หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 5.2

(ต่อจาก หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 5.1 https://ppantip.com/topic/43100755 )

อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 5.2

แล้วก็สำหรับร่างกายของคน นอกจากมันจะโทรมแล้วมันก็สร้างความยุ่ง ต้องกิน ต้องรักษาโรค ต้องถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ยุ่งไปหมด คิดเอาเอง อย่าไปให้นั่งพรรณนาอยู่เลยมันเสียเวลา มองดูให้ดีว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี มันสกปรกหรือสะอาด มันมีสุขหรือว่ามันมีทุกข์ ความหิวเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การปวดอุจจาระเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หนาวเกินไปร้อนเกินไปเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การต้องแสวงหาอาชีพทำมาหากินเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การกระทบกระทั่งกับวาจาอันเป็นที่ไม่ถูกใจ อาการที่เขาทำขึ้นมาเป็นที่ไม่ถูกใจเรา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่บ้าเสียอย่างเดียว เราต้องตอบว่ามันทุกข์ทุกอย่าง และในเมื่อมันทุกข์ทุกอย่าง เราจะเมามันเพื่อประโยชน์อะไร น่ารักตรงไหนล่ะ มองดูแล้วร่างกายมันเป็นศัตรูตัวสำคัญ ถ้าไปเกาะติดมันเข้า เราก็จะมีอาการแต่ความทุกข์

นี่อารมณ์ นิพพิทาญาณ เขามองกันอย่างนี้ ไม่ต้องไปนั่งหลับตาปี๋หรอก เดินไปเดินมา ทำงานทำการก็มองดูหาความจริง ว่าโอหนอ...นั่นเป็นปัจจัยของความทุกข์ ถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ แล้วเราไปติดพันร่างกายของบุคคลอื่นเขาเข้า นั่นเราไปดึงเอาสุขมา หรือว่าเราดึงเอาทุกข์มา เราทุกข์เขาก็ทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์แต่เพียงแบกภาระเลี้ยงกันเท่านั้น ยังทุกข์ในขณะที่อารมณ์ไม่ตรงกันอีกด้วย

ในเมื่อรู้ว่าสภาพของร่างกาย หรือวัตถุธาตุทั้งหมดในโลกมันเป็นของไม่ดี เราก็สร้างอารมณ์ความเบื่อ เบื่อที่ไม่ต้องการจะมีร่างกายอย่างนี้อีก วิธีปฏิบัติในสมัยก่อน ผมเจริญนิพพิทาญาณ นี่ต้องขออภัยนะ อย่าคิดว่าผมอวด เอาเพียงแต่ว่าผมทำมาก่อน ผมทำแบบนี้ เห็นคนทุกคนเมื่อคุยกัน ผมถามว่าเขาสุขหรือเขาทุกข์ ถามว่าเคยป่วยไข้ไม่สบายมั้ย เขาบอกแย่เจ้าค่ะ แย่ขอรับ ป่วยโน่นป่วยนี่ เรานึกอืมม... เป็นทุกข์แล้ว

ถ้าเห็นคนแต่งตัวสวยๆ ยิ่งเป็นสาวเป็นหนุ่มก็ตาม ผมจะถามทันทีว่าอาการไข้อย่างนั้นอย่างนี้ มันมีกับคุณบ้างไหม เขาตอบว่ามี ถามว่าอารมณ์ต่างๆ ที่มันกระทบกระทั่งคุณให้เกิดความกลุ้มมีบ้างไหม ถามทั้งร้อยทั้งพันกี่หมื่นกี่แสนคน ตอบว่ามีทุกคน ในเมื่อเขารู้ว่าโรคต่างๆ ของเขามี อาการความเป็นทุกข์ของเขามี อารมณ์ที่ไม่มีการทรงตัว คือไม่ประกอบไปด้วยธรรม ไม่มีความสุขก็มี เราปรารถนาเขาเพื่ออะไร เป็นอันว่าเราก็วางเฉยไปเสีย ตอนวางเฉยเป็นไง คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ร่างกายของเขาก็ดี ร่างกายของเราก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายอื่นก็ดี มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ความสุขมันอยู่ที่ไหน ความสุขมันอยู่ที่เราจะเข้าพระนิพพาน

