ชายไทยทำร้าย"เมีย"สูงเป็นอันดับ7ของโลก! "เมา"เหตุหลักรุนแรงในบ้าน หญิงไทย"ทนได้" รักจึงยอม

จากมติชนออนไลน์

นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา "รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบ ครัว" จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนัก งานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค  เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา  

นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า จากการสำรวจใน หัวข้อการ ทำร้ายคู่สมรส พบว่า ประเทศไทยมีการทำร้ายกันของคู่สมรสอยู่ประมาณอันดับที่ 30 ของโลก ผู้ชายเป็นฝ่ายทำร้ายผู้หญิงสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่สำคัญพบว่าผู้หญิงยอมรับการถูกทำร้ายสูงอันดับ 2 ของโลก จากทั้งหมด 49 ประเทศ ทั้งนี้ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากปัญหาเชิงทัศนคติ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับการปลูกฝังให้เป็นฝ่ายอดทนเพื่อครอบครัว

"ดังนั้นต้องปรับค่านิยม ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีหลักสูตรเจนเดอร์ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อปลูกฝังการเคารพสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศให้อยู่ในใจตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกันกระทรวงพม. พยายามจัดระบบหน่วยบริการช่วยเหลือ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้ถูกกระทำมีทางเลือกเพิ่มขึ้น" นายสมชายกล่าว

ด้านนายวิเชียรกล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวมีมากขึ้นและจำนวนเพิ่มขึ้น หลายคนอาจมองว่าสังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วจึงดูว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นสองอย่างประกอบกัน คือในอดีตคนที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวไม่กล้าเปิดเผยตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวแล้วจะต้องปกปิด เราพยายามรณรงค์ให้ทุกครอบครัวอบอุ่นไม่ก่อความรุนแรง สิ่งสำคัญอยากให้ผู้ที่ถูกกระทำก้าวข้ามความกลัวออกมาเผชิญร่วมแก้ปัญหา

เมื่อถามว่าสัดส่วนของผู้ถูกกระทำรุนแรงแล้วกลับเข้าสู่สังคมได้มีเท่าใด นายชวลิตกล่าวว่า หากผ่านกระบวนการแล้วทุกคนสามารถกลับสู่ครอบครัวได้ทั้งหมด ไม่มีใครต้องอยู่ในการดูแลของเราตลอดชีวิต แต่ใช้เวลามากน้อยแตกต่างกัน ขณะเดียวกันพบว่ามีผู้ถูกกระทำซ้ำมาขอความช่วยเหลือ ซึ่งเราใช้กระบวนการทางสังคมเข้าไปแก้ปัญหา ดูว่าแต่ละรายมีปัญหาตรงไหน พยายามลดการกระทำซ้ำ แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากตอนนี้และเป็นปัญหาใหม่ คือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงไม่ออกมาแสดงตน เราจึงรณรงค์ว่าการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลจึงตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม (OSCC) เป็นช่องทางใหม่ให้ทุกคนที่ประสบปัญหาเข้าถึงเจ้าหน้าที่ได้สะดวก และได้รับการแก้ไขทุกกรณี

น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าข่าวความรุนแรงในครอบครัว มีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 29.13 ประเภทข่าวความรุนแรงในครอบครัวแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1.ฆ่ากันร้อยละ 59.16, 2.ฆ่าตัวตายร้อยละ 24.02, 3.ทำร้ายกันร้อยละ 8.71, 4.ความรุนแรงอื่นๆ 3.10, 5.ตั้งครรภ์ไม่พร้อมร้อยละ 2.7 และ6.ล่วงละเมิดทางเพศร้อยละ 2.4

"หากเปรียบเทียบการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เมื่อปี 2554 เราจะพบข่าวการฆ่ากัน ร้อยละ 49.70 ขณะที่ปี 2555 พุ่งสูงถึงร้อยละ 59.16 และหากจำแนกประเภทตามความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ คือ ระหว่างสามีภรรยาร้อยละ 64.97 รองลงมา คือคู่รักแบบแฟนร้อยละ 15.74 สำหรับจังหวัดที่มีการก่อเหตุฆ่ากันของสามีภรรยา พบว่าเกิดเหตุที่กรุงเทพฯ มากที่สุด จังหวัดรองลงมาคือ สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี และชลบุรี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นให้มีการก่อเหตุมากที่สุด" น.ส.จรีย์กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่