จักระ คืออะไร เชื่อมโยงการทำงานของร่างกายอย่างไร 1

จักระคืออะไร
     จักระทั้ง 7 เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างขุมพลังในห้วงจักรวาล เป็นเสมือนกุญแจเปิดประตูทางผ่านระหว่างพลังเหล่านั้น การฝึกปราณจักระ ที่จะกล่าวถึงนี้ จะเชื่อมโยงกับมุทราให้เป็นท่าร่างร่วมกับการฝึก ด้วย “มุทรา” (Mudra) แปลว่า ตราประทับ หรือสัญลักษณ์ กล่าวคือ ท่ามือที่ใช้เพื่อกระตุ้นสภาวะจิต เป็นวิถีเก่าแก่ของศาสตร์อินเดียโบราณ มีจำแนกออกไปอีกหลายสายจากพื้นฐานความคิดเดียวกัน แต่อาจจะเกิดการนิยามความหมายใหม่ก็เป็นไปได้
(วิดิโอประกอบบทความ)
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
     เรามาทำความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับระบบของจักระกันบ้าง โดยจุดจักระทั้ง 7 เหล่านี้ จะหมุนวนเป็นศูนย์ควบคุมในตำแหน่งที่สำคัญต่อระบบร่างกาย ไล่ไปตามลำดับของระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) ทอดผ่านแนวเดียวกับกระดูกสันหลัง และทำงานร่วมกันระหว่างสมองกับไขสันหลัง อันเป็นศูนย์ประมวลผลของร่างกาย โดยที่สมองทำหน้าที่ควบคุมการทำงานส่วนใหญ่ ได้แก่ การรับรู้, การเคลื่อนไหว, การคิด, การพูด และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ส่วนไขสันหลังเป็นส่วนขยายของสมอง ประกอบด้วยเซลล์ประสาทหลายล้านเซลล์ และทำหน้าที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าจากก้านสมองไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย รวมถึงการส่งข้อมูลจากประสาทสัมผัสทั่วร่างกายกลับไปที่สมองอีกด้วย ดังนั้น แนวคิดพลังจักระวาลจะเหมือนกับการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง นั่นก็คือ รับพลังจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในห้วงจักรวาลผ่านกลางศีรษะ ส่งผ่านพลังไปสู่จุดสำคัญทั้ง 6 จุด และส่งพลังกลับคืนไปสู่ศีรษะ แผ่กลับคืนไปสู่จักรวาล ข้อสังเกตก็คือ จักระทั้ง 7 เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างขุมพลังในห้วงจักรวาล เป็นเสมือนกุญแจเปิดประตูทางผ่านระหว่างพลังเหล่านั้น

จักระทั้ง7ประกอบไปด้วย
จักระ 1 มูลธาร (Muladhara)

เรียกว่าจักระราก หรือ Root Chakra สัญลักษณ์แทนคือดอกบัว 4 กลีบ สีแดง ตำแหน่งอยู่ตรงกลางฝีเย็บระหว่างอวัยวะเพศและทวารหนัก เป็นขุมพลังของแต่ละชีวิต ทำหน้าที่ดูดซับพลังงานจากงูไฟ หรือกุณฑาลินี ที่ผุดขึ้นมาจากใจกลางโลกและแผ่ขึ้นมาบนผืนดินบริเวณที่มีความร้อนเช่น ภูเขาไฟ น้ำพุร้อน หรือผ่านต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาก็เป็นได้ กล่าวกันว่า เวลาที่เรามีเรี่ยวแรงทำอะไรอย่างมหาศาล เช่น ตกใจบ้านไฟไหม้แล้วยกตู้เย็นคนเดียวได้ หรือ วิ่งหนีอะไรสักอย่างได้เป็น 10 กิโล เพราะคิดว่าเห็นผี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพลังกระตุ้นจากมูลธารจักระทั้งสิ้น จักระนี้ดูแลโครงสร้างกระดูกของร่างกาย, เส้นผม, เล็บมือ, เล็บเท้า, เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ เป็นรากฐานพลังงานของอวัยวะทั้งหมด 