นี่ผมขอพูดย่อๆ อารมณ์ที่ทำนี่ไม่ใช่ต้องหลับตา ท่านเดินไปเดินมา นั่งทำอะไรอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ แล้วก็เดินอยู่ ทำอะไรก็ตาม มองดูสภาพของความจริง เห็นต้นหญ้าที่มันร่วงโรยลงไปก็คิดว่า โอหนอ... ชีวิตของคนเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ก็คิดมันวนไปวนมา ถอนกำลังใจให้มันติด คือว่าเมื่ออาการอย่างนั้นเกิดขึ้น เราเห็นอะไรขึ้น ถ้าอาการของความทุกข์เกิดขึ้น ความขัดข้องเกิดขึ้นเราก็เฉย ที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ มันอะไรจะมาก็ช่างมัน มันจะแก่ก็เชิญแก่ ใจสบายๆ ถือว่าหนีความแก่ไม่ได้ ถ้าความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น ทุกขเวทนามันมี เราก็ต้องรักษาใจเราก็เฉย รักษาหายก็หาย ไม่หายก็ช่างมัน อยากจะตายเมื่อไหร่ก็เชิญ เกิดมาเพื่อตาย ใครเขาด่าใครเขานินทาเราก็เฉย เขามีปากสำหรับด่า เขามีปากสำหรับนินทา มันเรื่องของเขา ใครเขาจะชม ใครเขาจะสรรเสริญ เราก็เฉย ไอ้การชมการสรรเสริญก็ดี การด่าการนินทาก็ดี เราไม่ได้เป็นไปตามปากของเขา เราจะดีหรือเราจะชั่วอยู่ที่กำลังใจของเราเท่านั้น รวบรวมกำลังใจไว้อย่างนี้นะขอรับ เราก็เฉยต่ออาการทั้งหมด หนุ่มก็เฉย ไม่ดีใจในความเป็นหนุ่ม แก่ก็เฉย ไม่เสียใจในความเป็นคนแก่ มันจะตายก็เฉย เพราะว่าเราจะต้องตาย ตายแล้วไปไหน เราภูมิใจได้ว่าตายแล้วเราไปนิพพาน

ทีนี้การเจริญวิปัสสนาญาณน่ะ ถ้าคิดกันส่งเดชแบบนี้ ไอ้คิดกันแบบนี้น่ะคิดดี แต่คิดไม่มีจุดหมายปลายทางนี่มันแย่ เหมือนกับเครื่องบินที่ร่อนอยู่ในอากาศ แต่หาจุดลงไม่ได้ ถ้ามันลงไม่ได้มันเสร็จ บินไปบินมาน้ำมันหมดร่วงลงมาตายทั้งคนทั้งเครื่อง ข้อนี้มีอุปมาฉันใด นักเจริญพระกรรมฐานก็เหมือนกัน นักเจริญพระกรรมฐานที่เอาดีไม่ได้เพราะไม่มีจุดลง

จุดลงในอันดับแรกก่อนที่เราจะเริ่มจับวิปัสสนาญาณ อย่าลืมนะ ขั้นสุกขวิปัสสโกนี่ จะนั่งสมาธิหลับตาปี๋หรือไม่นั่งไม่สำคัญ คุมอารมณ์พิจารณาอย่างนี้ไปแบบสบายๆ จุดที่เราจะจับเป็นหัวหาดอันดับแรกก็คือ พระโสดาบัน นี่การเจริญสมาธิวิปัสสนาน่ะเขาทำกันแบบนี้ มันถึงจะถึงเร็ว อย่าทำเปะปะๆ ส่งเดชไป มันไม่ได้อะไรหรอก ดีไม่ดีเดินไปไม่รู้ว่าถนนมันอยู่ที่ไหน หล่นโครมครามลงมาแข้งขาหักหมด เขาต้องจับจุด ถ้าเจริญสมถะต้องจับอารมณ์ฌาน เจริญวิปัสสนาญาณ ต้องจับอารมณ์พระโสดาบันไว้ก่อน เราก็นั่งดูพระโสดาบันมีอะไร พระโสดาบันมี

