คำครูบาอาจารย์ที่อาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน "จิตส่งออกนอก"

ได้ยินกันบ่อย บางทีก็มีหลายคำที่เราชินชา
แต่ความหมายจริงๆคืออะไร
"อย่าจิตส่งออกนอก"


ถ้าจะบอกว่า อย่าสนใจกับสิ่งรอบตัว อันนี้ไม่น่าจะถูกต้อง
อย่าเอาสิ่งรอบตัวมาพิจารณา ก็ไม่น่าจะถูกอีก
เพราะกรรมฐานที่พระอริยเจ้าใช้ในการพิจารณาในสมัยพุทธกาลก็เป็นสิ่งนอกตัวกันเยอะแยะ
เช่น ท่านจูฬปันถกเถระ ก็พิจารณาผ้า
พระอุบลวรรณเถรี พิจารณาเปลวไฟ

หรืออย่างคุยกันบ่อยๆว่า กสิณคือการเอาจิตส่งออกนอก
จริงเหรอ... คำถามว่าจริงเหรอมีหลายนัย
นัยหนึ่งก็คือ กสิณคือการนำจิตส่งออกนอกจริงหรือเปล่า
และมันเสียหายจริงหรือที่จะนำจิตส่งออกนอกแบบนี้
และสุดท้ายก็คือ คนที่พูดเคยปฏิบัติกสิณจริงๆหรือเปล่า
และคิดแบบเดียวกันกับการพิจารณาอสุภะใช่หรือไม่

ทีนี้มาถึงปมเรื่องของการภาวนา ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นต้นเรื่อง ก็คือหลวงปู่ดุลย์
"จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ"
ผมตามหาข้อมูลมาได้แค่นี้(อาจจะเนื่องด้วยว่ายังหาไม่มากพอ)
เท่าที่อ่านและพิจารณา ก็ไม่เห็นจะมีอะไรมากไปกว่าการพิจารณาอริยสัจ
ซึ่งไม่เกี่ยวกับกรรมฐานและพิจารณาอย่างอื่นๆเลย

มาอีกเวบหนึ่งกล่าวว่า

อย่าส่งจิตออกนอก และอย่าจิตส่งใน

         ส่งจิตออกนอก  หมายถึง การส่งจิตออกไปภายนอกไปเสวยอารมณ์ (อันหมายถึงเวทนา) มีความหมายถึง การที่ไม่สำรวมจิต  การฟุ้งซ่าน คือส่งจิตออกไปสอดส่ายรับการกระทบสัมผัสกับอารมณ์ภายนอกต่างๆ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  จึงส่งจิตออกไปคิดนึกปรุงแต่งต่อสิ่งต่างๆเหล่านั้น  จึงเกิดการเสวยอารมณ์คือเวทนาต่างๆ ขึ้น  ซึ่งมักเป็นปัจจัยให้เกิดการคิดปรุงแต่งต่างๆสืบต่อมา  เมื่อเกิดการคิดปรุงแต่งต่างๆขึ้นจึงเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาต่างๆหลากหลาย ซึ่งมักเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหาขึ้น  จึงยังให้เกิดความทุกข์ขึ้นในที่สุด  อันเป็นการดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทหรือการเกิดขึ้นของกองทุกข์นั่นเอง

         หรือกล่าวโดยย่อก็คือ การส่งจิตออกไปภายนอก ไปปรุงแต่ง  ไม่มีสติอยู่ภายใน กาย เวทนา จิต ธรรม  เพื่อการระลึกรู้ หรือเพื่อการพิจารณาในธรรมทั้ง๔ นั่นเอง
จาก http://www.nkgen.com/734.htm

ผมไม่รู้หรอกว่าเขาอธิบายตามที่ครูบาอาจารย์ท่านหมายถึงจริงหรือเปล่า
แต่ผมคิดว่า ถ้าเราเจริญกรรมฐานกองใดอยู่ ก็ควรให้พยายามนำจิตไปผูกไว้ที่กรรมฐานกองนั้นๆอยู่เสมอ

มีหลายครั้งที่เราเอาวลีของครูบาอาจารย์มาคุยกันหรือแม้แต่พระสูตรมาคุยกัน ถ้าคุยเข้าหาธรรมก็ดี
แต่บางครั้งก็เอาไปใช้แบบผิดๆ เอาไปเสียดสีก็มี เอาไปโจมตีก็มี น่าสงสารมาก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่