ธาตุรู้ จากหนังสือ "สมาธิหมุน จิตวิวัฒน์เพื่อความพ้นทุกข์" เรียบเรียงโดย คุณเกียรติศักดิ์ แสงสุวรรณ

ธาตุรู้ - ฌาน

ที่มา: หนังสือ "สมาธิหมุน จิตวิวัฒน์เพื่อความพ้นทุกข์" เรียบเรียงโดย คุณเกียรติศักดิ์ แสงสุวรรณ
"คนส่วนมากก็เข้าใจกันว่า จิตกับใจคืออันเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนละส่วน ที่เราว่าเป็นอันเดียวกันเพราะเรากดจิตให้อยู่กับใจนานๆ"
"ศัตรูที่สำคัญที่กั้นจิตไม่ให้หลุดพ้นคือใจ"
จากหนังสือ "เราจะทำดวงตาให้เห็นธรรมได้อยางไร"

สมถะกรรมฐาน เป็นการฝึกจิตให้เกิดความสงบ เหตุผลหรือความจำเป็นที่เราต้องฝึกจิตให้เกิดความสงบก็คือ ความสงบนั้นเป็นเหตุให้จิตมีพลังเพิ่มขึ้น ยิ่งจิตมีความสงบมากพลังจิตก็เพิ่มมาก ยิ่งจิตมีความสงบมากเท่าใดพลังจิตก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น พลังจิตที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เราทราบถึงระดับพลังงานของจิตว่ามีกี่ระดับ และ เป็นเครื่องมือใช้ในการศึกษากระบวนการทำงานของจิต เพื่อให้เกิดความเข้าใจในระดับพลังและกระบวนการ แล้วนำความเข้าใจที่ได้ ไปฝึก ไปบริหารจิต เพื่อพัฒนาให้จิตมีปัญญา สามารถค้นหา และค้นพบว่า จิตจะต้องอยู่ที่ระดับพลังระดับไหน และโดยกระบวนการอย่างไร ถึงจะเป็นอิสระหลุดพ้นจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง

พลังจิตที่เพิ่มขึ้นจากความสงบนั้นเกิดจากการที่เราลดการใช้งานของจิตลง และรวมกำลังจิตให้รวมตัวอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง เพราะการใช้ชีวิตประจำวันตามธรรมดาของคนเรานั้น พลังจิตจะถูกใช้ไปกับการนึกคิด ร่วมไปกับความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นจิต ให้จิตมีหน้าที่ เมื่อจิตมีหน้าที่จึงทำงานใช้พลังจิตอยู่ตลอด พลังจิตจึงหมดไปเรื่อยๆ เมื่อใกล้หมดเราก็จะอ่อนเพลียอยากพักผ่อน ง่วงนอนแล้วก็หลับไป การนอนหลับเป็นการทำให้จิตเพิ่มกำลังขึ้นก็จริงเพราะมันเป็นธรรมชาติของจิตที่ต้องพักหลบเข้าภวังค์เพื่อทดแทนพลังทั้งหมดที่หมดไปในแต่ละวัน พลังที่เกิดขึ้นจากการนอนหลับมันจึงพอเพียงสำหรับที่เราจะใช้เพื่อทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันทั่วไปเท่านั้น ยังไม่พอที่จะนำไปใช้ศึกษาเรื่องของจิต การศึกษาเรื่องของจิตเป็นการศึกษาเรื่องที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน มีสถานะของพลังอยู่หลายระดับ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้พลังจิตมากกว่ากิจกรรมตามปกติทั่วไป และการเพิ่มพลังจิตที่เราหมายถึงคือการเพิ่มพลังในขณะที่จิตเรายังตื่นอยู่ โดยให้จิตมีหน้าที่เพียงอย่างเดียว นำจิตให้มารวมอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งจุดเดียว ไม่แส่ส่าย คิดนึกไปหลายเรื่องตามสิ่งที่มากระตุ้น เมื่อลดหรือหยุดใช้พลังได้ พลังมันก็ไม่เสียไปมันจึงจะสามารถสะสมเพิ่มพูนได้

