หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อาหาเรปฏิกูลสัญญา ตอนที่ 3.2

ต่อจาก หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อาหาเรปฏิกูลสัญญา ตอนที่ 3.1 https://ppantip.com/topic/43223754

อาหาเรปฏิกูลสัญญา ตอนที่ 3.2
 
ทีนี้เวลาที่อยู่ในห้องเรียน ครูให้การศึกษาเราต้องใช้สมองจำ เวลาเข้าโรงเรียน เวลาโรงเรียนจะปล่อยพักแล้วไปถึงเวลาจะเข้า บางคราวเรายังไม่ค่อยสบายใจยังไม่หายเพลีย สมองยังไม่หายมึน ครูก็มาสอนวิชาอื่นต่อ อันนี้มันก็เป็นการฝืนอารมณ์ อาการอย่างนี้มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ เวลาเรียน ๆ ไปก็ต้องดู ว่าไอ้การศึกษาวิชาความรู้ที่เราจะเรียน มันทันชาวบ้านชาวเมืองเขาไหม ถ้าหากมันไม่ทัน มันก็ต้องกวดขัน เวลานี้มีการเรียนพิเศษ เรียนกลางวันยังไม่พอ ต้องเดินต่อไปเรียนกลางคืน

นี่เป็นอันว่ากว่าจะมีความรู้เข้ามาได้ มันต้องใช้ความลำบาก ไอ้ความลำบาก การฝืนกายฝืนใจนี่เป็นอาการของความทุกข์ อันนี้พูดให้ฟังย่อ ๆ นะ พูดเรื่องทุกข์ พูด 300 ปีก็ไม่จบ

เมื่อเวลาเรียนจบจะเข้ามาหาเงินเดือนกิน ต้องไปสอบแข่งขัน การสอบแข่งขันเดินไปเพื่อสมัคร มันสุขหรือว่ามันทุกข์ ต้องเอาสตางค์ไปเสียค่าสมัคร เสียค่าประกัน มันสุขหรือว่ามันทุกข์ ไอ้เงินทองมันได้มาจากไหน มันได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของบิดามารดา ท่านพ่อท่านแม่มีทุกข์มาก ทีนี้มาถึงเรา เราเวลาจะสอบ แหม เขาต้องการคน 2 ตำแหน่ง แต่คนดันสมัครไป 2 พันคน คราวนี้ก็ต้องแข่งขันกันใช้กำลังปัญญา วิชาความรู้มีเท่าไรต้องกวดขันกลับมาทวนกันใหม่ นี่มันก็เป็นอาการของความทุกข์

เวลาที่จะเข้าไปรับราชการ ทำงานรับจ้างในด้านหนังสือ มันก็ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการงานที่เขาให้เรามา ไปตามเวลามาตามเวลา ดีไม่ดีงานมันมาก แบกกลับมาทำที่บ้านอีก และการไปทำงานมันก็ไม่ได้มีความสุข บางคราวเจ้านายท่านใจดีมันก็ดี บางทีมันพลาดพลั้งไปบ้าง เป็นกฎรรมดาของคนที่มีกิเลส อ้าว เขาด่า เขาว่า เขาตำหนิ ไอ้งานก็หนักขึ้นมาแล้วก็กลุ้มใจอีก ดีไม่ดีถ้าเรามีหน้าที่มีฐานะสูงนิดหนึ่ง มีคนใต้บังคับบัญชา เราทำดี แต่ว่าคนใต้บังคับบัญชากลับบิดเบือน ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เราก็เป็นผู้รับผิดชอบ โดนด่าโดนว่า งานก็หนัก กลุ้มเพราะจิตที่คิดว่าบุคคลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ดี ไอ้เราก็โดนผู้เหนือกว่าตำหนิมาอีก มันโดนเข้าหลาย ๆ ซ้ำ สุขหรือทุกข์

