Geotrip ท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาภาคอีสาน Ep.1

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ชาวพันทิปที่สนใจธรณีวิทยาทุกท่าน
เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 - 18 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา จขกท. ได้ร่วมเดินทางท่องเที่ยว Geotrip ที่จัดขึ้นโดยสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ภายใต้การนำทริปของพี่กนก อินทรวิจิตร (นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย) จึงอยากมาบอกเล่าความสนุก ความประทับ และความรู้ที่ได้รับกลับมาไว้ในกระทู้นี้ค่ะ
(ใครสนใจอยากร่วมทริปในครั้งต่อๆ ไป สามารถเข้าไปติดตามได้ในเพจสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยค่ะ https://www.facebook.com/gst.or.th)

ทริปนี้เป็นทริปแรกที่ทางสมาคมจัดขึ้น และเปิดรับลูกทัวร์ที่เป็นบุคคลทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นนักธรณีวิทยา หรือมีความเกี่ยวข้องกับงานทางธรณีวิทยาใดๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางธรณีวิทยา ผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการทางธรณีวิทยาควบคู่ไปกับความรู้ทางด้านศิลปะวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ที่ให้คนทั่วไปที่มีความสนใจมีโอกาสได้ท่องเที่ยวและได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ

ทริปนี้ได้รับความกรุณาจาก
1. อาจารย์นเรศ สัตยรักษ์
2. อาจารย์เลิศสิน รักษาสกุลวงษ์
3. อาจารย์ไวยพจน์ วรกนก
นักธรณีวิทยาระดับตำนาน มาเป็นวิทยากรหลักให้ความรู้กับผู้ร่วมทริปในครั้ง ความรู้ฉ่ำมากกกก

นอกจากอาจารญ์ทั้ง 3 ท่านแล้ว ยังมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ประจำจุดศึกษาทุกจุดที่ไป เป็นทริปที่คุ้มมากจริงๆ 
(ต้องขอกราบขอบพระคุณวิทยากรทุกท่านมาในที่นี้ด้วยค่ะ //\\)

มาเริ่มต้น ทริปอีสานออนซอนเด้ "มุ่งอีสาน จากร้อยล้านปีถึงปัจจุบัน" กันเลยค่ะ
วันแรกของการเดินทาง
วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2568 เราไป 2 จุดศึกษา คือ
จุดศึกษาที่ 1 อนุสาวรีย์ช่างขุดเจาะน้ำบาดาล บ้านมะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

เมื่อปี พ.ศ.2505 ในโครงการเจาะสำรวจน้ำบาดาลระดับลึก กรมทรัพยากรธรณีได้เจาะสำรวจตรงบริเวณนี้ โดยเจาะลงบนหมวดหินโคกกรวด (KK fm) ลึกลงไปจากผิวโลกประมาณ 600 เมตร แล้วพบน้ำบาดาลพุในชั้นหินทรายของหมวดหินภูพาน (PP fm) พุ่งขึ้นมาสูงถึง 20 เมตร (สูงมากกกก เรียกน้ำบาดาลพุลักษณะนี้ว่า "Geyser") แต่ในปัจจุบันไม่มีการพุของน้ำบาดาลแล้ว เนื่องจากภูมิอากาศแห้งแล้งขึ้น ต้นไม้น้อยลง ทำให้พื้นที่รับน้ำ (rechange area) ลดลงด้วย จึงมีการเติมน้ำลงในชั้นหินน้อยมาก สุดท้ายน้ำบาดาลบริเวณนี้จึงต่ำกว่าระดับน้ำใต้ดิน (water table) 

ความสำคัญของอนุสาวรีย์นี้คือ เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตไปในการปฏิบัติหน้าที่

หินที่อยู่บริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์เป็นหินกรวดมนกระเปาะปูน (Lime nodule conglomerate) ซึ่งหินชนิดนี้บ่งบอกว่าในช่วงเวลานั้น พื้นที่บริเวณนี้มีสภาพอากาศแบบร้อนและแห้งแล้งมาก่อน