วิธีทำให้จิตรวมตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งเพื่อเพิ่มพลังจิตนี้ ที่ผ่านมามีวิธีการฝึกมากมาย มีมาก่อนพระพุทธองค์จะตรัสรู้เสียอีก แม้พระพุทธองค์เองก่อนตรัสรู้ก็ต้องไปเรียนไปศึกษาจากสำนักต่างๆที่มีสอนกันในสมัยนั้น ที่เป็นวิธีใหม่ที่พระพุทธองค์นำมาสอนก็มี และบรรดาสาวกรุ่นหลังบัญญัติขึ้นมาก็มีอีก สามารถแบ่งได้เป็นสองลักษณะ คือ การเพ่งสิ่งภายนอกร่างกาย และ การเพ่งสิ่งภายในร่างกาย

ภายในร่างกายของคนเรานั้น มีสิ่งที่เรียกว่า ธาตุรู้ หรือ วิญญาณธาตุ แทรกซึมอยู่ทั่วร่างกาย ธาตุรู้นี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดมีสภาพรู้สิ่งต่าง ๆ ขึ้นโดยร่างกายของเรามีจุดศูนย์รวมของธาตุรู้ อันเป็นจุดที่มีธาตุรู้รวมตัวกันอยู่มาก มีอยู่ 7 ที่ด้วยกัน คือ

ที่ตา เรียกว่า จักขุวิญญาณ,
ที่หู เรียกว่า โสตวิญญาณ,
ที่จมูก เรียกว่า ฆานวิญญาณ,
ที่ลิ้น เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ,
ที่ผิวกาย เรียกว่า กายวิญญาณ และที่สมอง

ทั้งหมดนี้จัดเป็นธาตุรู้ภายนอก ส่วนที่หัวใจ หรือใจ เรียก มโนวิญญาณ จัดเป็นธาตุรู้ภายใน โดยใจจะเป็นศูนย์กลางของธาตุรู้ทั้งหมดอีกที เพราะธาตุรู้รวมตัวกันอยู่ที่ใจนี้มากที่สุด และธาตุรู้ภายนอกกับภายในนี้จะเกิดการเชื่อมโยงสภาพรู้กันอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อจุดประสาทถูกกระทบ ตาเห็นรูป ธาตุรู้ที่ตาถูกกระตุ้นด้วยแสง ธาตุรู้ที่ตาก็ทำงาน เกิดสภาพรู้ที่ตาขึ้น สภาพรู้ดังกล่าวจะเคลื่อนตัวไปเกิดสภาพรู้ที่ใจอีกทีจึงจะเกิดเป็นความรู้ตัวว่าเกิดการเห็นขึ้นอย่างสมบูรณ์ เมื่อรู้ผ่านใจแล้ว สภาพรู้จะวนกลับมาที่ตา รับรู้การกระทบ และวนไปรู้ที่ใจอีก หมุนวนเช่นนี้ เรื่อยไป แต่กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นเร็วมากเราจะไม่เห็นกระบวนการนี้จนกว่าจะได้ฝึกจิตในขั้นวิปัสสนากรรมฐาน

ธาตุรู้นี้หากจะกล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ เซลล์ประสาท แต่หากจะกล่าวให้เข้าใจอย่างละเอียดแล้วมันไม่ใช่เซลล์ประสาท คือธาตุรู้นี้จะอาศัยเซลล์ประสาทเป็นที่อยู่เป็นที่อาศัย จะอยู่ในส่วนที่เล็กที่สุดของเซลล์ (Cell) เชื่อมโยงต่อกันเป็นสายๆ ส่วนจิตนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ธาตุรู้ แต่มาอาศัยยึดเกาะและปรุงแต่งธาตุรู้อยู่ จิตที่เราหมายถึงในตอนนี้ก็คือ จิตที่เนื่องด้วยขันธ์ คือ ความรู้สึก ความนึก และความคิด

ดังนั้น เมื่อเรามาฝึกจิตให้เกิดความสงบไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม กล่าวโดยสรุปก็คือ

