Geotrip ท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาภาคอีสาน Ep.3 ไปดูไดโนเสาร์กัน (อุทยานแห่งชาติภูเวียง-สถานีแยกก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม)

สืบเนื่องมาจาก Ep.1 https://ppantip.com/topic/43214639 และ Ep.2 https://ppantip.com/topic/43218445

คืนที่ 2 เราพักกันที่ ภูอ้อมวิลล์ รีสอร์ท เป็นคืนที่อุณหภูมิลดต่ำลงมากกก (11 C ในที่สุดหน้าหนาวปีนี้ ก็ได้สัมผัสอากาศหนาวของแทร่ 555+) แต่ก่อนจะพักผ่อน เราไปทานอาหารเย็นกันที่ "ไร่แทนคุณแผ่นดิน" แบบบรรยากาศรอบกองไฟ นอกจากอาหารจะอร่อย (เมนูแนะนำคือ ข้าวจี่ไดโนเสาร์) บรรยากาศดี ยังมีพี่ๆ จนท.กรมอุทยาน มาร่วมพูดคุยตามประสานักธรณี สนุกสนานได้ความรู้

สัก 3 ทุ่ม ก็เดินทางกลับที่พัก รีบอาบน้ำ พักผ่อน และคืนนั้นนอนหนาวทั้งคืนนน 55+ ปีนี้สมศักดิ์ศรีฤดูหนาวมากๆๆ 

เช้าวันใหม่.....และแล้วก็ถึงวันที่ จขกท. คิดว่าเป็น 1 ในไฮไลท์ของทริปนี้เลย เพราะจะได้ฟังบรรยายจากลุงหมู หรือ ดร.วราวุธ สุธีธร ไอดอลนักขุดไดโนเสาร์ของนักธรณีไทย ตื่นเต้นมากค่ะ...มาเริ่มกันเลย

วันอังคารที่ 14 มกราคม 2568 อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น วันนี้เราอยู่ที่อุทยานเกือบทั้งวัน เนื่องจากมีหลายจุดศึกษา
เริ่มด้วยลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ภูเวียง พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงอยู่ในขอบเขตของอุทยานธรณีขอนแก่น ซึ่งไม่ได้จัดอยู่ในที่ราบสูงโคราช (อยู่นอกเขตที่ราบสูงโคราช) ในวงการปิโตรเลียมเรียกพื้นที่นี้ว่า "พื้นที่ภูเวียงอันโดดเด่น" (Phu Wiang Salient) ประกอบด้วยพื้นดินลอนราบ (undulation) สลับกับภูเขายอดเรียบ (mesa)

ในส่วนของแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์เทือกเขาภูเวียง (ภาพแบบจำลองด้านล่าง) มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาล้อมรอบเป็นวงอยู่ 2 ชั้น ตรงกลางเป็นแอ่งขนาดใหญ่ คล้ายแอ่งกระทะซึ่งเป็นที่ราบและลอนลาด ส่วนพื้นที่โดยรอบแอ่งมีลักษณะเป็นเทือกเขาซึ่งมีมุมเทเข้าหาใจกลางแอ่ง ทางธรณีวิทยาเรียกว่าโครงสร้างแบบประทุนหงาย (syncline) ขอบนอกสุดเป็นหมวดหินพระวิหาร (๋JKpw)  ถัดเข้าไปในแอ่งจะเป็นหมวดหินเสาขัว (Ksk) หมวดหินภูพาน (Kpp) หมวดหินโคกกรวด (Kkk) และกลุ่มตะกอนน้ำพาควอเทอร์นารี (Qa; Alluvial Quaternary) ตามลำดับ (ดูจากแผนที่ธรณีวิทยาด้านล่างได้) พื้นที่ด้านในแอ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยาน 


ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติภูเวียง มีหลุมขุดค้น จำนวน 9 หลุม ทริปนี้เราจะไปดูหลุมขุดค้น 2 หลุม ได้แก่ หลุมที่ 3 ห้วยประตูตีหมา และหลุมที่ 8 หินลาดป่าชาด

ก่อนเดินเข้าไปดูหลุมขุดค้นที่ 3 เราจะเจอลานแร่ยูเรเนียมก่อน จุดนี้เป็นจุดศึกษาแรกของวัน

