"เด็กจบใหม่" ตกงานพุ่ง ทะลุ 4 แสนคน ระดับอุดมศึกษาสูงที่สุด

สภาพัฒน์เผยตัวเลขว่างงานล่าสุด 3.58 แสนคน จบอุดมศึกษานำโด่ง 9.1 หมื่นราย ด้าน “ดร.ธนวรรธน์” ยอมรับเด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่มเป็น 4.1 แสนคน เพราะหางานยาก-บริษัทชะลอจ้าง-ต่างชาติแย่งงาน

หนึ่งในรายงานพบสัญญาณสถานการณ์การจ้างงานภาพรวมลดลงเล็กน้อย ในขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จำนวนผู้มีงานทำรวมอยู่ที่ 40.11 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า
 
เรียนจบอุดมศึกษาว่างงาน 9.1 หมื่นคน
 
ข้อมูลจาก “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ที่ สศช.ใช้อ้างอิง เมื่อเจาะข้อมูลลงลึกพบว่าตัวเลขการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2567 พบผู้ว่างงานรวม 3.58 แสนคน ต่ำกว่าผู้ว่างงานจำนวน 4.14 แสนคน ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าผู้ว่างงานจำนวน 3.29 แสนคน ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า 
 
 จำนวนผู้ว่างงาน มากที่สุดอยู่ที่พื้นที่ภาคกลาง 1.29 ล้านคน ภาคใต้ 6 แสนคน กรุงเทพมหานคร 5.3 แสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4.2 แสนคน และภาคเหนือ 3.5 แสนคน
 
แต่เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษา พบว่าผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษายังคงมีจำนวนผู้ว่างงานสูงสุดถึง 9.1 หมื่นคน รองลงมาคือผู้จบระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 8.5 หมื่นคน และระดับ ปวช./ปวส. 5.4 หมื่นคน
 
ที่น่าสนใจคือ กว่าครึ่งของผู้ว่างงานหรือ 1.68 แสนคน เป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ขณะที่ผู้เคยมีประสบการณ์ทำงานมีจำนวน 1.51 แสนคน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานส่วนใหญ่มาจากภาคบริการและการค้า 9.6 หมื่นคน ภาคการผลิต 4.5 หมื่นคน และภาคเกษตรและประมง 2.7 หมื่นคน
 
ด้านการกระจายตัวระหว่างเพศ พบว่าเพศชายว่างงาน 8 หมื่นคน และเพศหญิง 7.1 หมื่นคน แสดงให้เห็นว่าการว่างงานกระทบทั้งสองเพศในระดับที่ใกล้เคียงกัน
 
รายงานของสศช. อ้างอิงข้อมูลจากระบบประกันสังคมแสดงแนวโน้มเชิงบวก โดยจำนวนผู้ประกันตนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ในไตรมาส 4 ผู้ประกันตนภาคบังคับตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในขณะที่ผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 40 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 10 โดยลดลงร้อยละ 4.3
 
เด็กจบใหม่ป.ตรี ว่างงานสะสมเพิ่มเป็น 4.1 แสนคน
 
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ระหว่าง 2.3-3.3% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2.8% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2567 ที่ขยายตัวได้ 2.5% นั่นหมายว่าปี 2568 อาจจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 3%
 
บริษัทต่างๆชะลอจ้างงาน-ต่างชาติแย่งงาน
 
“ถ้าตามคาดการณ์ว่า GDP จะเข้าเป้าที่ 3% นั้น ไม่กระทบกับตลาดแรงงานอย่างมีนัยยะ แต่ถ้าพูดในมุมเด็กจบใหม่นั้นแน่นอนว่าจะหางานยากขึ้นแม้จบปริญญาตรี บริษัทต่าง ๆ จะชะลอในการจ้างงานเด็กจบใหม่ เพราะฉะนั้นการว่างงานโดยรวม การหางานยากขึ้นเป็นตามภาวะเศรษฐกิจรอฟื้นตัว รวมถึงเศรษฐกิจโลกอย่างนโยบายทรัมป์ 2.0 สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ภาพเศรษฐกิจยังไม่คงที่”
 
ดร.ธนวรรธน์ ระบุด้วยว่า จากข้อมูลปี 2567 เด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่ม 4.1 แสนคน ส่วนคนที่ว่างงานเกิน 1 ปีมีจำนวน 8.1 หมื่นคน ซึ่งให้เหตุผลว่า หางานไม่ได้ และเกือบ 3 ใน 4 อยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี เนื่องจากตลาดแรงงานในปัจจุบันต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงคนที่ทำงานในส่วนที่ AI ทำไม่ได้
 
“อัตราการว่างงานโดยรวมของประเทศอาจลดลง แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง และการปรับตัวของแรงงานไทยให้เข้ากับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนอกจากนี้ การเข้ามาของแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีน ยังส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย โดยแรงงานต่างชาติเหล่านี้มักจะมีทักษะเฉพาะทางที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานไทยที่จบใหม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น”
 
ประกันสังคมม.33 ต่างด้าวเพิ่มขึ้นอมยิ้ม07
 
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ลูกจ้างในสถานประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ล่าสุดมี 12.08 ล้านคนถือเป็นตัวเลขสูงในรอบ 3 เดือน ในจำนวนนี้ว่างงานอยู่ 1.81% แสดงให้เห็นว่าสถานประกอบการยังเดินหน้าในการดำเนินธุรกิจ ยังไม่ปล่อยให้คนตกงาน แม้ก่อนหน้าจะมีกระแสข่าวโรงงานไทยปิดตัวเป็นระยะจากผลกระทบสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด แต่ในปี 2567 ตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ถึง 5.8% แสดงให้เห็นถึงภาคการผลิตเพื่อส่งออกของไทยยังพอไปได้
 