ทีนี้เราจะว่าถึงบุคคลที่ไม่ได้รับราชการ ไม่รับจ้างด้วยวิชาความรู้ นักทำนา ทำไร่ ค้าขาย คนค้าขายต้องใช้มันสมองมาก ซื้อ 5 สตางค์ ขาย 5 สตางค์ บรรลัยหมด คราวนี้เรื่องภาษีอากรเข้ามาทับถม คนที่อยู่กินด้วยกันก็หลายคน ภาระอย่างอื่นก็มีมาก ดีไม่ดีถูกแป๊ะเจี๊ยะถูกเก๋าเจี๊ยะเข้ามารีดมาไถ ก่อนที่จะตั้งร้านค้าได้ ต้องเสียเก๋าเจี๊ยะ เสียแป๊ะเจี๊ยะอะไร เสียเงินกินเปล่า อาการทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมด มันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ ที่เราจะต้องหาเงินไปทำ ไปซื้อห้องขายห้อง การซื้อของมา เราซื้อมาก็มาแย่งกันซื้อแย่งกันขาย

เมื่อปี 2504 มีนักเรียนสตรีคนหนึ่ง บิดามารดาของเธอเป็นคนค้าขายผ้า ผ้าผืนหนึ่งขาย 20 บาท 30 บาท แต่เธอบอกว่าการค้านี่มันต้องแย่งกันขาย บางทีผืนหนึ่งได้กำไรเพียง 25 สตางค์ ก็ต้องขาย เวลาไปขายของก็ต้องนั่งแกร่ว คอยคนเขาจะมาซื้อ จิตก็นั่งนึกว่าวันนี้จะมีกำไรเท่าไหร่ จะพอกินหรือไม่พอกิน คนในครอบครัวเรามีกี่คน กินวันละเท่าไหร่ และถ้าอาการป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น มีภารกิจอย่างอื่นเกิดขึ้น ดีไม่ดีมีนักไถนักรีดมารีดมาไถอีก มันก็เกิดความหนักใจ ต้องเตรียมพร้อมเข้าไว้ เป็นอันว่า การจะได้เงินมาเพื่ออาหารจากการค้าขาย มันก็มาจากความทุกข์

ถ้าชาวนา ชาวไร่ นี่องค์สมเด็จพระจอมไตรเคยตรัสว่า ข้าวคำหนึ่งนี่มันมาจากความทุกข์ เมื่อสมัยผมศึกษา เคยได้รับคำแนะนะนำจากท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านบอกว่าการพิจารณาหาความทุกข์ ใช้มองดูอาหารเป็นสำคัญ ว่าข้าวที่เรากินเข้าไปหนึ่งคำนี่ เอาเฉพาะข้าวอย่างเดียวยังไม่ถึงกับข้าว ท่านถามว่ามันมาจากความสุขหรือว่าความทุกข์ และท่านก็บอกว่าเธอจงพิจารณาตามถ้อยคำตามที่ฉันพูด ท่านตรัสช้า ๆ ว่า คำข้าวหนึ่งคำ ข้าวสุกนี่มันมาจากข้าวสาร ก่อนที่มันจะสุกก็ต้องใช้อะไรบ้าง มีงานอะไรบ้าง ข้าวสารมันจึงจะสุก

ท่านก็ตรัสต่อไป ท่านก็บอกว่า ก่อนที่มันจะสุก เราก็ต้องหาเตา หาเชื้อเพลิง หาหม้อ หาน้ำ หาข้าวสารมาใส่ แล้วก็นั่งควบคุมเตาว่า เมื่อไหร่ข้าวจะสุกตามวิธีกรรม ท่านถามว่าการหาอย่างนี้อาการทำอย่างนี้ มันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ เพราะว่าเราต้องใช้แรงงาน แทนที่เราจะนอนเฉย ๆ หิวก็นึกให้มันอิ่มขึ้นมา หรือมิฉะนั้นก็อิ่มมันเสียเลยไม่หิว ตัวหิวนี่มันก็ตัวทุกข์ ก็ต้องทูลท่านว่า อันนี้ก็เป็ฆนความทุกข์