ในความเชื่อมโยงของมุทราตะวันออก จักระ 1 อยู่ที่บริเวณข้อมือ (ภาพตัวอย่าง อนันตมุทรา Ananta Mudra) เสมือนว่าข้อมือคือฐานรากของจักระที่เหลือ เป็นขุมพลังที่จะส่งพลังไปใช้ในยามที่ร่างกาย หรือจิตของผู้ฝึกต้องการใช้มัน หากควบคุมพลังส่วนของจักระที่ 1 ได้ ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายของการฝึกได้รวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังเน้นย้ำเหมือนเดิมว่า หากใครคิดจะฝึกเพื่อไปรักษาผู้คน หากเป็นการบำบัดทางจิตใจ เพิ่มพลังใจ แบบนั้นแนะนำให้ทำ แต่ถ้ารักษาโรคชนิดอื่น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เท่านั้น 

จักระที่ 2 สวาธิษฐาน (Swadhisthana)
 เรียกว่า จักระศักดิ์สิทธิ์ หรือ Sacral Chakra สัญลักษณ์คือดอกบัว 6 กลีบ สีส้ม อยู่ตำแหน่งใต้สะดือเหนืออวัยวะเพศตัดไปถึงปลายสุดก้นกบ เป็นศูนย์กลางของอารมณ์ ความทะยานอยาก ความต้องการที่ไม่ผ่านการขัดเกลา ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ มดลูก รังไข่ ช่องคลอด อัณฑะ ท่อปัสสาวะ อวัยวะเพศ ทวารหนัก ทวารเบา (ปัสสาวะ)

ในความเชื่อมโยงของมุทราตะวันออก จักระ 2 อยู่ที่ปลายนิ้วโป้ง ตรงนี้พอให้เราจับจุดได้แล้วนะครับว่า การผสานมือขวาทับมือซ้าย นิ้วโป้งจรดกันตามแบบสมาธิพื้นฐานที่เราคุ้นเคยก็มีแนวคิดมาจากมุทราสูตรนี้ เรียกว่าธยานมุทรา Dhyana Mudra เชื่อกันว่าจะช่วยให้มีกำลังในการเผชิญและเอาชนะอุปสรรคได้ เป็นท่าร่างการฝึกสมาธิเพื่อค้นพบเส้นทางแห่งจิตวิญญาณในแง่ของการฝึกปราณ นิ้วโป้งคือรากฐานของการแสวงหาความรู้ และเป็นการควบคุมสภาวะร่างกายให้นั่งสมาธิได้นานยิ่งขึ้น หากขุมพลังคือจักระ 1 แล้ว จักระที่ 2 ก็จะทำหน้าที่ในการดึงเอาพลังเหล่านั้นมาใช้ เป็นความต้องการกระทำหรือต้องการใช้งานในพลังดังกล่าวด้วยตัวผู้ฝึกเอง หรือเป็นการกรอกข้อมูลความต้องการ แรงผลักดัน สิ่งเร้าที่เกิดขึ้นลงไปที่จักระ 2 แล้วจักระ 1 ทำงานตอบสนองอัตโนมัติก็ว่าได้

จักระที่ 3 มณีปุระ (Manipura)
  เรียกว่า จักระแสงอาทิตย์ หรือ Solar Plexus Chakra สัญลักษณ์คือดอกบัว 10 กลีบ สีเหลือง ตำแหน่งบริเวณบั้นเอว ตรงกับแนวสะดือ ดูดซับพลังงานจากดวงอาทิตย์ และกระจายพลังที่ได้รับออกไปยังอวัยวะต่าง ๆ เป็นขุมพลังการเผาผลาญพลังงานและเป็นจุดศูนย์กลางของร่างกาย ควบคุมการทำงานของ ท้อง ตับ ไต ม้าม ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบการย่อยอาหารและการขับถ่าย รวมถึงระบบเผาผลาญพลังงานไปสู่ร่างกายอีกด้วย 

