การเมืองไทย ฉบับรีเมค (สกู๊ป)

กระแสสังคมไทยที่มาแรงที่สุดในตอนคงหนีไม่พ้น ”การรีเมค” นำของเก่ามาเล่าใหม่ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่อาจจะพบจากหนัง ละคร เพลง ที่มีให้เห็นอย่างชัดเจน ล่าสุดกับ 2 ภาพยนตร์ดังที่สร้างจากตำนานและนวนิยายในใจคนไทย พี่มากพระโขนงที่เดินหน้าทำรายได้สู่ 200ล้าน และ คู่กรรม ที่เพิ่งเริ่มฉายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ละครไทยก็หยิบของเก่ามาปัดฝุ่นจนจะเรียกได้ว่าบทประพันธ์ช้ำแล้วช้ำอีก ทั้งคู่กรรมฉบับบี้-หนูนา,พรพรหมอลเวง,อาญารักและอีกมากมายที่มีแผนว่าจะนำมารีเมคใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวงการบันเทิงมาอย่างยาวนาน

หากมองสังเกตให้ดีการรีเมคไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับวงการบันเทิงเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองไทย เราจะมองเห็นวัฏจักรเดิมวนเวียนอยู่มาอย่างซ้ำๆเพียงแต่เห็นในรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อยเท่านั้น เช่น การเปลี่ยนร้านโชว์ห่วยเป็นร้านโชว์สวยเพื่อปรับปรุงมาตรฐานร้านค้าปลีก,นโยบายรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่มีทีท่าว่าจะผลักดันมาหลายรัฐบาล จนขณะนี้ก็ยังไม่เห็นจะมีวี่แววของการพัฒนาระบบรางในไทย,นโยบายแก้ไขปัญหารถติดที่แก้ไขไม่ได้จริงและการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนที่ทุกวันนี้เรายังเห็นปลากระป๋องวิ่งอยู่บนถนน

นโยบายต่างๆเหล่านี้ถูกนำมาหาเสียงซ้ำแล้วซ้ำอีก เปลี่ยนแค่ชื่อให้สวยหรูแต่สุดท้ายทุกนโยบายก็เหมือนกันหมดคือยังไม่ถูกทำให้เป็นจริง แม้จะมีการลงมือทำแล้วแต่ก็เหมือนกลับว่าทำให้เสร็จๆไป ซึ่งทำให้เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามว่า นโยบายที่ผ่านมาได้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไทยได้จริงหรือ ?


ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีข่าวแก้ไขปรับนิดเพิ่มรายละเอียดเล็กน้อยก็กลายเป็นของใหม่ที่ไม่ต่างอะไรจากการรีเมค โดยในปีนี้สภาเตรียมจะรีเมคกันรายมาตราทั้งที่มีผู้คัดค้านว่าริดรอนสิทธิประชาชนแต่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านมติสภาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้คำโปรยได้อย่างน่าสนใจว่า “แก้ไขเพื่อประชาชน” ซึ่งถ้ามองลงลึกรายมาตราก็จะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ต่อนักการเมืองมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่

ทั้งนี้ยังไม่รวมประเด็นผลักดันร่างพรบ.นิรโทษกรรม หนังม้วนยาวที่เล่าเท่าไหร่ก็ยังไม่จบเพราะหลายฝ่ายยังตีกันไม่เลิก เมื่อมีกระแสข่าวว่าจะเดินหน้าเมื่อไหร่ก็จะต้องหยุดลงเพราะดันไปเพิ่มอุณหภูมิไฟการเมืองให้ร้อนระอุยิ่งกว่ากว่าอากาศในเดือนเมษายน แม้จะมีการพยายามพูดคุยโดยการเชิญหลายฝ่ายมาร่วมเจรจาหาทางออกแต่ก็ดูเหมือนไม่เป็นผลและยังคงมีทีท่าว่าหนังม้วนยาวฉบับนี้คงไม่จบกันง่ายๆ

เรื่องเก่าเล่าใหม่ซ้ำไปซ้ำมา รีเมคกันอีกกี่รอบคนไทยก็ยังไม่เบื่อ เพราะการเมืองไทยน้ำเน่าได้ยิ่งกว่าละครหลังข่าว  ตัวละครฝ่ายการเมืองที่เปรียบเป็นดาวเด่นหากมีการมอบรางวัลคงจะต้องมอบนักแสดงนำหญิง-นำชาย ให้นายกฯยิ่งลักษณ์กับนายอภิสิทธิ์ ส่วนรางวัลนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมคงต้องมอบให้กับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ขยันออกสื่อไม่เว้นวัน ซึ่งก็มีหลายฝ่ายจับตาดูว่าเมื่อไหร่ท่านเฉลิมจะลงไปกำกับไฟใต้สักที และควรมอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้กับคนไกลที่คิดถึงบ้าน ถึงแม้จะไม่อยู่ในประเทศไทยก็สามารถกำกับจนทำให้ละครเรื่องเงินกู้2ล้านล้านผ่านสภาได้อย่างฉลุย

สุดท้ายตอนอวสานของการเมืองไทยฉบับรีเมคจะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครจะคาดคิดได้เพราะอะไรก็ตามที่รีเมคใหม่อาจจะกลับมาทำซ้ำแบบเหนือความคาดหมายก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าเค้าโครงเดิมของการรีเมคยังสามารถเป็นแนวทางให้เราศึกษาและเรียนรู้ความผิดพลาดจากการเมืองไทยได้อยู่เสมอ หากเราจดจำและตระหนักได้ว่าที่ผ่านมาเราเคยผ่านบทเรียนอะไรกันมาแล้วบ้าง ?


ขอบคุณภาพประกอบจากแฟนเพจ เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด

MThai News ,พูดคุยแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมที่ twitter : @SanookOS
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่