ท่านตรัสถามต่อไปว่า ข้าวสารมาจากอะไร ก็ต้องตอบว่ามาจากข้าวเปลือก ท่านถามต่อไปว่า ข้าวเปลือกก่อนที่จะเป็นข้าวสารนี่เขาทำยังไง สมัยก่อนเขาต้องซ้อมต้องตำ เวลานี้เราก็ต้องแบกข้าวไปที่โรงสี ท่านถามว่า อาการของความสุขหรือความทุกข์ ท่านก็ถามต่อไปอีกว่า ข้าวที่มันจะเกิดเป็นข้าวมีเมล็ดขึ้นมาเขาทำยังไง ก็กราบเรียนบอกว่า ต้องโน่น ไปทำนา ไปไถนา ไปหว่านข้าว ไปคราด ไปดายหญ้า แล้วก็คอยปรนนิบัติดูว่าข้าวมันจะงามหรือไม่งาม มันมีรวงหรือไม่มีรวง เสร็จแล้วก็เกี่ยว เกี่ยวแล้วก็มาเข้ายุ้งเข้าฉาง

ท่านถามว่า คนที่ทำไร่ทำนา ไปตากแดดตากฝน ฝนตกหนาวก็ต้องทน แดดร้อนก็ต้องทน อากาศหนาวก็ต้องทน ไม่ทนทำไม่ได้ เพราะมันไม่มีข้าวจะกิน ในการบังคับบัญชาควายหรือวัวที่ลากคันไถ เราต้องใช้กำลังกายทำทุกอย่าง ยามปกติเราต้องการพักผ่อนมากกว่าการทำงาน แต่ว่างานประเภทนั้น ถ้าเราไม่ทำไม่มีกิน อาการอย่างนี้เป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ ก็ต้องตอบท่านว่ามีความทุกข์

แล้วเมื่อต้นข้าวเกิดขึ้น เราก็ต้องระมัดระวังว่าศัตรูของพืชมันจะมีบ้างไหม ศัตรูของพืชมันเกิดขึ้นมา เราจะทำยังไงจึงจะขับไล่มันไปได้ แทนที่เราเมื่อหว่านต้นข้าว ข้าวขึ้นแล้วจะนอนสบาย กลับต้องไประมัดระวังรักษา ไม่ได้พักไม่ได้ผ่อน ไม่ได้นอนตามความตั้งใจ อย่างนี้เป็นอาการของความสุขหรือว่าความทุกข์ ก็ต้องกราบเรียนท่านว่าเป็นความทุกข์

เมื่อข้าวสุกแล้ว เป็นรวงแล้ว เราไปเกี่ยว ต้องก้มหลัง โค้งหลัง ปวดหลัง ปวดเอว แบกข้าวมีความคัน อาการอย่างนี้เป็นความสุขหรือความทุกข์ ก็กราบเรียนท่านว่าเป็นความทุกข์

เมื่อนำข้าวมาเข้าลานแล้ว ต้องนวด ต้องไล่แกลบ ต้องไล่ซังออก แบกเข้าที่เก็บ มีทั้งคันและเหนื่อย อย่างนี้เป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ เราก็ต้องกราบเรียนว่าเป็นความทุกข์

และท่านก็ถามถึงพื้นที่นาว่า จะได้มามันได้มาแบบไหน ก็กราบเรียนว่าถ้ามีเงินซื้อเราก็ชื้อ ไม่มีเงินซื้อเราก็ฟันป่า ท่านก็ถามว่าเงินที่จะไปซื้อนานี่ เราต้องหามาด้วยกำลังกายใช่ไหม กำลังปัญญา ก็ต้องตอบว่าใช่ การหาเงินมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็ต้องตอบท่านว่าเป็นทุกข์

การที่มีนาแล้ว ก่อนจะไถนาลงไป เราต้องหาควาย ควายไม่มี หาเงินไปซื้อควาย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็ต้องเป็นทุกข์ เอาเงินไปจับจ่ายหาไถหาคราด มันต้องเหน็ดเหนื่อย เพราะการหาเงินหรือเปล่า ก็บอกว่าใช่