1. สักกายทิฏฐิ การพิจารณารู้สภาพว่าร่างกายของเรามันต้องตายแน่ มันไม่อยู่ตลอดกาลตลอดสมัย มันพัง
2. วิจิกิจฉา มั่นใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สงสัย แต่ทว่าการที่ไม่สงสัยนี่ต้องใช้ปัญญา
3. สีลัพพตปรามาส เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ สำหรับฆราวาสต้องมีศีล 5 บริสุทธิ์ เณรมีศีล 10 บริสุทธิ์ พระมีศีล 227 บริสุทธิ์ ก็เท่านี้ ไม่เห็นจะมีอะไร เป็นอันว่าเราใช้กำลังใจอยู่ในขอบเขตสั้นๆ ว่า

หนึ่ง เราคิดถึงความตายเป็นอารมณ์ อารมณ์ของจิตเรานี่ เราเกาะติดอะไรหนอ เราเกาะติดกาย กายมันไม่ทรงตัว ติดทำไม เราก็เกาะติดสักกายทิฐิ เอาจิตพิจารณาดูว่าเราก็ดี คนอื่นก็ดี ในโลกนี้ สัตว์ทั้งหมดตายหมด วัตถุธาตุบ้านเรือนโรงมันก็พังไปในที่สุด เราจะเมามันในชีวิตเพื่อประโยชน์อะไร

ประการที่ 2 องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ทรงแนะนำเราให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ การที่มีศีลบริสุทธิ์นี่เป็นการกำจัดความเดือดร้อนของจิตและของกาย จะไปที่ไหนก็ย่อมเป็นที่รักของบุคคลผู้ประสพพบเห็น ศีล ท่านกล่าวว่า หนึ่ง กิตติสัทโท คนที่มีศีลบริสุทธิ์นี่มีชื่อเสียงฟุ้งขจรไป ชื่อดี เสียงงาม แม้แต่คนเขาไม่เคยเห็นตัว เขาได้ยินแต่ชื่อเขายังรักเขายังชอบ กลิ่นของศีลลอยทวนลมได้ ไม่เหมือนกลิ่นของน้ำหอม คนที่มีศีลบริสุทธิ์น่ะหอมทั้งใต้ลม และก็หอมทั้งเหนือลม ที่ว่าหอมก็เพราะหอมในความดีไม่ใช่หอมตัว ตัวน่ะไม่หอมแน่ ทีนี้ในเมื่อเราเห็นว่าศีลดี ก็ทรงศีลให้บริสุทธิ์ ระมัดระวังอยู่ในศีล ถ้าหากเราคิดไว้เสมอว่าไม่ลืมชีวิตว่าเราจะตาย เราจะตายก็ตายสิ ฉันขอเกาะติดศีล อย่างกับพวกอะไรหนอ... ที่เขาสอนกัน หนึ่ง เกาะติดประชาชน สอง เกาะติดพื้นที่ สาม เกาะติดแนวรบ ถ้าเกาะติดสามติด เราก็จะชนะ เราก็เหมือนกัน

ประการที่ 1 เกาะติดสักกายทิฏฐิ ไม่ลืมว่าร่างกายนี้มันจะตาย มีความรู้สึกว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุก็ดี พังแน่ เราไม่ขอถือเอาร่างกายของเรา ร่างกายของเขา วัตถุธาตุทั้งหมดเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เราจะขอเอาพระนิพพานเป็นที่พึ่ง