ในความเชื่อมโยงของมุทรา จักระ 3 อยู่ที่ปลายนิ้วกลาง หมายถึง การบำบัดรักษา ความอุดมสมบูรณ์ การโปรดสัตว์ และความเจริญในโภคทรัพย์สมบัติ มุ่งเน้นไป ที่การฝึกเพื่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย ท่านี้จะตรงกับชูนิมุทรา Shuni Mudra บางตำราก็เรียกอากาศมุทรา Akasha Mudra ถ้าเปรียบจักระรากเป็นขุมพลังที่ยิ่งใหญ่ภายในกายมนุษย์ และจักระศักดิ์สิทธิ์เป็นความต้องการที่จะดึงเอาพลังงานเหล่านั้นมาใช้ ดังนั้นจักระแสงอาทิตย์ก็เปรียบเสมือนเครื่องจักรเติมพลังงาน เมื่อการย่อยอาหารและสารอาหารที่ได้จะถูกลำเลียงจากลำไส้เล็กไปสู่หลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง เพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย แน่นอนว่า หากระบบเผาผลาญดี ก็จะเสริมสร้างให้จักระรากแข็งแรงตามไปด้วย จักระแสงอาทิตย์เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบขับเคลื่อนให้ร่างกายมีชีวิตไม่ต่างจากลมหายใจเลยทีเดียว ระบบเมตาบอลิซึม (Metabolism) ซึ่งก็คือปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของร่างกาย เพื่อเปลี่ยนอากาศให้เป็นพลังงาน Adenosine Triphosphate (ATP) และพลังงานเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อการหายใจ, ใช้ในระบบหมุนเวียนโลหิต, การย่อยอาหาร, การซ่อมแซมและสร้างเซลล์ใหม่, ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนและอุณภูมิของร่างกาย เป็นต้น อีกทั้งระบบเผาผลาญเมตาบอลิซึมยังทำงานตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย พลังงาน ATP ที่ถูกเก็บสะสมในกล้ามเนื้อแต่ไม่มากนัก หากร่างกายมีการเรียกใช้ก็จะหมดไปและเซลล์จะต้องสร้าง ATP ใหม่ทดแทน

จักระที่ 4 อนาหตะ (Anahata)
  เรียกว่า จักระหัวใจ หรือ Heart Chakra สัญลักษณ์คือดอกบัว 12 กลีบ สีเขียว อยู่ตำแหน่งกลางกระดูกสันหลังแนวเดียวกับหัวใจตัดผ่านมากลางหน้าอก เป็นขุมพลังแห่งความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความรู้สึกปลอดภัย การให้อภัย ควบคุมการทำงานของหัวใจ ส่วนหนึ่งของการหายใจ มีคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับความรัก ความร่าเริง ความสุข

ในความเชื่อมโยงของมุทรา จักระ ๔ อยู่ที่ปลายนิ้วก้อย ดังนั้น การจรดนิ้วโป้งกับนิ้วก้อยในลักษณะนี้ หมายถึง การสื่อสารบนพื้นโลกทุกชนิด เช่น จิตวิญญาณ พลังงานรอบตัว สัตว์ ต้นไม้ หรือมนุษย์ทั่วไปก็ตาม ท่วงท่ามุทรานี้ก็คือ “วรุณมุทรา” ตามที่ได้แสดงไปแล้วในจักระ 2 จักระหัวใจจะเชื่อมโยงกับระบบการทำงานดังที่อธิบายไปแล้วเกี่ยวกับระบบหายใจ ที่จะต้องมีการสูบฉีดเลือดดีไปเลี้ยงเซลล์อวัยวะ และส่งผ่านเลือดที่พร่องออกซิเจนกลับไปสู่ปอด หัวใจเปรียบเสมือนธนาคารเลือดภายในร่างกาย มีหน้าที่ในการเปลี่ยนถ่ายแก๊สผ่านหลอดเลือด สูบฉีดไปหล่อเลี้ยงทั่วทุกอวัยวะ อนาหตะจักระหัวใจ จึงมีหน้าที่ดึงพลังงานในจักรวาลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ สร้างความรัก ความเมตตา เป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคี รวมถึงระบบไหลเวียนโลหิตที่ดีขึ้น

     สำหรับบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับจักระถึงจักระที่4นะครับ บทความหน้าเราจะมาทำความรู้กันต่อตั้งแต่จักระที่5ถึงจักระที่7กันเลยครับ

😊คิดเห็นอย่างไรเข้ามาคอมเมนต์กันได้ครับ 😊

อ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือ
 "ปราณวิถี" สูตรลมหายใจบริหารกายจิต
👇👇👇👇

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่