‘พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล’ ปรับโครงสร้างพลังงาน หาจุดสมดุลประเทศ

กระทู้สนทนา
‘พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล’ปรับโครงสร้างพลังงาน หาจุดสมดุลประเทศ

การปรับโครงสร้างพลังงานประเทศ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะนำไปสู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย ในการแก้ไขการบิดเบือนราคาพลังงานที่เป็นปัญหาดินพอกหางหมู มาอย่างยาวนาน
ขณะเดียวกัน การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ก็เป็นอีกปัจจัย ที่ผลักดันให้รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจผ่าตัดใหญ่นโยบายพลังงานประเทศ เพราะเมื่อเออีซีมีผลบังคับใช้ การถ่ายเทพลังงานในอาเซียน ก็จะกระทำได้อย่างเสรี แต่หากราคาพลังงานของประเทศไทยยังคงบิดเบือน ไม่สะท้อนต้นทุนตลาดโลก และต่ำกว่าราคาที่เป็นจริง ก็จะถูกกองทัพมดของประเทศเพื่อนบ้าน หันมานำเข้าพลังงานราคาถูกจากไทยไปใช้มากเพิ่มขึ้นจนกระทั่งรัฐบาลไทยไม่สามารถแบกรับภาระในการตรึงราคาพลังงานเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้อีกต่อไป
ดังนั้น หากรัฐบาลกล้าที่จะตัดสินใจผ่าทางตันเพื่อปรับโครงสร้างใหญ่ของนโยบายพลังงานประเทศ ทั้งเพื่อจัดระเบียบการใช้พลังงานใหม่ และเพื่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ตอบรับความ ต้องการพื้นฐานของประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม บริการ และการท่องเที่ยว เป็นต้นแล้ว ประเทศไทยก็จะหลุดพ้นจากความเสี่ยงในเรื่องของการขาดแคลนพลังงานในอนาคต สู่การบริหารจัดการด้านการใช้พลังงานอย่างสมดุล และเป็นธรรมต่อประชาชนในทุกภาคส่วน
“ทีมเศรษฐกิจ” จับเข่าคุยกับ “พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” รมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ผู้ถูกเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่ในการวางรากฐาน เพื่อการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศใหม่ พร้อมๆกับสร้างกระบวนการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชนในทุกกลุ่มเพื่อร่วมกันใช้ และรักษาพลังงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในวันนี้และในอนาคตข้างหน้าลดใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า
นายพงษ์ศักดิ์ยอมรับกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า เป็นเรื่องยาก ในการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ ให้เป็นผลสำเร็จในทันทีทันใด เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะใช้นโยบายใดมาบริหารจัดการ ย่อมมีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ เกิดผลกระทบในวงกว้างกับประชาชน
ตราบใดที่กระบวนการเรียนรู้ และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง มีข้อเท็จจริงมายืนยันให้ประชาชนเข้าใจและมั่นใจในการดำเนินนโยบายใดๆก็ไม่ยากที่ประชาชนจะเข้าใจและยอมรับ ซึ่งรัฐบาลจะเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน ให้เข้ามาให้การสนับสนุนนโยบายด้านพลังงาน เพื่อให้เดินไปแบบคู่ขนานพร้อมๆกันระหว่างรัฐบาลและประชาชน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) หรือประชาชนบางส่วน ที่พร้อมจะออกมาคัดค้านนโยบายพลังงาน ซึ่งก็พร้อมจะรับฟังเหตุผล แต่ก็ต้องเป็นเหตุผลที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเอ็นจีโอ จะต้องมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข้อมูลต่อประชาชน ไม่ใช่การยกข้อมูลมากล่าวอ้างลอยๆ เพียงเพื่อต่อต้านนโยบายรัฐบาล
“เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง ผมได้สั่งการเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะขณะนี้การผลิตไฟฟ้าของประเทศ ถูกผูกขาดด้วยก๊าซธรรมชาติมาอย่างยาวนาน ถ้าไม่ทำให้เกิดความหลากหลายในการใช้เชื้อเพลิงทุกประเภท รวมถึงการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในราคาที่ต่ำกว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผลิตได้ ในที่สุดก๊าซที่มีอยู่ก็จะหมด ที่สำคัญการกระจายการใช้เชื้อเพลิงไม่ให้เกิดการผูกขาด ยังสามารถเฉลี่ยราคาต้นทุนให้ลดต่ำลงมาได้มาก ซึ่งจะนำไปสู่ราคาค่าไฟฟ้าที่ถูกลงด้วย”
เพราะในปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่ปล่อยให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในสัดส่วนถึง 70% ของเชื้อเพลิงรวม ถือว่า เป็นเรื่องที่ผิดพลาด ทำให้มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงาน
ดังนั้น หากวันใดที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติ ทั้งที่จัดหาได้จากอ่าวไทยและพม่า เกิดปัญหาขัดข้องขึ้นมากะทันหัน ประเทศไทยก็ต้องใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้า ที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงสูงกว่าก๊าซธรรมชาติ และหากไทยยังผูกขาดเชื้อเพลิงกับก๊าซธรรมชาติ ค่าไฟฟ้ามีโอกาสเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกอีก
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าล่าสุด พบว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีต้นทุนอยู่ที่ 2.65 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2.93 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3.68 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าพลังงานลม 5.70-6.25 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าชีวมวล 2.70-4.70 บาทต่อหน่วยเป็นต้น
ขณะที่การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แม้ว่าเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล แต่จากบทเรียนที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ในอดีตก่อให้เกิดมลภาวะในพื้นที่จนถูกประชาชนต่อต้าน แม้ว่าปัจจุบันปัญหามลภาวะได้ยุติลงแล้ว ก็ยังถือเป็นกรณีศึกษาในเรื่องของการดูแลชุมชนโดยรอบ ตามที่ได้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ปีละ 300 ล้านบาท เพื่อดูแลหมู่บ้าน ชุมชน ทั้งเรื่องสวัสดิการด้านสุขภาพการพัฒนาอาชีพ ทุนเล่าเรียนให้โรงเรียนในพื้นที่ จนทำให้แม่เมาะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ
ล่าสุด ได้มีนโยบายให้ กฟผ. ดำเนิน การให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานถ่านหิน เพื่อให้ประชาชน ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา สามารถเข้ามาเยี่ยมชมกิจการ และตรวจสอบสภาพอากาศได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อยืนยันว่าคุณภาพอากาศที่แม่เมาะสะอาด มีค่ามลพิษต่ำกว่ามาตรฐาน1 ตำบล 1 โรงไฟฟ้าหญ้าเลี้ยงช้าง
ในการเร่งสร้างความสมดุลและความ มั่นคงทางพลังงานให้แล้วเสร็จในปีนี้ นายพงษ์ศักดิ์ย้ำว่า รัฐบาลจะเน้นเรื่องความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ
ขณะเดียวกันต้องออกแบบพลังงานให้เกิดความเหมาะสม โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ให้เกิดการยอมรับและไม่เป็นปัญหากับประชาชนและสิ่งแวดล้อมในภายหลัง, การจัดหาแหล่งพลังงาน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ให้เพียงพอกับความต้องการ
ประกอบด้วย การสนับสนุนการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จากลาวและพม่าเพิ่มเติม โดยพม่าจะเพิ่มจากเดิม 1,500 เมกะวัตต์ เป็น 10,000 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของพม่าที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะพม่ามีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนท่าซางและฮัดจี รวม 5 เขื่อน หากเป็นไปตามแผน ก็จะสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบให้ไทยได้ในปี 2564 และลาวจากเดิม 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,000 เมกะวัตต์
รวมทั้งการผลักดันให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ 5 แห่ง แห่งละ 800 เมกะวัตต์ รวม 4,000 เมกะวัตต์ ตามแผนพีดีพี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างแห่งแรกได้ในปี 2557 และการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่แม่เมาะจากปัจจุบัน 2,400 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น
ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 8 ก.พ.นี้ กบง.จะเสนอให้ กพช.พิจาณาอนุมัติโครงการ 1 ตำบล 1 โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหญ้าเลี้ยงช้าง (เนเปียร์) รวม 10,000 เมกะวัตต์ เพื่อนำไปบรรจุในแผนพีดีพี ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน นอกเหนือจากพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์
โครงการปลูกหญ้าเลี้ยงช้าง มีเป้าหมายในระยะแรกคือ ต้องมีการเพาะปลูกหญ้าเลี้ยงช้าง 2 ล้านไร่ เพื่อผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 และระยะที่สอง จะมีพื้นที่เพาะปลูก 10 ล้านไร่ เพื่อผลิตไฟฟ้าอีก 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565
โครงการดังกล่าว เป็นการบูรณาการงานร่วมกันระหว่าง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำหนดพื้นที่เพาะปลูก โดยจะเน้นไม่ให้ไปแย่งปลูกในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตทางการเกษตรเดิม แต่จะเน้นให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หากเกษตรกรในพื้นที่ที่มีการตั้งโรงไฟฟ้า ต้องการเปลี่ยนแปลงพืชเกษตรดั้งเดิม และยังมีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรกับโรงงานไฟฟ้า เพื่อเป็นการรับประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกร
ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนโรงไฟฟ้า ทั้งรูปแบบการลงทุนเงินกู้จากสถาบันการเงินร่วมกับภาคเอกชน หรือเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ให้กับชุมชนในลักษณะเงินกองทุนหมุนเวียน โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินโครงการที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเป็นแห่งแรก และผลผลิตที่ได้มาใช้ในหลายรูปแบบ อาทิ ใช้เป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงในรถ หรือ CBG (Compress biomethane gas) หรือผลิตเป็นแอลพีจีภาคครัวเรือน นอกเหนือจากการผลิตเป็นไฟฟ้า
สำหรับโรงไฟฟ้า 1 แห่ง ต้องใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท ขณะที่เกษตรกรที่ปลูกหญ้า ขั้นต่ำต้องมีพื้นที่ 800 ไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิต 50 ตันต่อไร่ ใช้เวลาเพาะปลูก 6 เดือนก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยรัฐบาลจะประกันราคาขายขั้นต่ำ 300 บาทต่อตัน ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าจะได้รับการประกันราคาขายส่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 4.50 บาทต่อหน่วย
ข้อดีของโรงไฟฟ้าประเภทนี้ คือ นอกจากช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่แล้ว ยังมีความปลอดภัยในสภาพแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน ที่สำคัญ คือ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร
“แผนงานทั้งหมดนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดความหลากหลาย ในเรื่องของเชื้อเพลิง หากดำเนินการได้ตามแผน จะทำให้ในปี 2566 จะสามารถลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ ผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 45–50% ของเชื้อเพลิงรวม เพื่อกดค่าไฟฟ้าให้ลดต่ำลงมา”เดือน เม.ย.ขึ้นราคาแอลพีจี
ขณะเดียวกัน กบง.ก็จะเสนอให้ กพช.พิจารณาเลื่อนแผนการปรับขึ้นราคาแอลพีจี ทุกกลุ่มผู้ใช้ออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือน ก.พ.เป็นเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ซึ่งยอมรับว่า นโยบายนี้เหมือนเหรียญสองด้าน ที่มีทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน ก็จะเป็นการผ่าทางตัน เพื่อทำให้กองทุนน้ำมันจากปัจจุบันมีสถานภาพติดลบ 16,000 ล้านบาท สามารถดำรงสถานะได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อปฏิบัติภารกิจที่รัฐบาลชุดนี้จะลงหลักปักฐาน ด้วยการใช้กลไกของกองทุนน้ำมัน ต่อยอดความมั่นคงทางพลังงานให้กับประชาชนในระยะยาว
เพราะต้องยอมรับว่า 30 ปีที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดจากเป้าหมายหลักคือการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน เพื่อลดผลกระทบหากราคาน้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมาจากกรณีใดๆ แต่ปรากฏว่าประเทศไทยกลับนำกองทุนน้ำมันไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะการนำไปชดเชยราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี ซึ่งเป็นการนำเงินของคนใช้น้ำมันไปจ่ายชดเชยให้คนใช้แอลพีจีและเอ็นจีวี
“ผมจึงต้องเข้ามาปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีในทุกกลุ่มผู้ใช้ ทั้งภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมัน ไม่ให้ถูกเก็บค่าน้ำมันแพง เพื่อไปอุดหนุนผู้ใช้แอลพีจี ขณะเดียวกัน ก็จะเข้าไปดูแลผู้ใช้แอลพีจี กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ตลอดจนหาบเร่แผงลอยทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”
เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ปัญหาการนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยราคาแอลพีจี ก็จะไม่สามารถแก้ไข และลดปัญหาการลักลอบส่งออกไปขายในประเทศ เพื่อนบ้านซึ่งมีราคาสูงกว่าไทยเนื่องจากราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนของไทย ถูกกำหนดให้จำหน่ายอยู่ที่ 18.13 บาทต่อ กก. ขณะที่ราคาที่ถูกต้องควรอยู่ที่ 24.82 บาทต่อ กก. เพื่อให้สะท้อนกับต้นทุนตลาดโลก จึงเท่ากับว่ากองทุนน้ำมันต้องจ่ายชดเชย ให้กับผู้ใช้ 6.69 บาทต่อ กก. ทำให้จะต้องมีการปรับ ขึ้นราคาเฉลี่ยเดือนละ 50 สตางค์ (สต.) ต่อ กก. รวม 12 เดือน หรือ 6 บาทต่อ กก. เพื่อให้เท่ากับราคาต้นทุนที่แท้จริงที่ 24.82 บาทต่อ กก.
ขณะที่ราคาแอลพีจีภาคขนส่ง อยู่ที่ 21.38 บาทต่อ กก. ก็จะต้องมีการปรับขึ้นอีก 3 บาทต่อ กก. หรือเฉลี่ย 50 สต.ต่อ กก. ในทุกๆ 2 เดือน เมื่อครบ 1 ปี ก็จะเท่ากับปรับเพิ่มขึ้นอีก 3 บาทต่อ กก. เพื่อให้สะท้อนต้นทุนเดียวกับภาคครัวเรือน ส่วนภาคอุตสาหกรรม ขณะนี้มีราคาอยู่ที่ 30.13 บาทต่อ กก. ถือว่าเป็นราคาลอยตัวแล้วในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องเลื่อนระยะเวลาการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน ออกไปเป็นเดือน เม.ย. จากเดิมที่ต้องเริ่มทยอยปรับขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้ เพราะต้องรอผลการสำรวจผู้ใช้ภาคครัวเรือน ในกลุ่มครัวเรือนทั่วไป ที่มีรายได้น้อย และกลุ่มหาบเร่แผงลอย ร้านอาหาร แม่ค้าข้าวแกงริมทาง เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่