยู่ที่ ความรู้ในอริยสัจ ๔ โดยหัวใจของอริยสัจ ๔ ก็คือ ปัญญา ซึ่งปัญญานี้ก็สรุปอยู่ที่ ความรู้ว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวตนตนของเราหรือของใครๆหรือของสิ่งใดๆอยู่จริง” (เรื่องนี้เราจะศึกษากันโดยละเอียดต่อไป) คือสรุปว่า อวิชชาก็คือความรู้ที่ทำให้เกิดความทุกข์แก่จิตใจ อันเป็นความรู้ว่ามีตัวตนของสิ่งทั้งหลายอยู่จริงๆ ซึ่งเมื่อมาพิจารณาดูที่จิตของเราก็จะเรียกว่าเป็น ความรู้ว่ามีตัวเรา หรือ ความรู้ผิดว่ามีตัวเรา (ที่ว่าผิดก็เพราะเป็นความรู้ที่มาทำให้จิตเกิดความทุกข์)

      อวิชชานี้เป็น สัญชาติญาณ (สัญชาติญาณ หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตโดยไม่มีใครสอน อย่างเช่น สัตว์ที่เกิดมาใหม่ๆก็จะมีความรู้ในการหาอาหาร เดิน วิ่ง หนีภัย เป็นต้น โดยไม่มีใครสอน ที่เรียกว่าเป็นสัญชาติญาณในการเอาตัวรอด หรือสัญชาติญาณแห่งความมีตัวตน) ของสิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิตตามธรรมชาติ คือมนุษย์เรานี้เมื่อเกิดออกมาจากท้องแม่ก็จะมีความรู้ว่ามีตนเองอยู่ด้วยทุกคน แต่ว่ายังมีเพียงเล็กน้อย ซึ่งเมื่อเกิดมาแล้วพ่อแม่ก็ตั้งชื่อให้แล้วก็เรียกชื่อบ่อยๆ รวมทั้งใครๆก็เรียกชื่อนี้ เมื่อเด็กได้ยินบ่อยๆก็จะค่อยๆเรียนรู้ว่านี่คือชื่อของตนเองและสมองของเด็กก็จะจำเอาไว้ และเมื่อเด็กได้ยินชื่อของตนเองนานๆเข้า ความรู้ว่ามีตนเองนี้ก็จะเข้มข้นขึ้นและกลายมาเป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก ที่เมื่อเราได้ยินใครเรียกชื่อเราที่ไร ก็จะเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราเกิดขึ้นมาทันที ซึ่งนอกจากเด็กจะจำได้ว่ามีตนเองที่มีชื่อนี้แล้วก็ยังได้รับการอบรมสั่งสอนว่ามีคนนี้เป็นพ่อ คนนี้เป็นแม่ มีคนนั้นเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นเพื่อน และมีสิ่งนั้น สิ่งนี้เป็นของตน ขึ้นมาพร้อมกับความรู้ว่ามีตนเอง

         นี่ก็คือการเกิดอวิชชา หรือความรู้ว่ามีตนเอง ที่มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาก็จะมีความรู้ว่ามีตนเองเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ โดยไม่รู้ว่าความรู้นี้เป็นความรู้ผิด (ส่วนความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติก็คือความรู้ว่า “แท้จริงมันไม่มีตัวเราอยู่จริง” มีแต่ตัวเรามายา หรือตัวเราชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป) และอวิชชานี้ก็ได้ฝังอยู่ในจิตใต้นึกของเราทุกคน จึงทำให้เมื่อเกิดจิตขึ้นมาเมื่อใดก็จะเกิดอวิชชา (ความรู้ว่ามีตัวเรา) ขึ้นมาครอบงำจิตอยู่ตลอดเวลา  และอวิชชาที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกนี้เอง ที่มันจะคอยกระตุ้น (ปรุงแต่ง) ให้จิตของเราเกิด ความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา แล้วความความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ ก็ยังจะกระตุ้นให้จิตเกิด อุปาทาน หรือ ความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา ขึ้นมาอีกที ซึ่งอุปาทานนี้เองที่เป็นอาการที่จิตไปยึดถือหรือครอบครองเอาสิ่งที่เป็นของธรรมชาติ ที่ไม่ใช่ของเราจริง ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของมัน เอาไว้ด้วยความรักหรือความพอใจอย่างยิ่งว่าเป็นตัวเราและของเรา (คือมายึดถือเอาจิตว่าเป็น ตัวเรา และยึดถือร่างกายกับสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับร่างกายว่าเป็น ของเรา)  

          เมื่อเรายึดถือในสิ่งใด เราก็อยาก (ตัณหา แปลว่า ความอยาก ซึ่งมี ๓ อาการ คือ อยากได้สิ่งที่ให้ความสุขทั้งหลาย อยากเป็นอยู่ในสภาพที่ให้ความสุข และ อยากหนี หรืออยากทำลายสิ่งที่ให้ความทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งตัณหานี้ก็คือกิเลสนั่นเอง)  จะให้สิ่งที่เราได้ยึดถือเอาไว้นั้นเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น เช่น อยากเป็นหนุ่ม อยากเป็นสาว อยากเป็นคนหล่อ อยากเป็นคนสวย อยากมีชีวิตอยู่ อยากมีคู่ที่หล่อหรือสวย อยากร่ำรวย อยากสุขสบาย อยากเด่น อยากดัง อยากมีเกียรติ อยากมีอำนาจ อยากให้คนที่เรารักหรือสิ่งที่เรารักอยู่กับเราตลอดไป อยากได้สิ่งที่เรารักและพอใจทั้งหลายมาเป็นของเรา และอยากหนีหรืออยากทำลายสิ่งที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจหรือน่าเกลียดน่ากลัว เป็นต้น ซึ่งถ้าสิ่งต่างๆตามที่เราอยากจะให้มันเป็นไปตามที่เราอยากนี้ มันก็ยังเป็นไปตามที่เราอยากอยู่ เราก็ยังพอจะมีความสุข แต่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้น มันมีความไม่เที่ยง หรือไม่ถาวร (ตามกฎอนิจจัง) ดังนั้นไม่ช้าก็เร็ว สิ่งทั้งหลายที่เราได้ยึดถือเอาไว้ มันก็ย่อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของมัน เช่น ร่างกายแก่  หรือไม่หล่อ ไม่สวย หรือกำลังจะตาย หรือยากจน หรือมีชีวิตที่ยากลำบาก หรือไม่มีความสุขสบาย หรือต่ำต้อยด้อยเกียรติ ไม่เด่น ไม่ดัง ไร้อำนาจ ตกเป็นทาส หรือคนที่เรารักหรือสิ่งที่รักได้จากเราไป  หรือต้องประสบกับคนหรือสิ่งที่ไม่น่ารักหรือน่าเกลียดน่ากลัว หรือเกิดความผิดหวัง เป็นต้น เราก็ย่อมที่จะเกิดความเศร้าโศก หรือเสียใจอย่างรุนแรงขึ้นมาทันที ซึ่งนี่คือความทุกข์ของจิตใจมนุษย์ที่มีต้นเหตุมาจากอวิชชาหรือความรู้ผิดว่ามีตัวเรา ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราและความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่