หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 14.2

ต่อจาก หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 14.1 https://ppantip.com/topic/43149885

อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 14.2

ต่อมาเมื่อแต่งงานกันแล้วก็ทุกข์อีก เกรงว่าคนรักจะนอกใจ เกรงว่าจะไม่มีกินไม่มีใช้ ต้องประกอบการงานมากขึ้น เหน็ดเหนื่อยมากขึ้น มันก็ทุกข์ ต่อมาถ้ามีลูกมีเต้าขึ้นมา แล้วความสบายมันเกิดจากมีลูกตรงไหน กินก็ไม่สบาย นอนก็ไม่สบาย การเลี้ยงลูกมันง่ายนักรึ ต้องแบกภาระหนัก นี่มันก็เป็นอาการของความทุกข์ นี่การต้องการครองคู่จะมีประโยชน์อะไรสำหรับคนฉลาด มีคนโง่เท่านั้นที่ต้องการเป็นคนมีคู่ครอง เพราะว่าทุกข์ที่มันมีอยู่ ชาวบ้านเขาทุกข์ให้เห็น ทำไมเราจึงไม่คิด ไอ้ตัวไม่คิดนี่ มันตัวโง่ เราก็คิดตัดตัวความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส ว่ามันเป็นของไม่จีรังยั่งยืน เท่านี้เอง เอาปัญญาไปพิจารณาหาความเป็นจริง ให้มันบรรเทาความรักในเพศ ผมยังไม่ถือว่าตัด ตัดทั้งหมด มันตัดไม่มาก ตัตเบาๆ เห็นว่าการแต่งงาน การมีคู่ครองเป็นภัย รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เป็นภัยใหญ่สำหรับเรา เป็นปัจจัยของความทุกข์ ผมจะไม่อธิบายอะไรให้มาก ตอนนี้มันเป็นตอนสรุป ถ้าจิตคิดได้อย่างนี้แสดงว่าท่านเริ่มฉลาดแล้ว เริ่มฉลาดนะ ผมไม่ถือว่าฉลาดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เริ่มฉลาด

มาถึงตอน ความโลภ ความโลภโมโทสันในทรัพย์สิน อยากจะถามจริงๆ เถอะ เคยเห็นคนที่เขาตายไปแล้วน่ะ เขาแบกอะไรไปได้บ้าง โลกธรรม 8 ประการนี้ ควรจะบรรเทา ถ้าตั้งใจตัดเสียเลย ไม่ใช่อะไรหรอก ไม่ใช่บรรเทาอย่างเดียว ตั้งใจตัดแต่แรงมันไม่มาก ตัดไม่หมด มันขาดไปบ้างมันก็เหลืออยู่บ้าง เหลือเบาๆ ตัดลงไปน้อยเบาน้อย ตัดมากเบามาก

ทีนี้มันเบากันตรงไหน ก็เบากันตรงที่เราตัดได้ โลภะ ความโลภ ตะเกียกตะกายกันเกือบตาย ตายแล้วแบกเอาอะไรไปไม่ได้ ความมีลาภเกิดขึ้น ลาภมากเท่าไหร่เราก็แก่ลงไปทุกวัน มีลาภมากเท่าไหร่ มีทรัพย์มากเท่าไหร่ เราก็เจ็บป่วยกับเขาเป็น เรามีความร่ำรวยเท่าไหร่เราก็ตายเป็น เรามีความร่ำรวยเท่าไหร่เราก็พลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็น มันดีตรงไหน ความรวยมันต้องมีสำหรับฆราวาส เราไม่ถือ คือว่าใจจงอย่าติดมัน คิดแต่เพียงว่าเราหามาได้ สักวันหนึ่งมันก็ต้องหมดไป ถ้ามันหมดไปแล้วถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา จะหมดเพราะการจับจ่ายใช้สอยเองก็ดี หมดเพราะว่าโจรปล้น หมดเพราะไฟไหม้ หมดเพราะลมพัดสลายตัว หมดเพราะน้ำท่วม ถ้ามันหมดเพราะเหตุเกินวิสัยที่เราจะป้องกันได้ เราก็ตามใจมัน ถือว่าหมดไปแล้วก็แล้วไป ไม่ใช่มีสมบัติแล้วก็โยนทิ้งอย่างนั้นใช้ไม่ได้ มันโง่จัด มีไว้ยังใช้อยู่ แต่ว่ามีความรู้ว่าเรากับมันจะต้องจากกัน มันจากไปก่อนเราเราก็ไม่หนักใจ เราจากไปก่อนมันเราก็ไม่หนักใจ ถือว่าสมบัติของโลก เราแบกไปไม่ได้ แม้แต่ร่างกายของเราก็ยังแบกไปไม่ได้ ใจมันก็สบาย ให้จิตมันชินอย่างนี้