ท่านถอยหลังเข้าไปว่า ถ้าหากสมมุติว่าเราไม่มีเงินซื้อนา ถ้ามันเป็นป่าเราต้องตัดต้นไม้ โค่นต้นไม้ลงมาแต่ละต้น มันเหนื่อยหรือไม่เหนื่อย ก็ต้องตอบว่าเหนื่อย โค่นมาแล้วฟันเป็นท่อนเป็นตอน ต้องขุดตอ ปรับพื้นที่ อาการอย่างนี้มันเหนื่อยไหม ก็ต้องตอบว่าเหนื่อย ท่านถามว่า เหนื่อยแล้วมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็ต้องกราบเรียนว่าเป็นทุกข์

จึงได้ตรัสว่า แม้แต่คำ ข้าวคำเดียว ที่เรากินเข้าไปในปาก มันมาจากความทุกข์ มาจากความเหน็ดเหนื่อยอย่างนี้ เธอจงใช้ปัญญาว่า ของทุกอย่างที่เราจะมีขึ้น ตามความจำเป็นของชาวโลกที่ต้องใช้ เป็นผ้านุ่งผ้าห่มก็ดี บ้านช่องเรือนโรงก็ดี ของใช้ก็ดี ยารักษาโรคก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดได้มาจากแรงงานที่เราต้องเสี่ยงกับความทุกข์ ต้องได้มาด้วยอำนาจของความทุกข์ และก็เสี่ยงกับอันตราย เพราะว่าการไปทำไร่ไถนาก็ดี การไปรับราชการเพื่อค่าจ้างก็ดี การทำทุกอย่างเพื่อได้มาเพื่อทรัพย์สิน มันต้องเสี่ยงชีวิต ดีไม่ดีเราอาจจะถูกงูกัดตาย หรือว่าถูกคนทำร้ายหรือเกิดอุบัติเหตุ นี่ต้องใช้ชีวิตเข้าเสี่ยง เหนื่อยยังไม่พอ ยังต้องเสี่ยงชีวิต แล้วทรมานกับอาการที่เราไม่ต้องการ อย่างเราเหนื่อยเมื่อยล้า ต้องการจะหยุด แต่งานยังไม่เสร็จ มันหยุดไม่ได้ ก็ต้องทนจำใจจำทำ ต้องทรมานร่างกายทำไปจนกว่าจะเสร็จ มิฉะนั้นผลมันจะไม่เกิด

ท่านให้พิจารณาหาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้มาในโลก มันได้มาจากความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดคืออาหาร ที่เราจะกินเข้าไปทุกวันนี่ เรากินทุกข์

เอาล่ะบรรดาท่านพุทธบริษัท เรื่องสำหรับทุกข์ในอริยสัจนี่ให้ผมพูด 300 ปีนี่ไม่จบหรอก ไม่จบเพราะอะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นทุกข์ ขอแนะนำเพียงแค่เป็นหัวข้อพอท่านใช้ปัญญา ถ้าพูดกันเท่านี้ยังไม่เข้าใจล่ะก็ ไม่ต้องไปหวังมันล่ะ ไอ้สวรรค์นี่หรือพรหมโลกน่ะ ตั้งอกตั้งใจลงนรกตามอัธยาศัยก็แล้วกัน เอาล่ะสำหรับวันนี้เวลาแห่งการสอนก็หมดลงแล้ว ก็ต้องขอยุติแต่เพียงเท่านี้

ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อยู่ในอิริยาบถที่ท่านเห็นว่าสมควรที่ท่านจะสบาย แล้วรักษากำลังกายกำลังใจ พิจารณาภาวนาตามอัธยาศัยจนกว่าจะเห็นว่าเวลานั้นสมควรจะเลิก สวัสดี

ลิงค์ทั้งหมด https://ppantip.com/profile/8483559#topics

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่