บริเวณนี้เคยถูกทำให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หลังจากที่น้ำบาดาลพุหยุดพุขึ้นมา แต่ปัจจุบันก็เป็นอย่างที่เห็น เราเลยเดินลงไปดูหินโผล่ได้สบายๆ

จุดศึกษาที่ 2 พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน จ.นครราชสีมา
โดยส่วนตัวเป็นคนชอบเดินพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว แต่การไปเดินพิพิธภัณฑ์ในทริปนี้มันพิเศษมาก เพราะ อ.ประเทือง จินตสกุล ผอ.อุทยานธรณีโคราช ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ อินไซด์สุดๆ

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2537 เป็นพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของโลก
ปัจจุบันมีการจัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน แบ่งเป็น ไม้กลายเป็นอัญมณี (มีที่เดียวในไทย), ไม้กลายเป็นหินในวงศ์ปาล์ม, ไม้กลายเป็นหินหลากอายุ ตั้งแต่ 140 ล้านปี (ครีเทเชียสตอนต้น) ถึง 800,000 ปี (สมัยไพลส์โตซีนตอนต้น) (พบเป็นไม้เต็งรัง มะค่าโมง)
2. พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์
3. พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ 


เรามาเริ่มที่ส่วนของพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินกันก่อน
ไม้กลายเป็นหิน (petrified wood) เกิดจากการที่ท่อนไม้ถูกฝังกลบอยู่ใต้ดินในสภาพขาดออกซิเจน ทำให้เนื้อไม้เน่าเปื่อย/ย่อยสลายช้า และถูกฝังแช่อยู่ในสารละลายซิลิกาที่มีความเข้มข้นสูงพอ ทำให้สารละลายซิลิกาตกผลึกสะสมตัวแทนที่โมเลกุลของเนื้อไม้ จนทำให้เนื้อไม้เปลี่ยนไปเป็นเนื้อหินซิลิกา แต่ยังคงรักษาโครงสร้างเนื้อไม้เดิมไว้ได้

หากความเข้มข้นของสารละลายซิลิกาและอุณหภูมิไม่สูงมาก เราจะเห็นท่อลำเลียงของไม้ค่อนข้างชัดเจน เนื้อจะยังไม่เป็นอัญมณี (ดังภาพด้านล่าง)

แต่ถ้าหากความเข้มข้นของสารละลายและอุณหภูมิสูงมากๆ ไม้กลายเป็นหินจะมีเนื้อเป็นอัญมณี เช่น 
- ไม้กลายเป็นหินเนื้ออาเกต (agate)

- ไม้กลายเป็นหินเนื้อคาร์นีเลียนหรือประภาส้มชื่น

- ไม้กลายเป็นหินเนื้อแจสเปอร์

- ไม้กลายเป็นหินเนื้อคาซิโดนี

- ไม้กลายเป็นหินเนื้อควอตซ์หรือเขี้ยวหนุมาน

ไม้กลายเป็นหินโอปอลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยถูกค้นพบในตำบลสุรนารี

ในพิพิธภัณฑ์มีไม้กลายเป็นหินจัดแสดงหลากหลาย มากมายดูไม่เบื่อเลยค่ะ

ส่วนถัดไปจะเป็นพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ ในไทยพบซากดึกดำบรรพ์ช้างถึง 8 สกุล อายุตั้งแต่ 16 ล้านปี ถึงปัจจุบัน


ส่วนสุดท้าย คือ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ซึ่งมีการจัดแสดงแบบจำลองของไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่างๆ ที่ถูกค้นพบในไทย
ไดโนเสาร์พันธุ์ไทย ที่ถูกค้นพบเจอครั้งแรกใน จ. นครราชสีมา ได้แก่
สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami)
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%99
ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae)
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA
สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis)
https://en.wikipedia.org/wiki/Sirindhorna
สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamraptor suwati)
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C




แค่วันแรกก็หมดแรงเลย จริงๆ พิพิธภัณฑ์มีอะไรให้ดูเยอะมากค่ะ ส่วนตัวคิดว่าจะไปซ้ำแน่นอน

ของวันถัดไปจะไปต่อเป็น Ep.2 นะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่