มาถึงด้าน ความโกรธ ความโกรธผมก็พูดเยิ่นเย้อมาในเรื่องเมตตา แล้วก็เรื่องกสิณ 4 ความจริงเราก็คิดกันแบบง่ายๆ ว่าคนที่เก่งน่ะตายหรือไม่ตาย นักรบที่เก่งกล้าอย่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ดี พระเจ้าตากสิน ก็ดี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ดี สมเด็จพระราชวังบวร ก็ดี ที่เรายังพอจะจำชื่อท่านได้ เวลานี้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีชีวิตอยู่หรือเปล่า แม้แต่กระดูกเราก็เกือบจะหาไม่ได้ นี่คนเก่งที่ฆ่าเขาตายได้ทั้งหมด แต่ตัวเองก็ตายเหมือนกัน ไม่สามารถจะทรงความเก่งไว้ได้ แต่ว่าท่านทั้งหลายที่กล่าวมานั้น ท่านเก่งในฐานะที่ว่า ท่านสร้างความสุขให้แก่ปวงชนที่อยู่ภายในอำนาจที่ท่านปกครอง เป็นความดีของท่าน แต่ว่าผมไม่ได้ตำหนิท่าน แต่ทว่าให้จำไว้ว่า จะเก่งสักเท่าไรก็ตาม เราก็ตาย ฉะนั้นจึงชื่อว่าคนเก่งตาย ที่เขาเก่งดีรักษาทรัพย์รักษาสิน ไม่น่าตำหนิ

สมัยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ในบ้านในเมืองของ พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อศึกมาประชิดติดพระนคร พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไปรบข้าศึก เมื่อรบชนะกลับมาแล้วก็เข้ามาฟังเทศน์กับพระพุทธเจ้า อันนั้นเรียกเขาเก่งดีตามวิธีการของโลก ก็ต้องเก่งตามนั้น ไม่ใช่มางอมืองอเท้า นั่งๆ อยู่ให้เขามากระทืบเล่นน่ะผมไม่เห็นด้วย ถ้าผมเองน่ะเห็นจะไม่ไหว ถ้ามีแรงจะกระทืบผมเฉยไม่ได้หรอก เพราะว่าผมปฏิญาณตนไว้แล้วนี่ ว่าผมไม่ได้เกิดมาให้คนกระทืบเล่น แต่ถ้ามันแก่แบบนี้คงสู้ใครไม่ได้

เป็นอันว่านี่เราพูดถึงใจธรรมดา แต่หากว่าเราจะมานั่งคิดโกรธคิดเกลียดชาวบ้าน ว่าเราจะเป็นศัตรูกับคนนั้น เราเป็นศัตรูกับคนนี้ มันจะมีประโยชน์อะไร ใจเราคิดไว้กลางๆ เสมอว่า เราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร เราคิดประทุษร้ายเขาหรือไม่ ประทุษร้าย เขาก็ตาย ไอ้คนที่มันทำให้เราโกรธนี่มันเป็นเรื่องของคนโง่ คนโง่เท่านั้นที่สร้างความไม่เป็นมิตรกับคนอื่น เพราะว่าถ้าเรามีศัตรู เราโกรธเขา เราก็มีแต่ความเร่าร้อน เราไม่โกรธเสียเลยดีกว่า