เป็นการพยายามรวมจิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับธาตุรู้ ที่อยู่ในร่างกายของเรา ณ จุดประสาทต่าง ๆ
เป็นการบังคับจิตให้อยู่กับธาตุรู้ให้รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเดียว ไม่แส่ส่ายรู้ออกไปหลายเรื่อง เมื่อกำหนดสภาพรู้ ให้รู้เรื่องเดียวไปเรื่อย ๆ เช่นนี้แล้ว จะเป็นการหยุดการปรุงแต่งธาตุรู้ของจิต สภาพเดิมของธาตุรู้ที่ไม่ถูกปรุงแต่งก็จะปรากฏออกมา
เป็นกระบวนการกลับเข้ามาหาผู้รู้ ที่ไปรู้สิ่งถูกรู้ การรู้สิ่งถูกรู้จะทำให้จิตเสียพลัง คือ เสียสภาพรู้ไปเรื่อย ๆ การทำจิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับธาตุรู้ จิตจะไม่เสียพลังของสภาพรู้และทำให้พลังเพิ่มพูนขึ้น
เป็นการปล่อยวาง คลายแรงยึดเกาะของจิตที่ไปยึดเกาะสิ่งถูกรู้ ซึ่งเป็นระดับพลังที่หยาบและต่ำกว่า เข้ามายึดระดับพลังที่ละเอียดและสูงกว่า ระดับพลังของธาตุรู้มีอยู่หลายระดับชั้น ในพุทธศาสนาเรียกระดับชั้นของพลังนี้สืบต่อกันมาว่า ฌาน
ภาวะของฌานทั้งสี่ระดับ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ยังไม่ใช่ภาวะที่พ้นจากทุกข์ แต่เป็นภาวะข่มทุกข์โดยใช้พลังจิตข่ม เมื่อจิตดำรงอยู่ในองค์ฌาน ทุกขเวทนาจะดับหมด แต่พอออกมาทุกข์ก็ยังคงอยู่ แม้ไม่ใช่ภาวะที่พ้นจากทุกข์แต่เราสามารถอาศัยภาวะของฌานเป็นเครื่องมือเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ซึ่งหากเราไม่รู้ไม่เข้าใจกระบวนการเพื่อให้พ้นทุกข์ ฌานนี้เองที่จะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เราถึงซึ่งความพ้นทุกข์

ความรู้เรื่องของฌานนี้ กล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการทางปัญญาของมนุษย์ทางโลกตะวันออกที่ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง ที่สามารถค้นพบระดับพลังงานอันละเอียดของธาตุรู้ ซึ่งเป็นผลจากความอยากรู้ของมนุษย์ ที่ถามตัวเองว่า อะไรคือที่สุดของทุกสิ่ง เที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง แบ่งแยกไม่ได้ และควรยึดถือเอาเป็นทางเดินของชีวิต

ในขณะที่การพัฒนาทางปัญญาที่ยอดเยี่ยมของมนุษย์ทางโลกตะวันตก ก็ถูกผลักดันด้วยคำถาม อะไรคือที่สุดของทุกสิ่งเช่นกัน และนำไปสู่การค้นพบ อะตอม ( Atom ) , โครงสร้างของอะตอม ( Atomic structure ) , ระดับพลังงานในอะตอม  ( Energy level ) และการให้พลังความร้อนและพลังแสงโดยมิได้ต่อเนื่องกันที่มีจังหวะละเอียดมากของอะตอม ที่เรียกว่า ควอนตัม ( Quantum ) อะตอมนั้นคือส่วนที่เล็กที่สุดอย่างหนึ่งของสสาร ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งต่างๆ ในเซลล์ประสาทก็เช่นกันมีอะตอมจำนวนมหาศาลที่เรียงร้อยถักถอเชื่อมโยงต่อกันเป็นเซลล์ประสาทขึ้นมา และธาตุรู้ วิญญาณธาตุก็สถิตย์อยู่ในอะตอมนี้

สมถะกรรมฐาน การฝึกจิตให้เกิดความสงบ ให้จิตรวมเป็นหนึ่งกับธาตุรู้ แท้จริงแล้วก็คือการศึกษาเรื่องอะตอมภายในตัวเราทุกคน ส่วนระดับชั้นของฌาน ก็คือระดับชั้นของพลังงานภายในอะตอม

ทุกสิ่งที่อยู่ในจักรวาลนี้ไม่ว่าจะมีโครงสร้างขนาดใหญ่หรือเล็ก ย่อมมีจุดศูนย์กลางที่เป็นแก่นหรือแกนกลางอยู่เสมอ และพยายามปรับตัวให้มีความสมดุลของรูปทรงและพลังงานที่สุด รูปทรงดังกล่าวก็คือ ทรงกลม อะตอมก็เช่นกัน เป็นทรงกลมของระดับชั้นของพลังที่อยู่ภายใน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่