JJNY : อาจฆ่าตัวตายเพิ่ม อาชญากรรมไม่มีแผ่ว│โควิดกลายพันธุ์รุ่นใหม่│แบงก์รัฐอุ้มลูกหนี้มาราธอน│ปีหน้า รับสร้างบ้านขึ้น5%

ไทยหนี้ครัวเรือนพุ่ง หนี้นอกระบบสูง ว่างเงินเพิ่ม อาจฆ่าตัวตายเพิ่ม อาชญากรรมไม่มีแผ่ว
https://brandinside.asia/thailand-q3-2021-household-debt-and-crime-increasing/

สภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2564 โดยรวมพบว่าตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุดนับตั้งแต่มีโควิด-19 หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อโดยรวมทรงตัว
  
 ว่างงานสูงที่สุดนับตั้งแต่โควิดระบาด มีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น
 
ผู้มีงานทำมีจำนวน 37.7 ล้านคน ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ มีการจ้างงาน 12.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.0% เนื่องจากเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าว การจ้างงานภาคนอกเกษตรกรรมลดลง 1.3% สาขาที่มีการจ้างงานลดลงมากคือ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ลดลง 7.3% และ 9.3% ตามลำดับ

ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการควบคุมการเปิดปิดสถานประกอบการ การปิดแคมป์คนงาน และสาขาขนส่ง/เก็บสินค้าขยายตัว 2.1%, 0.2% และ 4.6% ตามลำดับ สาขาการผลิตที่มีการจ้างงานขยายตัวได้ดีคือ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตรถยนต์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์
ชั่วโมงการทำงาน โดยเฉลี่ยภาคเอกชนอยู่ที่ 43.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 44.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีผู้ว่างงานชั่วคราวสูงเกือบ 9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วยเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนเพียง 4.7 แสนคน
 
การว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด มีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 2.25% และยังพบว่า ผู้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.63% รองลงมาคือ ปวส. 3.16% ซึ่งผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจ การตลาด) มีแนวโน้มประสบปัญหาว่างงานยาวนานขึ้น เนื่องภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัดและคนกลุ่มนี้มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น
 
แรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุด 9.4% รองลงมาเป็นอายุ 20-24 ปีที่ 8.35% โควิดส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ขณะที่เด็กจบใหม่ไม่มีตำแหน่งรองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน

การว่างงานของแรงงานในระบบมีสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ 2.47% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน หลังรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ประกันตนช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยสถานประกอบการที่มีการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยแทนการเลิกจ้าง มีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคนเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน
 
นอกจากประเด็นแรงงานแล้วยังมีเรื่องการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผลกระทบของอุทกภัยต่อต่อแรงงานภาคเกษตร ที่ผ่านมามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 33 จังหวัด รวม 225 อำเภอ อาจต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อนำไปใช้ซ่อมแซมบ้านเรือนและเป็นทุนในการทำการเกษตรด้วย
 
ภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นและกระทบค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ว่างงานชั่วคราวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง มีจำนวนสูงถึง 7.8 แสนคน ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาในการดำรงชีพ ปัญหาสูญเสียทักษะจากการว่างงานนานและแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนตนมาตรา 40 เกือบ 7 ล้านคน
  
หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นรวม 8.5 หมื่นล้านบาท
 
ไตรมาสสองปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.0% จาก 4.7% ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDP ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา 90.6% สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาด คุณภาพสินเชื่อต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น
 
แม้สัดส่วน NPLs ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.92% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจาก 3.04% ในไตรมาสก่อนเป็น 3.51% รวมถึงลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียจากบัตรเครดิตจำนวน 1ใน 3 เป็นผู้มีอายุน้อยกว่า 35 ปี
 
หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่สามารถขยายได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว แต่ขยายตัวจากฐานต่ำ รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และผลกระทบของอุทกภัยทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหายเพิ่ม โดยเฉพาะก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค
 
สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หนี้สินครัวเรือนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้าปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ และมีแนวโน้มก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 พบว่า มูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าจากปี 2562
 
ความเจ็บป่วยโดยรวมลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาการหลังติดเชื้อโควิด-19 หรือ Long Covid ของผู้เคยติดโควิด-19
 
อาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น
 
คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้น ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะคดีลักทรัพย์ที่กระทำผิดมากที่สุดของคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ คดีจับกุมการเสพยาเสพติดมากที่สุดของคดียาเสพติดทั้งหมด ต้องมีมาตรการป้องกันเข้มงวดมากขึ้น ไตรมาสสามปี 2564 คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้น 10.3% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดยคดีเสพติดเพิ่มขึ้น 10.5% คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น 17.3% ส่วนคดีชีวิต ร่างกายและเพศรับแจ้ง 3,085 คดีลดลง 14.7%
 
ช่วงควบคุมการระบาดของโควิด พบกระทำผิดลักทรัพย์มากที่สุด คิดเป็น 45.4% ของคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ทั้งหมดและในส่วนของคดียาเสพติด มีการจับกุมในคดียาเสพติดมากที่สุด 52.3% ของคดียาเสพติดทั้งหมด
 
การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงเนื่องจากมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด คาดว่าจะส่งผลต่อความยากจนและความรุนแรงทำให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แม้โควิดคลี่คลายลง แต่ยังมีผลกระทบต่อเนื่อง คนว่างงานเพิ่มและว่างงานยาวนานขึ้น ส่งผลต่อรายได้ การพัฒนาทักษะและความสามารถในการหางานในอนาคต นักเรียนนักศึกษาไม่สามารถเรียนรู้ได้เต็มที่ ทำให้ความรู้ขาดหาย วิกฤตโควิดทำให้ครัวเรือนต้องนำเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อรักษาระดับบริโภค มีการก่อหนี้เพิ่ม และโควิดกระทบคนในวงกว้าง ต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยา
แนวทางต่อไปคือ เน้นช่วยเหลือเยียวยาเน้นจ้างงาน พัฒนาทักษะและฝึกอบรมให้เชื่อมโยงกับความต้องการตลาด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้มีความพร้อมสามารถเข้าถึงได้ และปรับโครงสร้างหนี้ ส่งเสริมเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ 
 
ที่มา – สภาพัฒน์
 

 
"โควิดกลายพันธุ์รุ่นใหม่" ดื้อ สองพันธุ์รวมตัว ลักษณะเฉพาะอันน่าเป็นกังวล
https://www.komchadluek.net/news/494022

"โควิดกลายพันธุ์รุ่นใหม่" หนังสือพิมพ์ดิอินดิเพนเดนท์ของสหราชอาณาจักร รายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ในสหรัฐฯ ที่มีลักษณะ ดื้อ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวระหว่างเชื้อไวรัสฯ สองสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน
 
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดสรุปจากผลวิเคราะห์องค์ประกอบทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ บี.1.628 (B.1.628) ว่าเชื้อไวรัสฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการรวมตัวใหม่ของสองสายพันธุ์ ได้แก่ บี.1.631 (B.1.631) และ บี.1.634 (B.1.634)
 
เหล่าผู้เชี่ยวชาญกังวลว่ากรณีเชื้อไวรัสฯ รวมตัวรูปแบบนี้ "โควิดกลายพันธุ์รุ่นใหม่" อาจปรากฏบ่อยครั้งขึ้นจนนำไปสู่การเกิดเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ใหม่รุ่นถัดไปที่มีลักษณะเฉพาะอันน่าเป็นกังวล ท่ามกลางการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เชื้อไวรัสฯ มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากขึ้น
 
นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอร์วิก ศาสตราจารย์ลอว์เรนซ์ ยัง เผย "โควิดกลายพันธุ์รุ่นใหม่" ว่า การรวมตัวของเชื้อไวรัสฯ สองสายพันธุ์เป็น “ปัจจัยสร้างความกังวลอย่างชัดเจน” และมี “โอกาสเป็นแหล่งสร้างเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์พิเศษแบบใหม่” ด้วย
 

 
แบงก์รัฐอุ้มลูกหนี้มาราธอน “ออมสิน” แบกภาระ 5 แสนล้าน
https://www.prachachat.net/finance/news-808160

แบงก์รัฐต่อเวลาอุ้มลูกหนี้รอบใหม่ “ออมสิน” แบกต่อเกือบ 8 แสนราย เฉียด 5 แสนล้านบาท จัดแพ็กเกจ “ลดดอกเบี้ย-จัดสินเชื่อสร้างอาชีพ” กรณีหนี้เสียรัฐอุดหนุน 30% ด้านเอสเอ็มอีแบงก์อุ้มลูกค้าต่ออีก 2 หมื่นล้าน ธอส.ห่วงกลุ่มหยุดจ่ายมากกว่า 6 เดือนเสี่ยงจ่ายไม่ไหว ธปท.เตรียมออกมาตรการคุมแบงก์รัฐ แจงลูกหนี้อยู่ในวงจรผ่อนชำระ-พักหนี้ 3.97 ล้านบัญชี วงเงิน 1.58 ล้านล้านบาท
 
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการพักหนี้ของธนาคารออมสินจะทยอยครบกำหนดตั้งแต่สิ้นปีนี้ไปจนถึงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565 มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการกว่า 798,000 ราย คิดเป็น 931,000 บัญชี วงเงินรวมกว่า 474,000 ล้านบาท ออมสินจะมีมาตรการช่วยให้ปรับตัวและสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ เช่น การผ่อนเกณฑ์การชำระหนี้ด้วยการลดดอกเบี้ย
 
และในระยะยาวจะเข้าไปช่วยลูกหนี้ที่ตกงานให้มีอาชีพ ผ่านสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ให้กู้ได้ตั้งแต่ 10,000-300,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี โดยรัฐบาลจะสนับสนุน กรณีเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 30% ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
 
EXIM BANK ลูกหนี้ชำระไม่ไหว
 
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของธนาคาร ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 มีอยู่ 2,167 ราย ธนาคารได้ช่วยเหลือผ่านการดำเนินการในรูปแบบ health check หรือตรวจสุขภาพ พบว่า กลุ่มลูกหนี้ประมาณ 75% กลับมาชำระหนี้ได้และกลับมาดำเนินธุรกิจได้เช่นเดิมแล้ว กลุ่มลูกหนี้ประมาณ 20% มีแนวโน้มที่จะกลับมามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยความช่วยเหลือของธนาคารในการขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ และการเติมทุนผ่านผลิตภัณฑ์ของธนาคาร
 
“กลุ่มสุดท้ายที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเวลานี้ มีประมาณ 5% ธนาคารได้ช่วยเหลือและแนะนำให้ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายเวลาผ่อนชำระได้นานขึ้น และผ่อนชำระในจำนวนที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เช่นเดิม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ NPL สิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับ 3.5% จากสิ้นเดือน ก.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 3.71%” นายรักษ์กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่