จุดศึกษาที่ 5 ลานแร่ยูเรเนียม (ภูประตูตีหมา)
เมื่อประมาณปี พ.ศ.2514 - 2517 บริษัทสุวรรณภูมิเหมืองแร่ได้มาสำรวจหาแหล่งแร่ทองแดงที่ปรากฏในหน้าผาเชิงเขาบริเวณนี้ (ถ้าเดินลึกเข้าไปหลังป้ายลานยูเรเนียมจะพบหน้าผาที่ว่า) แล้วพอนำตัวอย่างแร่ทองแดงไปวิเคราะห์ ก็พบว่ามีแร่ยูเรเนียมในตัวอย่าง หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งฝ่ายยุทธปัจจัยและนิวเคลียร์ขึ้นเพื่อเจาะสำรวจพื้นที่ภูประตูตีหมา จากการสำรวจบอกได้ว่าลานแร่แห่งนี้สะสมตัวในชั้นหินทรายตอนบนของหมวดหินเสาขัว (Ksk) อายุประมาณ 150 ล้านปี หินทรายชุดนี้เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำ อาจจะเป็นแม่น้ำประสานสาย (braided stream) สลับกับหนองบึงในสภาพอากาศแห้งแล้ง (arid to semi-arid) ประกอบด้วยหินทรายสีเทาเขียวถึงน้ำตาลแดง มักมีแร่ทองแดง แร่อซูไรต์ และแร่มาลาไคต์ (คาร์บอเนตของทองแดง) ปะปนอยู่ (ขอบคุณข้อมูลจาก คู่มือทัศนศึกษา มุ่งสู่อีสาน จากร้อยล้านปีถึงปัจจุบัน) แต่เนื่องผิวหินผุพังมากแล้ว ทำให้มองไม่เห็นแร่เหล่านี้

บริเวณลานแร่ เราจะเห็นลักษณะริ้วคลื่น (ripple mark) ค่อนข้างชัดเจน บ่งบอกว่าสะสมตัวโดยธารน้ำ
การเกิดลานแร่นี้น่าจะเกิดจากน้ำผิวดินพาสารละลายยูเรเนียมมา แล้วยูเรเนียมไอออนในสารละลายถูกรีดิวซ์แล้วตกตะกอนเป็นสารประกอบแข็ง (ยูเรเนียมซิลิเกต) หลายประเภท สะสมอยู่ในชั้นหินทรายแบบ blanket type แต่จากการตรวจวิเคราะห์ปริมาณยูเรเนียมน้อยเกินไป ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สุดท้ายการสำรวจหาแร่ยูเรเนียมก็ต้องหยุดไป

หินทรายเนื้อละเอียดปานกลางสีเทาเขียว บริเวณลานแร่

2 ตำนาน ไดโนเสาร์เมืองไทย ยืนคุยกันบนลานแร่ยูเรเนียม ยิ้ม
ซ้าย: อ.นเรศ สัตยารักษ์ (ผู้พบกระดูกชิ้นแรกของ ชิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ)
ขวา: อ.วราวุธ สุธีธร (สยามโมซอรัส สุธีธรนิ)

จุดศึกษาที่ 6 หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ที่ 3 ห้วยประตูตีหมา
พบกระดูกขนาดใหญ่ฝังอยู่ในชั้นหินทราย หมวดหินเสาขัว คณะขุดค้นคาดว่าน่าจะเป็นกระดูกของซอโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืช)  ที่มีความแตกต่างจากภูเวียงโกซอรัส  สิรินธรเน ที่พบในหลุมขุดค้นที่ 1 เนื่องจากมีขนาดที่ใหญ่กว่า และกระดูกที่โผล่ขึ้นมาบางส่วน มีลักษณะที่แตกต่างออกไป เช่น ลักษณะของโพรงอากาศในเนื้อกระดูก แต่ยังเนื่องจากกระดูกยังฝังอยู่ในหิน จึงยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้คงนึกสงสัยว่า ก็แล้วทำไมไม่ขุดขึ้นมาหล่ะ จริงๆ คณะศึกษากำลังขุดกันอยู่ โครงการนี้เพิ่งเริ่มเมื่อต้นปี 67 ค่ะ (แต่เจอมานานแล้วนะ ที่เพิ่งเริ่มโครงการมันมีเหตุผลหลายประการ แล้วเอาจริงๆ ภาคอีสานบ้านเราเจอกระดูกไดโนเสาร์เยอะมากกกกกก ศึกษากันไม่ทันเลยทีเดียว งบก็ออกไม่ทันเช่น) นอกจากเหตุผลทางการแล้ว บริเวณนี้ขุดได้ช้าเพราะหินแข็งมาก