ในส่วนของตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายในไทย ณ เดือนมกราคม 2568 มีจำนวน 3.35 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 1 ปี ซึ่งเป็นผลจากนายจ้างมีการนำเข้าหรือมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการเพิ่มขึ้น 
 
อีกหนึ่งตัวเลขที่สะท้อนถึงภาคการลงทุนของไทยยังขยายตัวได้ดี คือ สถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในปี 2567 มีมากกว่า 3,100 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มการจ้างงานในอนาคตอีกจำนวนมาก
 
อย่างไรก็ดีในส่วนของแรงงานจากนักศึกษาจบใหม่ในแต่ละปีที่ผ่านมา มีจำนวนประมาณ 4.2 แสนคนต่อปี ซึ่งจากจีดีพีของไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวในระดับไม่เกิน 2.5% ต่อปี ส่งผลให้นักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ประมาณ 2.54 แสนคนต่อปี 
 
“ที่เหลืออีกกว่า 1.6 แสนคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งจะทำธุรกิจส่วนตัว เช่น ขายสินค้าออนไลน์ ทำร้านอาหาร เครื่องดื่ม และอื่น ๆ อีกส่วนหนึ่งไม่หางานทำโดยมีผู้ปกครองยังคอยดูแลอยู่ ถือเป็นการว่างงานแฝง เห็นได้จากเว็บไซต์สมัครงาน JobThai ที่มีคนเข้าไปสมัครมากถึง 2.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุ 35-40 ปี แต่มีนักศึกษาจบใหม่เข้าไปสมัครสัดส่วนเพียง 8.1% เท่านั้น”
 
นายธนิต วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของจีดีพีไทยที่ระดับ 2.5% ต่อปี และปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 2.8% จะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน หรือคนตกงานเพิ่มหรือไม่ และจะกระทบต่อแรงงานนักศึกษาจบใหม่หรือไม่นั้นภาพยังไม่ชัด ซึ่งในปีนี้คงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น นโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเกือบ 60% ของไทยมากน้อยแค่ไหน และจะมีผลทำให้มีสินค้าจีน หรือสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ทะลักเข้าไทยเพิ่ม และกระทบโรงงานผลิตไทยปิดตัวเพิ่มหรือไม่ หากมีผลกระทบก็จะส่งผลต่อการจ้างงานในภาคการผลิต รวมถึงนักศึกษาจบใหม่ลดลง ซึ่งต้องจับตาต่อไป” นายธนิต กล่าว
   
คลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันจีดีพีปีนี้ โต 3.5% 
 
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง ว่า การฉายภาพเป็นแบบนี้ทุกครั้ง ซึ่งหากย้อนไป 10 ปีก่อน การฉายภาพจีดีพีก็ตกเฉลี่ยประมาณ 2 จุดปลายๆ ทุกปี เเต่การเติบโตจริง เศรษฐกิจไทยไม่เคยถึง 2% เฉลี่ยประมาณ 1.9 %
 
อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาจากการทำงานของรัฐบาลจะเห็นว่าทำได้เกินกว่าเป้าหมาย ตัวเลขจีดีพีสามารถไปแตะ 2 ปลายๆได้ เกินกว่าเป้าหมายในระดับหนึ่ง และปีนี้เรายังมีกลไกที่รัฐบาลเตรียมไว้ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 3 รวมถึงสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว และกลไกที่ทำเรื่องมาตรการลดหย่อนภาษี easy e-receipt จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
 
“กระทรวงการคลังมีความมั่นใจว่าในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เศรษฐกิจจะมีการเติบโต เราสามารถทำได้ ซึ่งเราก็มีการประชุมในส่วนของอนุกรรมการขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจ มาคุยลงรายละเอียดว่ากลไกที่เราจะใช้ในการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโต มีอยู่ 3-5 อย่าง” 
 
รมช. คลัง กล่าวด้วยว่า รัฐมีความพยายามจะเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจอีก 0.5 % เราก็เตรียมมาตรการ เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่าย การป้องกันการรั่วไหลของเงิน 10,000 บาท โดยยอมรับว่าเมื่อเม็ดเงินลงไปถึงมือประชาชนแล้ว ก็ต้องมีกลไกที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ก็อาจจะมีช่องว่าง ซึ่งเราต้องเข้าไปกำกับและอุดรอยรั่วเหล่านั้น ก็จะช่วยเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 0.2% และพยายามดันให้ถึง 3.5 %
 
ส่วนกรณีที่สภาพัฒน์ฯ ประเมินเศรษฐกิจปีนี้ 2.8% ซึ่งได้รวมเรื่องมาตรการแจกเงินดิจิทัล เฟส 3 ไว้แล้วนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การประเมินเศรษฐกิจปีนี้ของกระทรวงการคลัง ก็ได้รวมปัจจัยการเดินหน้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 3 เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กลไกในการขับเคลื่อนให้เม็ดเงินที่ลงไปสู่ระบบสามารถหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงนี้เป็นหน้าที่กระทรวงการคลังต้องเข้าไปกระชับ

Cr. https://www.thansettakij.com/economy/619963

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่