คนที่ไม่โกรธเลยนี่ ถ้าใครคิดประทุษร้าย คนนั้นย่อมถึงความพินาศทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเนื่องในความอกตัญญูไม่รู้คุณคนล่ะก็ เร็วเหลือเกิน จะเห็นอย่าง พระเทวทัต เหาะเหิรเดินอากาศได้ มีฤทธิ์ มีเดช มีอภิญญา อาศัยความโลภในความเป็นใหญ่ ความโกรธในพระพุทธเจ้าที่ไม่มอบหมายความเป็นใหญ่ให้ สองตัวนี้ฆ่าคนชั่ว ในที่สุดพระเทวทัตก็หมดฤทธิ์ หมดเดช หมดอำนาจ หมดความเคารพนับถือในบุคคลทั้งหลาย และผลสุดท้ายพระเทวทัตก็ลงอเวจีไป

เป็นอันว่า ความโกรธมันเผาผลาญใจไม่ให้มีความสุข เราจะไปโกรธมันทำไม ใครเขาอยากจะโกรธก็เชิญให้เขาโกรธตามสบาย เขาโกรธเรามากเท่าไรเขาตายเร็วเท่านั้น เพราะว่าถ้าโกรธมากก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ มันก็ตายไปเอง คนโกรธไม่มีปัญญา อย่าลืมนะครับว่าคนมีความโกรธน่ะ ไร้ปัญญา ไร้ความคิด ไร้ความฉลาด เพราะอำนาจความโกรธมันเผาผลาญ สมัยที่ผมเป็นนักเทศน์ ก่อนที่จะเป็นนักเทศน์ ยังเป็นนักเรียนอยู่ ครูสอนนักสอนหนาว่าเวลาเทศน์น่ะอย่าไปโกรธเขานะ เขาจะว่าหนักว่าหนาอย่างไรก็ตาม อย่าโกรธ ถ้าโกรธแล้วปัญญาที่จะตอบมันไม่มี นี่เป็นความจริง ฉะนั้นในเมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ความโกรธเป็นของไม่ดี เราจะโกรธทำไม ยิ้มรับกับความชั่วที่คนอื่นเขาหยิบยื่นให้ เราดี เขาว่าไม่ดี เราก็ยิ้ม เราชั่ว เขาชมว่าเราดี เราก็ยิ้ม

ยิ้มทำไม คือยิ้มเยาะ ว่าปัดโธ่เอ๋ย...เจ้านี่มีอาการ 32 มีจิตใจเหมือนคนธรรมดา แต่โง่บัดซบแบบนี้จะคบอะไรมันได้ ทั้งคนที่ตำหนิเราก็ดี คนที่ชมเราก็ดี เราไม่ต้องการคบหาสมาคม เว้นแต่เพียงว่า ถ้าเจอะหน้ากันก็พูด ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นปกติ แต่ในใจของเราจงตัดขาดจากคนนั้น คือไม่ยอมรับนับถือบุคคลนั้นเด็ดขาด ถ้ามันดีแล้วมันจะติเราทำไม มันดีแล้วมันจะชมเราทำไม ถ้าเขาชมตามความเป็นจริงอันนี้ก็ยอมรับ แต่ก็อย่าเหลิง เขาว่าดีแล้วจงอย่าเหลิง ถ้าเหลิงเมื่อไรชั่วเมื่อนั้น

อันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัส ว่าสมัยเมื่อพระองค์เป็นเด็ก สมเด็จพระราชชนนีเคยชมว่า “เธอทำดี” พอชมแล้วท่านชี้หน้าว่า “อย่าเหลิงนะ วันนี้เธอทำดีฉันชมเธอว่าดี ต่อไปเธอหลงดี เหลิง เธอจะชั่ว” นี่พระองค์ตรัสว่า พระองค์จำไว้เสมอ ว่าคำว่าดีนี่พระองค์ไม่เคยคิด คิดไว้เสมอว่าตัวเองยังไม่ดีเสมอ ตรงกับที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า “อัตตนา โจทยัตตานัง” จงกล่าวโทษโจทก์ความผิดใจของเราไว้เสมอ อย่าไปชมตัวว่าดี ถ้าลงว่าบุคคลใดก็ตามถ้าทำได้อย่างนี้ โมหะก็ดี ราคะหรือว่าโลภะ หรือว่าโทสะหรือว่าโมหะ กิเลสทั้งหมดมันก็หนีเราไปหมด “อัตตนา โจทยัตตานัง” นี่กิเลสไม่เหลือ เวลาเหลือนิดเดียว เดี๋ยวจะลืม

จะขอพูดถึงอารมณ์ของพระสกิทาคามี ท่านอย่าหลงตัวเองนะ อารมณ์ของพระสกิทาคามี 1. ความรู้สึกในระหว่างเพศมีน้อยเต็มที คำว่า มีน้อย หมายความว่านานๆ จะมีความรู้สึกนึกรักใครมาสักนิดหนึ่ง หรือแม้ในวัตถุ แต่มีความรู้สึกมาแล้วมันก็สลายตัวไป ใจเบาสบาย ระวังขั้นพระสกิทาคามี อย่าเพิ่งนึกว่าตัวเป็นพระอรหันต์

สำหรับโลภะ ความโลภนี่สบายมาก ไอ้เรื่องที่ต้องมาโลภโมโทสัน หากินโอ๊...ในทางที่ไม่ถูกธรรม ไม่มีสำหรับพระสกิทาคามี ไม่ตะเกียกตะกาย ไม่ยื้อแย่งลาภสักการะของบุคคลใด ไม่หาอาชีพที่ไม่สมควรเข้ามาไว้กับตัว สบาย ไม่มีละ จิตอยากจะสะสมมันไม่มี สบายๆ โปร่ง ความจริงพระสกิทาคามี ถ้าพูดไปเฉยๆ คล้ายๆ พระอรหันต์นะ คล้ายๆ กันแต่ว่ายังมีเหลือติดอยู่นิดๆ

ที่นี้มาด้านความโกรธ พระสกิทาคามียังมีกระทบจิตโกรธ แต่โกรธแล้วมันหลุดเร็ว ให้อภัย เออ...ช่างมันเถอะ มันผิดแล้วก็แล้วกันไป เว้นไว้แต่ทำงานผิดระเบียบวินัย หรือผิดกฎข้อบังคับ ต้องลงโทษ คือพระพุทธเจ้าท่านยังลงโทษ

สำหรับความหลงทะเยอทะยาน ไม่มีในอารมณ์ใจของพระสกิทาคามี คำว่าไม่มีก็หมายความว่า ดีกว่าปุถุชน คือไม่หลงใหญ่ มีหลงเหมือนกันแต่หลงเล็ก ไอ้หลงเล็กเป็นยังไง หลงเคลิ้มๆ ก็ยังเห็นว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเราอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ลืมว่าร่างกายจะตาย

เอาละบรรดาท่านทั้งหลาย มองดูเวลาเห็นมันหมดเสียแล้วนี่ครับ ต่อนี้ไปขอทุกท่านพยายามรวบรวมกำลังใจ ทบทวนคำสอนตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงปัจจุบันที่ผมกำลังสอนอยู่ ถอยหน้าถอยหลัง ถอยหลังถอยหน้า ใคร่ครวญเป็นปกติ อย่าให้อารมณ์ใจของท่านขาดจากอารมณ์อย่างนี้ ความเป็นพระสกิทาคามีจะมีแก่ท่านอย่างไม่ยาก

ต่อนี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าท่านทั้งหลายเห็นว่าสมควรจะเลิก สวัสดี

ลิงค์ทั้งหมด https://ppantip.com/profile/8483559#topics

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่