ลุงหมูกำลังอธิบายเรื่องชิ้นส่วนที่พบ และวิธีการขุด ลุงหมูให้ลองใช้เครื่องมือด้วย แต่ จขกท.เสียสละให้คนอื่นลองค่ะ 555+ จริงๆ แล้วมัวแต่ดูหินกับสนใจเรื่องการกำหนดอายุซากอยู่ (dating) ซึ่งได้ความว่าการหาอายุไดโนเสาร์ในไทยในอดีตเป็นการหาอายุเปรียบเทียบ (relative dating) คือคาดการณ์อายุจากชั้นหินที่พบ เช่น หลุมขุดค้นนี้อยู่ในหมวดหินเสาขัว ซึ่งมีอายุประมาณ 150 ล้านปี ซากที่พบก็จะมีอายุประมาณ 150 ล้านปีด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันมีการอายุโดยตรวจวัดจากธาตุกัมมันตรีงสี (radioactive dating) ควบคู่ไปด้วย และเนื่องจากว่าในซากที่พบมีแร่ Zircon อยู่ค่อนข้างมาก (คือมากกว่าอย่างอื่น) จึงใช้วิธีตรวจวัดปริมาณไอโซโทปของเซอร์คอน (Zr) แล้วในไทยไม่มีเครื่องมือด้วยนะคะ ส่วนใหญ่ที่นี่จะส่งตัวอย่างไปตรวจที่ญี่ปุ่น หรือไม่ก็ออสเตรเลีย

ในที่นี้ขอย้ำอีกที เนื่องจากมีคนทั่วมักเข้าใจผิดว่าเราสามารถหาอายุซากดึกดำบรรพ์จาก C-14 ได้ ดังนั้นก็ใช้ C-14 หาอายุซากไดโนเสาร์ได้ด้วยเช่นกัน ต้องบอกว่า C-14 มีข้อจำกัด เนื่องจากสลายตัวค่อนข้างเร็ว ดังนั้นพวกซากดึกดำบรรพ์ที่อายุเยอะๆ แสนปีขึ้นไป เราจะตวจหา C-14 ไม่เจอแล้ว ดังนั้นเราใช้ C-14 หาอายุซากไดโนเสาร์ไม่ได้นะคะ C-14 ใช้ได้กับซากที่อายุน้อยๆ ประสิทธิภาพจะดีคือไม่เกิน 70,000 ปี

กระดูกสะโพก

กระดูกโคนหาง ขุดเจออยู่ติดกันกับกระดูกโพกเลย

เอาจริงๆ จขกท. ก็ดูไม่ออกค่ะ ไม่ใช่ทางเลย แต่ไปรับความกรุณาจากพี่ป้อง (อ.สุรเวช สุธีธร) ส่งรูปนี้มาให้ดูประกอบ


รูปด้านบน เป็นหินทรายแข็งเนื้อละเอียดถึงละเอียดมาก (very fine to fine sandstone) ที่พบกระดูกซอโรพอดยักษ์ใหญ่ หินทรายบริเวณนี้เนื้อแข็งกว่าปกติ เนื่องจากน้ำฝนพาสารละลายปูนไหลลงมาขังในพื้นที่ ทำให้เม็ดตะกอนทรายจับกันแน่นขึ้น เป็นอุปสรรคในการขุด และตกแต่งชิ้นกระดูก ต้องใช้เครื่องมือหนักเข้ามาช่วย ซึ่งสารละลายปูนน่าจะมาชั้นฟอสซิลหอยที่อยู่บริเวณข้างเคียง (จขกท.ยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน)

จุดศึกษาที่ 7 ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์
หลังจากนั้นไปดูหลุมขุดค้นมา เราพักเหนื่อยด้วยการเข้าฟังบรรยายเรื่องการค้นพบไดโนเสาร์ในไทย โดย อ.วราวุธ สุธีธร ที่ห้องประชุมศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์

