"เด็ก-ผู้หญิง" ถูกทำร้าย-ล่วงละเมิดเพศวันละ 66 คน แนะ 5 วิธีป้องกันคนเมาทำร้าย

กระทู้สนทนา

สธ.เผยมีเด็ก-สตรีถูกกระทำรุนแรงเฉลี่ยวันละ 66 ราย ทั้งทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ ชี้เกิดจากจากคนใกล้ชิด นำร่องขยายการรับแจ้งเหตุ การคัดกรอง ช่วยเหลือเบื้องต้นและส่งต่อเด็กในระดับตำบล 2 จังหวัด ก่อนขยายอีก 2 จังหวัดในปี 59 กรมสุขภาพจิตแนะ 5 วิธีป้องกันตัวถูกคนเมาทำร้าย
       
        วันนี้ (25 พ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล สำหรับประเทศไทย สธ.ได้มีการตั้ง “ศูนย์พึ่งได้” ในโรงพยาบาลรวม 896 แห่ง เพื่อให้การดูแลเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ถูกกระทำรุนแรงทั้งร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ครบวงจรที่จุดเดียวตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมการรักษาพยาบาลทางกาย ทางจิต ทางสังคม และการประสานหน่วยงานช่วยเหลือด้านกฎหมายและด้านสวัสดิการสังคมอื่นๆ ที่จำเป็น โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ บูรณาการทำงานแบบทีมสหวิชาชีพ
       
        นพ.โสภณ กล่าวว่า  ในปี 2558 พบว่า มีเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง 23,977 ราย เป็นเด็ก 10,712 ราย สตรี 13,265 ราย เฉลี่ยวันละ 66 ราย โดยในกลุ่มเด็กจะถูกล่วงละเมิดทางเพศและตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มากเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นการทำร้ายร่างกาย ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น แฟน รองลงมาคือเพื่อน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพแวดล้อม ได้แก่ สื่อลามก ความใกล้ชิด โอกาสเอื้ออำนวย และการดื่มสุรา การใช้สารเสพติด  ส่วนกลุ่มสตรี ปัญหาอันดับ 1 ที่พบได้แก่ การทำร้ายร่างกาย รองลงมาคือถูกกระทำทางเพศและตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ผู้กระทำเป็นคู่สมรสมากที่สุดรองลงมาคือแฟน  สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสัมพันธภาพในครอบครัว การนอกใจ หึงหวง ทะเลาะวิวาทกัน
       
        "สธ.ได้ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พัฒนาระบบการรับแจ้งเหตุ คัดกรอง ช่วยเหลือเบื้องต้นและส่งต่อเด็กถูกทารุณกรรมหรือการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมให้ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างครบวงจร โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นหน่วยประสานงานหลัก นำร่องใน 2 จังหวัด จังหวัดละ 2 อำเภอ คือระยองและชุมพร คัดกรองเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา 3 เรื่องคือ ความรุนแรง ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และถูกทอดทิ้ง เพื่อวางแผนดูแลร่วมกับสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2,270 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธงแดง ต้องรีบให้การช่วยเหลือคุ้มครองโดยเร็ว กลุ่มธงเหลือง มีความเสี่ยงต่อการถูกทารุณกรรม ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และกลุ่มธงเขียว คือเด็กปกติ มีการส่งเสริม ป้องกัน โดยอบรม ให้ความรู้ และทักษะชีวิต การดูแลสุขภาพและเพศศึกษา ศิลปะการป้องกันตัว เป็นต้น สำหรับในปี 2559 จะขยายเพิ่มอีก  2 จังหวัด คือ ขอนแก่นและปทุมธานี" ปลัด สธ. กล่าว
       
         นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบจากการถูกกระทำความรุนแรง ในผู้หญิงนั้น บาดแผลทางจิตใจที่เกิดขึ้นอาจไม่สามารถลบเลือนไปได้ง่ายๆ ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์บุคลิกภาพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน  อาจมีความกระวนกระวาย จิตใจแปรปรวน ขณะที่บางคนมีอาการเครียด ท้อแท้เรื้อรัง สูญเสียความมั่นใจในตนเอง อับอาย ซึมเศร้า หรือบางรายมีอาการทางจิต หวาดกลัว หวาดผวา เป็นต้น ขณะที่เด็กทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือแม้แต่ทางอ้อมโดยการเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ก็สามารถมีโอกาสซึมซับและยอมรับความรุนแรงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยเข้าใจผิดว่าปัญหาต่างๆ สุดท้ายต้องแก้ไขด้วยความรุนแรง
       
        " การดื่มสุราเป็นอีกปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่นำไปสู่การกระทำความรุนแรงต่อทั้งสตรีและเด็ก จำเป็นต้องร่วมกันรณรงค์เชิญชวนให้ลด ละ เลิกกันมากขึ้น สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกผู้ดื่มสุราทำร้าย ขอแนะ 5 ไม่ ในการป้องกันตัว คือ 1.ไม่นิ่งนอนใจ โดยตรวจสอบว่ามีอาวุธอยู่กับตัวของผู้เมาสุรา หรือบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ ถ้ามี และไม่มั่นใจว่าปลอดภัย ให้โทรศัพท์แจ้งตำรวจ 2.ไม่ใช้กำลัง ในการยุติความ เว้นแต่จะเป็นการกระทำไปเพื่อป้องกันตัวตามเหตุผลที่สมควร 3.ไม่สร้างบรรยากาศ ข่มขู่ ตำหนิ หรือกดดัน ไม่ยิ้มเยาะหรือหัวเราะ ไม่โต้แย้งหรือ ท้าทาย หรือตะโกนใส่ เพราะจะยิ่งเพิ่มความโกรธและหงุดหงิดให้เขามากขึ้น จึงควรยุติการสนทนาลง 4.ไม่ให้บุคคลนั้นเข้าใกล้เครื่องยนต์กลไกหรือขับขี่ยานพาหนะ และ 5.ไม่เข้าไปใกล้บุคคลนั้นมากเกินไป เพราะจะเป็นอันตรายได้ จึงควรมีระยะห่าง ตลอดจนหลีกเลี่ยงการจ้องตาหรือการมองตาอย่างต่อเนื่อง " อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ข่าวจาก : ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000130742
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่