อะไรที่ทำให้คนเรากลายเป็น 《ไซโคพาธ》หรือ มีบุคลิกผิดปกติทางด้านการรับรู้ทางอารมณ์

อะไรทำให้คนเรากลายเป็น 《ไซโคพาธ》 หรือมีบุคลิกผิดปกติไร้ความรู้สึกไปได้
 

ศาสตราจารย์จิม เฟลลอน เป็นพวก "ไซโคพาธ" หรือ คนที่มีบุคลิกผิดปกติแบบต่อต้านสังคมประเภทหนึ่ง แต่เขาไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร


ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมมนุษย์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เออร์ไวน์ ผู้นี้ทำการทดลองโดยใช้ภาพสแกนสมองของสมาชิกครอบครัวตัวเองและฆาตกรหลายราย ในการทดลอง

ศ.เฟลลอน วิเคราะห์สแกนสมองชิ้นหนึ่งและพบว่า "คน ๆ นี้ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม ไม่ควรถูกปล่อยให้เดินเหินอย่างเป็นอิสระ เขาน่าจะเป็นบุคคลที่อันตรายมาก"

ไม่นาน ศ.เฟลลอน ก็พบว่า สมองของคนดังกล่าวกลับกลายเป็นของตัวเขาเอง

เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขของไทย ระบุว่า ไซโคพาธ (psychopaths) เป็นบุคคลที่มีอาการของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โดยมีลักษณะ ขาดความเห็นใจผู้อื่น, ขาดความสำนึกผิด, ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว, ขาดความยับยั้งชั่งใจ และ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง

ไซโคพาธทุกคนอันตรายหรือเปล่า

แต่ ศ.เฟลลอน ไม่เคยฆ่าใคร และเขาบอกว่าตัวเองเป็นคนนิสัยน่ารัก แล้วเขาจะเป็นไซโคพาธไปได้อย่างไร

เขาบอกว่าตัวเองเป็นไซโคพาธที่ไม่ได้ต่อต้านสังคมและไม่ได้มีลักษณะการเป็นอาชญากรเหมือนคนอื่น

สถิติระบุว่า ในทุก 100 คน จะมีคนที่เป็นไซโคพาธอยู่หนึ่งคน และแม้ว่าอาชญากรก่อเหตุรุนแรงหลายคนจะอยู่ในประเภทนี้ กรณีของ ศ.เฟลลอน ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ไซโคพาธทุกคนที่จะก่อเหตุรุนแรงเสมอไป

คำถามสำคัญ คือ คนเราเกิดมาแล้วกลายเป็นไซโคพาธ หรือมาจากปัจจัยจากการเลี้ยงดู

สมองไซโคพาธ


การสแกนสมองพบว่าความเคลื่อนไหวในสมองบางส่วนของคนเป็นไซโคพาธและคนทั่วไปไม่เหมือนกัน ไซโคพาธที่ก่อเหตุรุนแรงมีส่วนที่เป็นสีเทาในสมองส่วนหน้าซึ่งมีความสำคัญสำหรับการเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นน้อย สมองส่วนนี้จะทำงานเมื่อเรานึกถึงเรื่องศีลธรรม

นอกจากนี้ ไซโคพาธยังมีสมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ เล็กกว่าคนทั่วไปมาก โดยสมองส่วนนี้มีความเชื่อมโยงกับความรู้สึกกลัว

หากเห็นความแตกต่างนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย นี่อาจสะท้อนว่าการเป็นไซโคพาธเป็นผลมาจากพื้นฐานทางพันธุกรรม

อย่างไรก็ดี หากเราพิจารณาว่าสมองเป็นกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง อาจจะหมายความว่าคนที่เป็นไซโคพาธไม่ได้ออกแรงขยับเขยื้อนสมองส่วนดังกล่าว นี่อาจเป็นผลจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่คนนั้นโตมา

ไซโคพาธในครอบครัว
หลังจากการสแกนสมอง ศ.เฟลลอน พบว่าลักษณะการเป็นไซโคพาธไม่ได้เริ่มต้นจากเขา หากย้อนไปในอดีต มีคนในตระกูลเขาถึง 7 คนด้วยกันที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร

หลายปีก่อน แม่ของเฟลลอนให้หนังสือที่พูดถึงบรรพบุรุษเขาคนหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1670s ที่ก่อเหตุฆ่าแม่ตัวเอง

ลูกพี่ลูกน้องของเฟลลอน ลิซซี บอร์เดน ถูกกล่าวหาว่าฆ่าพ่อและแม่เลี้ยงของเธอด้วยขวานในปี 1882

ศ.เฟลลอน ยอมรับว่า เขาเองก็มีลักษณะที่เป็นไซโคพาธ เช่น เขาอาจจะเลือกไม่ไปงานศพญาติหากมีอะไรอย่างอื่นสนุกกว่าให้ทำในวันเดียวกัน

"ประเด็นคือ ผมรู้ว่ามันผิด แต่ผมก็ไม่แคร์"

แต่ในเมื่อ ศ.เฟลลอน มีสมองและพันธุกรรมของฆาตกร เหตุใดเขาถึงไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร

คำตอบคือการเลี้ยงดูในวัยเด็กจะเป็นสิ่งกระตุ้นพันธุกรรมเหล่านั้น ศ.เฟลลอน บอกว่าหากคน ๆ หนึ่งมีพันธุกรรมลักษณะนั้นและถูกกระทำทารุณตั้งแต่เด็ก โอกาสที่คน ๆ นั้นจะกลายเป็นอาชญากรก็จะสูงขึ้น

ศ.เฟลลอน บอกว่าเขามีวัยเด็กที่ "ดีเยี่ยมอย่างไม่น่าเชื่อ" และเป็นไปได้ที่นั่นสามารถยับยั้งพันุกรรม "ร้าย ๆ" ของเขาได้ "

ไซโคพาธที่มีประโยชน์

ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยทางชีววิทยาอย่างเดียวไม่สามารถกำหนดได้ว่าคน ๆ หนึ่งจะกลายเป็นอาชญากรหรือเปล่า

สำหรับ ศ.เฟลลอน เขาสามารถมองสิ่งต่าง ๆ โดยไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น เป็นคนคอยรับฟังให้คำปรึกษาเพื่อน ๆ

"ผมสามารถนั่งฟังพวกเขาได้เป็นสองชั่วโมง พวกเขาร้องไห้แต่ผมไม่ได้ไปมีความรู้สึกร่วม แต่ผมจะสามารถเข้าใจว่าพวกเขากำลังทำอะไร และก็จะพยายามช่วย สิ่งที่ผมช่วยวิเคราะห์จะแม่นยำและจริงใจแม้ว่าจะฟังดูเยือกเย็นก็ตาม"

เครดิตต้นฉบับ ; https://www.bbc.com/thai/international-51800116
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่