เล่าคร่าวๆ

ของรางวัลจากการตอบคำถามของลุงหมูถูก อิอิ
คำถาม: กระดูกของ มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส พบในหมวดหินใด?
ตอบ: หมวดหินภูกระดึง (**อันนี้สำคัญมากค่ะ ไดโนเสาร์ในไทยที่พบมาก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงครีเทเชียส และมีหนึ่งสายพันธุ์ที่คาดว่ามีอายุอยู่ในช่วงไทรแอสซิก ส่วน ภูน้อยเอนซิส เป็นสายพันธุ์แรกที่พบว่ามีอายุอยู่ในช่วงจูแรสซิก)
ได้รางวัลมากจากคำถามนี้ แต่จริงๆ มีอีก 1 คำถาม ที่ จขกท. ยกมือตอบ คือ

คำถาม: ไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดคืออะไร?
ตอบ: จขกท.ตอบไปว่า อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ เพราะเป็นไดโนเสาร์ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายไทรแอสซิก (แต่คำตอบนี้เป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่าชั้นหินที่พบ อรรถวิภัชน์ชิ อาจจะมีอายุอยู่ในช่วงต้นจูแรสซิก สรุปคือยังไม่รู้แน่ชัด เลยอดได้หมวกอีกใบ)

พอฟังบรรยายเสร็จ ก็พักรับประทานอาหารกลางวัน อาหารวันนี้เป็นข้าวห่อใบบัวแบบเครื่องจุกๆ ทานเสร็จก็รีบเข้าไปเดินเที่ยวในพิพิธภัณฑ์ 
พิพิธภัณฑ์ทำค่อนข้างดี เสียดายที่มีเวลาเดินน้อยไปหน่อย คิดว่ายังไงคงต้องกลับไปซ้ำแน่นอน

จขกท.เอาตัวไปวัดกับแบบจำลองขาหน้าของภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน วิ่งชมพิพิธภัณฑ์เสร็จ (คือรีบมาก ออกจากพิพิธภัณฑ์เป็นคนสุดท้าย เพราะมัวแต่โม้อยู่) รีบขึ้นรถเพื่อไปต่อจุดที่ 8

จุดศึกษาที่ 8 หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ที่ 8 หินลาดป่าชาด (รอยตีนไดโนเสาร์) *ตามหลักต้องใช้คำว่า รอยตีน ไม่ได้หยาบคายนะคะ 
จุดนี้อยู่ห่างจากศูนย์วิจัยออกไปทางเหนือประมาณ 10 km เดินลงมาประมาณ 10 m ก็เจอหินตรงทางเดินที่มีริ้วคลื่น (ripple mark) อย่างชัดเจน ในภาพหัวปากกาชี้ไปปลายน้ำ บ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมริมแม่น้ำของยุคครีเทเชียสตอนต้น จุดนี้อยู่ในหมวดหินพระวิหาร (แก่กว่าห้วยประตูตีหมา)

รอยชอนไชของสิ่งมีชีวิต

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2532 คณะสำรวจไดโนเสาร์พบรอยตีนไดโนเสาร์มากกว่า 60 รอย และแนวทางเดินหลายทิศทาง บนหินทรายเนื้อละเอียดสีขาว ที่ผิวหน้าออกสีแดงสนิมเหล็ก รอยตีนส่วนใหญ่เป็นของไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก และจากรอยตีนคำนวณได้ว่าไดโนเสาร์กลุ่มนี้มีความสูงถึงสะโพกระหว่าง 53 - 73 cm มีความเร็วในการเดินอยู่ระหว่าง 1 - 1.2 km/h นอกจากนี้ยังพบเส้นทางเดินของคาร์โนซอ และสัตว์เลื่อยคลานด้วย

น้องภูเป้งกำลังจัดกรอบ เพื่อให้พี่ๆ ลุง ป้า น้า อา เห็นรอยตีนไดโนเสาร์ได้ชัดๆ

และถ้าเดินเข้าไปในป่าข้างๆ ลานรอยตีน จะเจอหินทรายสีขาวโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน เรียกกันว่า "หินหัวใจไดโนเสาร์" เพราะถ้ามองจากด้านบนจะเห็นเป็นรูปหัวใจ love



เป็นหินทรายที่หลงเหลือจากการผุพัง จากลักษณะของชั้นเฉลียงระดับ (cross bedding) แสดงให้เห็นว่าหินทรายนี้ตกสะสมตัวใต้แม่น้ำที่ไหลไปทางทิศตะวันตก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่