ประการที่ 2 เกาะติดคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว เห็นองค์สมเด็จพระประทีปแก้วสอนถูกสอนตรง เรามีความประสงค์จะทรงอารมณ์ไว้ในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประการที่ 3 เราเกาะติดศีล รักษาอารมณ์ศีลให้บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ใจเราไม่ว่างจากศีล

ประการที่ 4 จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าจิตของเรามีความรักพระนิพพานเป็นอารมณ์จริงๆ แล้วว่า ยังไงๆ ใจเราก็ตั้งไว้ที่พระนิพพาน ไม่ลืมความตาย ไม่เมาในชีวิต ไม่มีจิตสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีศีลบริสุทธิ์ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างนี้ ท่านเรียกว่า โคตรภูญาณ เป็นจุดที่อยู่ช่วงระหว่างพระโสดาบันกับโลกียฌาน แต่ว่าใจของเราก้าวไปนิดหนึ่งว่า เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นมานี่ เป็นเรื่องของธรรมดา ความหวั่นไหวในคำนินทาน้อยไป ความดีใจในคำสรรเสริญน้อยไป ความสุขใจเกิดขึ้น คิดว่าเรามีพระนิพพานเป็นที่ไปแน่ อย่างนี้ท่านเรียกกันว่า พระโสดาบัน ไม่ยากเลย

ถ้าจะพูดกันให้สั้นก็เรียกว่า จิตของเรามีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระอริยสงฆ์ ทรงศีลบริสุทธิ์ แล้วก็มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เป็นปรกติ อย่างนี้เรียกกันว่า พระโสดาบัน ไม่ต้องไปนั่งหลับตาเข้าฌานให้มันลำบาก เท่านี้สบายใจแล้วหรือยัง ถ้าทุกท่านทำได้อย่างนี้ ท่านเรียกกันว่า เป็นพระอริยเจ้าพระโสดาบันขั้นสุกขวิปัสสโก

เอาละสำหรับวันนี้ก็หมดเวลาเสียแล้ว ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาทำนทั้งหลาย ตั้งกายให้ตรงตำรงจิตให้มั่น หรือว่าท่านจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม จะนั่งก็ได้ จะเดินแบบจงกรมก็ได้ จะนอนก็ได้ จะยืนก็ได้ ไช้อารมณ์ภาวนาคือจับลมหายใจเข้าออก ทำจิตให้เป็นสุขแล้วก็พิจารณาถึงขันธ์ 5 ตามที่กล่าวมาแล้วว่า ร่างกายมันตายแน่ มันแก่แน่ มันป่วยแน่ มันพลัดพรากจากของรักของชอบใจแน่ จะตายเมื่อไรก็ช่างมัน จะป่วยเมื่อไรก็ช่างมัน ร่างกายของเราเลว ร่างกายชาวบ้านก็เลว ต้องการไปทำไม จิตใจรักคำสอนขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา จิตทรงศีลมั่นให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้ไม่ต้องไปหลับตาเป๋ง ทำสมาธิเป็นชั่วโมง ๆ ลืมตาอย่างนั้นแหละทำงานอยู่ พูดอยู่ คุยอยู่ ทำได้ตามอัธยาศัย ถ้าหากว่าจิตใจของท่านทรงตรงอย่างนี้ ไม่ช้าไม่นานเท่าใด ท่านก็เป็นพระโสดาบัน อันนี้จริง ๆ ผมให้เวลาแค่ 3 เดือน ความจริงคนที่คิดจะทรงอารมณ์ แค่เป็นพระโสดาบันแค่ 3 เดือน ผมว่ามันช่วยเต็มที ทางที่ดีมันควรจะได้ภายใน 2-3 อาทิตย์เท่านั้น

เอาละบรรคาท่านพุทธบริษัททุกท่านและภิกษุสามเณร ต่อนี้ไป ขอท่านโปรดปฏิบัติตามอัธยาศัยของท่าน จนกว่าจะเห็นว่าเวลานั้นสมควร

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่